เดือนที่ห้าของการตั้งครรภ์ “น้ำหนักตัวระหว่างการตั้งครรภ์”

น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหนึ่งกิโลกรัมต่อเดือน แต่เมื่อนับตั้งแต่เริ่มท้องไปจนกระทั่งครบกำหนดคลอด น้ำหนักจะเพิ่มเฉลี่ยประมาณ 2 กิโลกรัมต่อดือน ซึ่งโดยรวมแล้วน้ำหนักตัวของคุณแม่ก็ควรจะเพิ่มประมาณ 10 – 12 กิโลกรัม จึงนับว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ลูกน้อยเริ่มได้ยินเสียงแล้ว

เจ้าตัวน้อยในครรภ์ สามารถได้ยินเสียงตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 5 เดือน ซึ่งเสียงที่ได้ยินขณะอยู่ในครรภ์ เป็นเสียงธรรมชาติในร่างกาย เช่น เสียงหัวใจของแม่เต้น เสียงบีบของลำไส้ เสียงเคลื่อนไหวของกระแสเลือด เป็นต้น เสียงเหล่านี้มีผลต่อการพัฒนาระบบประสาทการได้ยินของทารก ได้มีการใช้เสียงดนตรีให้เจ้าตัวน้อยในครรภ์ฟัง ตั้งแต่ 5 – 6 เดือนขึ้นไป พบว่า ทารกมีพัฒนาการด้านการได้ยินที่เร็วกว่าปกติ มีสติปัญญาสูง ร่าเริงไม่ร้องกวน ดังนั้น ช่วงเวลานี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมกระตุ้นพัฒนาการโดยการพูดคุยกับลูกในครรภ์

อาการที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการปวดหลังของคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการปวดหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อยตั้งแต่แรกจนใกล้คลอด สาเหตุเกิดจากมดลูกที่มีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้หลังต้องแบน้ำหนักเพิ่มจนปวดหลัง

วิธีป้องกันอาการปวดหลังของคุณแม่ตั้งครรภ์ มีดังนี้

  • งดใส่รองเท้าส้นสูง ให้ใส่รองเท้าส้นเตี้ย ๆ
  • งดยกของหนัก
  • ห้ามก้มยกของ
  • อย่ายืนนาน ถ้าหากจำเป็น ควรยืนให้น้ำหนักอยู่บนขาข้างใดข้างหนึ่ง และพักสลับกันไป
  • นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง และหาหมอนใบเล็ก ๆ หนุนที่หลัง ที่นอนต้องไม่แข็งเกินไป
  • ควรนอนในท่าตะแคงซ้ายขาขวาก่ายหมอนข้าง
  • ออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อ

อาการปัสสาวะบ่อยของคุณแม่ตั้งครรภ์

ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์คุณแม่สงสัยว่า ทำไมถึงปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะไปปัสสาวะมา ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจาก มดลูกที่โตขึ้นไปกดกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อย อาการจะเริ่มดีขึ้น เมื่อมดลูกขยายเข้าในท้อง และจะเริ่มมีอาการอีกครั้งเมื่อเด็กใกล้คลอด

อาการปวดท้องน้อยของคุณแม่ตั้งครรภ์

เมื่อมดลูกใหญ่ขึ้นจะทำให้เอ็นที่ยึดมดลูกตึงตัว คุณแม่จะรู้สึกตึงหน้าท้อง บางครั้งข้างเดียว บางครั้งสองข้าง ลักษณะจะปวดตึง ๆ ซึ่งอาการนี้มักจะเริ่มขณะอายุครรภ์ 18 – 24 สัปดาห์

การป้องกันอาการปวดท้องน้อยของคุณแม่ตั้งครรภ์ มีดังนี้

  • อย่าเปลี่ยนท่าอย่างรวดเร็ว
  • เมื่อปวดท้องให้โน้มตัวมาข้างหน้า
  • ให้นอนพัก หรือเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้

อาการปวดศีรษะของคุณแม่ตั้งครรภ์

เป็นอาการที่พบบ่อย ความถี่ของการปวด และความรุนแรงจะไม่เท่ากันในแต่ละคน หากต้องรับประทานยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการปวดดังนี้

  • ปวดไม่หาย
  • ปวดบ่อย
  • ปวดรุนแรงมาก
  • ตาพร่ามัวหรือมองเป็นจุด
  • ปวดศีรษะร่วมกับคลื่นไส้

ริดสีดวงทวารในคุณแม่ตั้งครรภ์

ริดสีดวงทวารเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ตั้งครรภ์ เนื่องจาก หลอดเลือดที่โป่งพองมักจะพบในคนที่ท้องผูก หลังคลอดอาการท้องผูกจะดีขึ้น

การป้องกันริดสีทวงทวารในคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น
  • ดื่มน้ำมาก ๆ
  • นั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น
  • ใช้ครีมทาลดการอักเสบและโป่งพอง

อาการจุกเสียดแน่นท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์

คุณแม่จะมีอาการจุกเสียดท้อง เริ่มจากระเพาะไปสู่หลอดอาหาร สาเหตุจากมีกรดมาก อาหารย่อยช้าและมดลูกที่ไปดันกระเพาะอาหาร ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้แน่นท้อง

วิธีป้องกันอาการจุกเสียดแน่นท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ

  • รับประทานอาการบ่อย ๆ วันละ 5 – 6 ครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส และอาหารรสจัด
  • งดรับประทานอาหารก่อนออกกำลังกาย งดดื่มสุรา และสูบบุหรี่

นอนไม่หลับของคุณแม่ตั้งครรภ์

เมื่อมดลูกเริ่มโตขึ้น คุณแม่จะหาท่านอนที่หลับสบายได้ยากเต็มที่ แต่ก็มีวิธีที่พอช่วยได้ คือ

  • อาบน้ำอุ่นก่อนนอน
  • ดื่มนมอุ่น ๆ สักแก้วจะช่วยให้หลับดีขึ้น
  • นอนตะแคงซ้ายมีหมอนหนุนท้องและขา
  • นอนบนม้าโยก

การเปลี่ยนผิวหนังในคนท้อง

เนื่องจาก มีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่พบบ่อย ๆ คือ

  • มีฝ้าขึ้นโดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดด ควรป้องกันโดยทาครีมกันแดด
  • บริเวณหัวเหน่าจะมีรอยเส้นดำเกิดขึ้น หลังคลอดรอยดำจะจางหายไป
  • บริเวณหน้าท้องมีรอยแนวสีชมพู เรียกว่า ท้องลาย เนื่องจาก การขยายของผิวหน้าท้อง ซึ่งไม่มีวิธีป้องกัน แต่รอยนี้จะค่อย ๆ จางลงภายหลังคลอด
  • จะเห็นเส้นเลือดบริเวณหน้าอกขยายผิวบริเวณฝ่ามือจะแดง ซึ่งอาการทั้งสองเป็นผลจากฮอร์โมน
  • อาจจะเกิดสิวขึ้นให้ล้างหน้าบ่อย ๆ ในแต่ละวัน

อาการบวมและเส้นเลือดขอดในคนท้อง

คุณแม่อาจจะมีอาการบวมหลังเท้า วิธีแก้ให้นั่งหรือนอนยกเท้าสูง ห้ามซื้อยาขับปัสสาวะมารับประทานเด็ดขาด ถ้าหากมีอาการบวมที่แขนหรือใบหน้า ต้องบอกให้แพทย์ทราบ

เส้นเลือดขอดบริเวณขาหรืออวัยวะเพศ สาเหตุเกิดจากมดลูกกดทับเส้นเลือดดำ และจะหายได้หลังจากคลอด

วิธีป้องกันอาการบวมและเส้นเลือดขอดในคนท้อง คือ

  • อย่านั่งหรือยืนนานเกินไป
  • หมั่นยกเท้าให้สูงทั้งในขณะนั่งหรือนอน
  • งดใส่ถุงเท้าที่รัดแน่น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง

ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง สุขใจ ได้เป็นแม่ พ่อแม่ทุกคนต้องอ่าน เพื่อร่วมมือกันเป็นหุ้นส่วนชีวิต จาก https://spkhp.files.wordpress.com/2016/03/e0b884e0b8b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b894e0b8b9e0b981e0b8a5e0b895e0b899e0b980e0b8ade0b887e0b8abe0b88de0b8b4e0b887e0b895e0b8b1e0b989.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *