รูปแบบการรับประทานอาหาร (dietary pattern) ที่ดีกับการเตรียมตั้งครรภ์

การมีบุตรโดยปกติแล้วเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ คู่สมรสประมาณร้อยละ 75 – 85 ที่อยู่ด้วยกัน โดยไม่มีการคุมกำเนิด จะสามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปี โดยเฉพาะในกรณีที่ภรรยาอายุน้อยกว่า 35 ปี การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต เพื่อให้ร่างกาย และระบบสืบพันธุ์มีความสมบูรณ์ ด้วยการพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (30 – 60 นาทีต่อวัน)

การบริหารใจเพื่อรับมือกับความเครียด รวถึงการปรับเปลี่ยนด้านโภชนาการเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้โอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้น หรือกรณีที่รับการรักษาเพื่อช่วยให้มีบุตร ก็จะช่วยให้โอกาสสำเร็จจากการรักษาสูงขึ้น จึงมีคำแนะนำสำหรับการเตรียมพร้อมด้านโภชนาการสำหรับสตรีที่พร้อมจะมีบุตร หรืออยู่ในระหว่างการรักษาเพื่อช่วยให้มีบุตร ดังนี้

รูปแบบการรับประทานอาหาร (dietary pattern) ที่ดีกับการเตรียมตั้งครรภ์มีหลักการที่สำคัญ คือ

  1. เพื่อให้ได้พลังงานที่พอเหมาะพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย (total daily energy expenditure) โดยจะทำให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  2. ได้รับสารอาหารจากทุกกลุ่มอาหาร 5 หมู่อย่างเพียงพอในการที่จะทำให้มีสุขภาพที่ดี และสามารถป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือด และเมตาบอลิซึม
  3. ในขณะเดียวกันก็จะต้องจำกัด หรือลดพลังงาน ซึ่งได้จากน้ำตาล หรืออาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง ลดพลังงานที่ได้จากไขมันอิ่มตัว ซึ่งมักเป็นไขมันที่ได้มาจากเนื้อสัตว์ และลดความเค็ม โดยจำกัดปริมาณของเกลือที่ได้ในแต่ละวัน

ดังนั้น รูปแบบของการรับประทานอาหารที่เหมาะสม จึงควรจะประกอบไปด้วยผัก และผลไม้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะให้สารอาหาร ซึ่งเป็นใยอาหาร แร่ธาตุและวิตามินหลายชนิดที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ เช่น โฟเลต วิตามินซี เหล็ก สังกะสี อาหารที่ประกอบด้วย ธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวกล้อง ข้าวโพด ข้าวสาลี ลูกเดือย ซึ่งจะเป็นแหล่งสำคัญสำหรับใยอาหาร และแร่ธาตุรวมถึงวิตามินหลายตัว นมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของนม จะเป็นแหล่งอาหารที่ให้โปรตีน แคลเซียม โปแตสเซียม สังกะสี รวมถึงไวตามินดี ส่วนอาหารที่เป็นโปรตีนซึ่งก็เป็นโปรตีนจากสัตว์ เช่น อาหารทะเล ไก่ เนื้อที่มีไขมันน้อย รวมถึงโปรตีนที่ได้มาจากพืช เช่น จากถั่วเหลือง ส่วนไขมันถึงแม้ว่า จะมีผลทำให้พลังงานสูงมาก แต่ไขมันยังเป็นแหล่งอาหารที่จำเป็นโดยเฉพาะเป็นการให้กรดไขมันซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตได้ รวมถึงวิตามินซี ไขมันที่จะมีประโยชน์ก็คือ ไขมันที่ไม่อิ่มตัวทั้งที่เป็นเชิงเดี่ยว หรือเป็นหลายส่วน ซึ่งมีกลุ่มของโอเมก้า 3 และ โอเมก้า 5 ที่ได้มาจากทั้งพืชและสัตว์ ไขมันกลุ่มนี้มีความจำเป็น แต่ไม่ควรจะใช้ หรือบริโภคแต่ละวันในปริมาณที่มาก เพราะว่าจะทำให้พลังงานสูงขึ้น

สารอาหารสำหรับการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์

  • Folic acid พบว่า สตรีที่มีระดับ folic acid สูงหรือรับประทานวิตามิน หรืออาหารเสริมที่ประกอบด้วย folic acid จะช่วยให้มีการตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น โดยสัมพันธ์กับการตกไข่ที่สม่ำเสมอ ส่วนสตรีที่เข้าการรับการรักษาโดยการทำเด็กหลอดแก้ว พบว่า มีโอกาสสำเร็จสูงกว่าสตรีที่ไม่ได้รับโฟลิก
  • อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต การรับประทานอาหารซึ่งมีแป้งมาก หรือมีความหวานสูงจะมีความสัมพันธ์กับการตกไข่ที่ไม่ปกติ และนำไปสู่การมีลูกยาก ในสตรีที่เป็นกลุ่ม pcos พบว่า การลดอาหารแป้ง และน้ำตาลจะทำให้การตกไข่ดีขึ้น
  • ธัญพืช สารอาหารกลุ่มธัญพืช นอกจากจะให้พลังงานที่ร่างกายต้องการแล้ว ยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำ และมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ จะช่วยให้โอกาสมีลูกง่ายขึ้น หรือถ้าได้รับการรักษาก็จะทำให้มีโอกาสสำเร็จจากการรักษาได้ดีขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *