เดือนที่สี่ “การดิ้นของลูกในครรภ์”

การดิ้นของทารกในครรภ์ หมายถึง การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งของทารกในท้องทุกลักษณะ ได้แก่ การยืดแขน ขา ลำตัว หรือการถีบกระทุ้ง เป็นต้น ซึ่งในการดิ้นของทารกในครรภ์ ผู้เป็นแม่จะรู้สึกได้ว่า มีส่วนของทารกมากระแทกที่หน้าท้องทุกครั้ง การดิ้นของทารกในครรภ์ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ทารกในครรภ์มีสุขภาพเป็นอย่างไร การดิ้นที่ผิดปกติแสดงว่า เกิดปัญหากับทารกในครรภ์ตลอดจนเป็นสัญญาณเตือนภัยให้แพทย์ที่ดูแลสามารถประเมิน และให้การช่วยเหลือได้ทัน ดังนั้น ควรทราบวิธีสังเกต และบันทึกการดิ้นของทารกในแต่ละวัน ดังนี้

  • ครรภ์แรก คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่า ลูกดิ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 เดือน หรือ 20 สัปดาห์
  • ครรภ์หลัง คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่า ลูกดิ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน หรือ 16 สัปดาห์
  • การนับลูกดิ้นในครรภ์ให้เริ่มบันทึกเมื่ออายุครรภ์ 7 เดือน (28 สัปดาห์)

ลักษณะการดิ้นของทารกในครรภ์และความรู้สึกที่นับเป็นการดิ้น 1 ครั้ง

  • การดิ้นหมุนทั้งตัว หรือพลิกตัว ทารกเคลื่อนไหวทั้งตัวมีแรง หรือเบา คุณแม่จะรู้สึกได้ทั้งท้อง 3 – 30 วินาที
  • การเตะหรือถีบ เคลื่อนไหวเฉพาะบางส่วนของร่างกายทารก เช่น แขนหรือขา รู้สึกเป็นบางส่วนของหน้าท้อง การเคลื่อนไหวเร็วใช้เวลาน้อยกว่า 1 วินาที
  • สะดุ้ง หรือกระตุกของทารก การเคลื่อนไหวของทารกจะเริ่มจากแขน ขา และขยับไม่ทั้งตัว มักจะเกิดขึ้นครั้งเดียว และจะเว้นช่วงพักใช้เวลาเท่ากับ 1 วินาที
  • สะอึก รู้สึกเหมือนทารกกระตุก หรือกำลังเต้นเป็นจังหวะในท้อง แต่ไม่มีแรงกระแทกจากลำตัว “เด็กสะอึกไม่นับเป็นการดิ้น” จะใช้เวลาน้อยกว่า 1 วินาที

คุณแม่ควรนับลูกดิ้นทุกวันในหนึ่งวัน ทารกควรจะดิ้นอย่างน้อย 12 ครั้ง และอย่างน้อย 4 ครั้ง ภายในเวลา 1 ชั่วโมง หลังคุณแม่รับประทานอาหารมื้อเช้า กลางวัน เย็น

ท่าทางและการทรงตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์

เนื่องจาก รูปร่างที่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะตั้งครรภ์ ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนทำงานมากขึ้น หากการทรงตัวไม่ดีจะทำให้ปวดเมื่อยมากขึ้น

ท่าทางการทรงตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง

  • ศีรษะ ลำคอ คาง : อยู่ในแนวตรง ทำให้ลำตัวตั้งตรง
  • ไหล่และหน้าอก : ยืดตรง ดึงไหล่ให้ผายออก กระดูกซี่โครงไม่กดปอด
  • แขน : แนบขนานกับลำตัว ไม่บิดเข้า
  • หน้าท้องและสะโพก : ไม่ยืนแอ่นไปข้างหน้ามาก ดึงเก็บสะโพกให้อยู่ในแนวตรงกระชับกล้ามเนื้อหน้าท้องไม่ให้ยื่นมาก
  • เข่า : งอเข่าเล็กน้อยเพื่อช่วยรับน้ำหนักที่เท้า
  • เท้า : ควรยืนให้มั่น และแยกเท้าห่างกันเล็กน้อย เพื่อช่วยในการกระจายน้ำหนักไปที่จุดกึ่งกลางเท้า คุณแม่ควรสังเกตตัวเองด้วยว่า การทรงตัวถูกต้องหรือไม่ หากยังไม่ถูกต้องขอให้คุณแม่แก้ไข

ท่านั่งของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง

  • การใช้หมอนรองใต้ศีรษะ เอว และเท้า จะช่วยให้นั่งได้สบาย
  • การนั่ง และยกขาสูง แล้วหมุนข้อเท้า เข้า – ออก จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดได้สะดวกขึ้น และยังลดอาการเท้าบวม
  • ควรนั่งคุกเข่าแทนการก้ม หรือโน้มตัวลงมา
  • ขณะนอนควรนอนตะแคง และมีหมอนรองระห่างมืดและขา หมอนนิ่ม ๆ จะช่วยให้นอนหลับได้สบายขึ้น

การลุกจากท่านอนของคุณแม่ตั้งครรภ์

ท่าที่ถูกต้อง คือ นอนตะแคงข้าง แล้วใช้มือและแขนทั้ง 2 ข้าง ช่วยดันตัวให้ลุกขึ้น การลุกอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันอาการปวดหลังและปวดบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้อง

ลีลาท่วงท่า สบาย สบาย … ย ของคุณแม่ตั้งครรภ์

มีท่าทางสบาย ๆ ขณะทำงานบ้านหรือยามพักผ่อนมาฝากคุณแม่ที่กำลังอุ้ยอ้ายจะลุกจะนั่งหรือแม้กระทั่ง จะนอนก็ลำบาก ลองนำไปปฏิบัติดูน่าจะช่วยให้สบายเนื้อสบายตัวขึ้น หลังจากที่คุณแม่ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน หาเวลาพักผ่อนบ้างโดยนอนนอนหลังยกขาทั้งสองข้างให้สูงกว่าระดับหัวใจ จะช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดจากขาเข้าสู่หัวใจได้ดี ลดอาการปวดน่อง และเส้นเลือดขอด (ไม่ควรยกขาให้สูงเกินไป เช่น ตั้งฉากกับลำตัว เพราะเป็นการปิดกั้นของลิ้นในเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลำบากขึ้น)

  • ท่านอนหงายที่สบายตัวที่สุด นอนหนุนหมอนตามปกติ ควรมีหมอนรองใต้เข่าเพื่อให้ราบกับพื้น
  • ท่านอนตะแคง ควรมีหมอนหนุนระหว่างขาและแขนทั้งสองข้าง
  • การนอนกึ่งตะแคงกึ่งคว่ำ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้ดีมาก
  • ครึ่งนั่งครึ่งนอน ควรมีหมอนรองศีรษะและหลังให้พอดี และควรนั่งหลังตรง (อย่าให้มีช่องว่างระหว่างหมอนกับหลัง)

นั่งนานเกินไปก็ไม่ดี แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรหาเก้าอี้เตี้ย ๆ รองเท้าทั้งสองข้างจะดียิ่งขึ้น หากมีหมอนหนุนที่คอและหลังด้วย

ช่วงนั่งพักผ่อนดูทีวี ฟังเพลงควรนั่งพิงพนักเหยียดขา และมีหมอนรองให้สูง แล้วอย่าลืมหมุนข้อเท้าไปมา เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย

ถ้าต้องออกไปช้อปปิ้ง และต้องใช้รถเข็นของ ควรเข็นให้ตัวรถใกล้ตัวคุณแม่มากที่สุด เพราะหากอยู่ไกลการยืดแขนออกไปสุดจะทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนักขึ้น

เวลายืนนาน ๆ ควรยกขาขึ้นมาและเคลื่อนไหวข้อเท้าและนิ้วเท้าสักครู่ สลับกันทั้งสองข้าง

นอกจาก จะรู้จักจัดวางท่วงท่าแล้วก็อย่าลืมออกกำลังกาย (ที่ไม่หักโหม) บ้าง เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างความรู้สึกสดชื่นได้

คุณแม่ตั้งครรภ์ออกกำลังกายได้นะ

คุณแม่ตั้งท้องเริ่มออกกำลังกายกันเถอะ

การออกกำลังกาย คือ วิธีช่วยลดอาการปวดหลัง ลดการเป็นตะคริวได้ เพราะการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น

  • ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมสำหรับรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
  • ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานแข็งแรง คลอดง่าย
  • ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญอาหารส่วนเกิน คุณแม่สามารถรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นโดยไม่ทำให้อ้วน
  • ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดี ขับถ่ายเป็นปกติ ท้องไม่ผูก
  • ช่วยให้นอนหลับสบาย และผ่อนคลายความตึงเครียดได้

ข้อแนะนำสำหรับการออกกำลังกายของคุณแม่ตั้งท้อง

  1. ทำจิตใจให้สบาย สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่รัดตึง เตรียมเสื่อสำหรับปูนอน และหมอน 2 – 3 ใบ สวมถุงเท้าและรองเท้าที่ใส่สบาย ก่อนบริหารร่างกายครึ่งชั่วโมง สามารถรับประทานผลไม้ หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต จำพวกแป้งได้
  2. การบริหารร่างกายครั้งแรกให้ทำน้อย ๆ ก่อน คือ ใช้เวลา 10 – 12 นาที 1 – 2 เท่า เพื่อให้ร่างกายปรับตัวแล้ว จึงค่อย ๆ เพิ่มเป็น 5 นาที อีกวันละ 1 ท่า เรื่อยไปจนครบ 30 – 40 นาที เมื่อรู้สึกเหนื่อยมากให้หยุดทันที
  3. ไม่ควรอาบน้ำทันที หลังการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ควรนั่งรอให้เหงื่อแห้งก่อน บริหารร่างกายให้สม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 4 วัน ถ้าหยุดไปต้องเริ่มต้นบริหารใหม่

หญิงตั้งครรภ์กับภาวะฟันผุ คุณแม่แปรงฟัน

คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องฟันผุ เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมทั้งกินจุกจิกมากขึ้น ประกอบกับช่วงสามเดือนแรกอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนทุกครั้งที่แปรงฟัน จึงเลี่ยงหรือทำความสะอาดไม่ดีพอ ฟันจึงผุง่ายขึ้น ควรหมั่นสังเกตและทำความสะอาด หรือไปพบทันตแพทย์เพื่อป้องกันฟันผุ

ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง สุขใจ ได้เป็นแม่ พ่อแม่ทุกคนต้องอ่าน เพื่อร่วมมือกันเป็นหุ้นส่วนชีวิต จาก https://spkhp.files.wordpress.com/2016/03/e0b884e0b8b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b894e0b8b9e0b981e0b8a5e0b895e0b899e0b980e0b8ade0b887e0b8abe0b88de0b8b4e0b887e0b895e0b8b1e0b989.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *