เดือนที่เจ็ดของการตั้งครรภ์ สัญญาณอันตรายที่ต้องรีบไปพบแพทย์

ในช่วงเดือนที่เจ็ดภาวะเสี่ยงอย่างหนึ่ง คือ การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งคุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะไม่แข็งแรง ขี้โรคป่วยบ่อย พัฒนาการช้า หรือเสียชีวิต

สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่า อาจมีการคลอดก่อนกำหนด คือ เลือดออกจากช่องคลอด มีน้ำเดิน ปวดท้อง ท้องแข็งตึง บวมลูกดิ้นน้อย หากมีอาการใดอาการหนึ่ง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งอาการต่าง ๆ มีลักษณะและสาเหตุดังนี้

คุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอด

สาเหตุเลือดออกทางช่องคลอดที่พบบ่อย

  1. รกลอกตัวก่อนกำหนด
    • สาเหตุอาจเกิดจากภาวะพิษแห่งครรภ์ หรืออาจถูกกระทบกระแทกบริเวณหน้าท้องอย่างรุนแรง ซึ่งคุณแม่ควรระวังอุบัติเหตุ และการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น ลื่นหกล้มหากมีอาการใดอาการหนึ่ง เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง หน้าท้องแข็งตึง และกดเจ็บ หรือพบว่า มดลูกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก มีเลือดขังอยู่ภายใน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  2. รกเกาะต่ำ
    • อาการที่ต้องพบแพทย์ คือ มีเลือดออกทางช่องคลอด โดยไม่เจ็บครรภ์ ถ้าเลือดออกมากแพทย์จะต้องรีบนำทารกในครรภ์และรกออกให้เร็วที่สุดเพื่อให้เลือดหยุด

น้ำเดินก่อนกำหนด

น้ำเดิน คือ การที่มีน้ำใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ (แต่ไม่ใช่ปัสสาวะ) ไหลออกมาทางช่องคลอด แสดงว่า ถุงน้ำคร่ำแตกรั่ว ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดคลอด แต่หากพบว่า น้ำเดินก่อนกำหนด ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากทิ้งไว้อาจเกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกอย่างรุนแรงจนเสียชีวิตทั้งตัวแม่และลูกในครรภ์

การปฏิบัติเมื่อพบว่า มีน้ำเดิน หากน้ำคร่ำไหลน้อยออกมาตามขา ควรอยู่นิ่ง ๆ งดการเดินหรือเคลื่อนไหว ใส่ผ้าอนามัยเพื่อซับน้ำ และสังเกตอาการ 2 – 3 ชั่วโมง ถ้ายังไม่หยุดไหลให้รีบไปพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้เจ็บครรภ์

ปวดท้อง – ท้องแข็งตึง

ปวดท้อง คือ ปวดบริเวณท้องน้อย มดลูกหรือหัวเหน่า

ท้องแข็งตึง คือ การที่มดลูกบีบรัดตัวแข็งเป็นก้อนกลม หากทิ้งไว้นานทำให้ปากมดลูกเปิด จนคลอดก่อนกำหนดได้

สาเหตุที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนั้น คุณแม่ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ คือ อาการท้องเสียและปวดท้องมาก การร่วมเพศที่รุนแรง พักผ่อนน้อยและทำงานหนัก

ท้องแข็งตึงอย่างไรควรรีบไปพบแพทย์

ตามปกติ การตั้งครรภ์อาจพบอาการท้องแข็งตึงได้บ้าง เช่น เวลาพลิกตัว หรือลูกดิ้น แต่หากรู้สึกท้องแข็งบ่อยกว่าปกติควรนอนพักนาน ๆ หากนอนพักแล้ว ยังมีอาการอยู่ทุกครึ่งชั่วโมงติดต่อกัน 2 – 3 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์

บวม ความดันโลหิตสูง

“โรคพิษแห่งครรภ์” พบในคุณแม่ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีความโลหิตสูง คุณแม่เป็นเบาหวาน หรือมีครรภ์แฝด

อาการที่ควรรีบไปพบแพทย์ คือ บวมตั้งแต่หลังเท้าถึงหน้าแข้ง มือบวม นิ้วบวม ปวดศีรษะ และมีตราพร่ามัว หากปล่อยไว้คุณแม่อาจชักหมดสติ และเสียชีวิตได้

ใส่ใจลูกน้อย คอยนับลูกดิ้น

ลูกดิ้นน้อย

สาเหตุที่ทำให้ลูกดิ้นน้อยลง

  • การขาดออกซิเจน
    • การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อลดลง
    • การทำงานของรกบกพร่อง ทำให้เลือดไปเลี้ยงลูกน้อยลง

ลูกดิ้นน้อยแค่ไหนต้องไปพบแพทย์

ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังรับประทานอาหาร ทารกดิ้นน้อยกว่าสามครั้ง ให้สังเกตในอีก 1 ชั่วโมงต่อมาถ้าไม่มีการดิ้นหรือดิ้นน้อยกว่าสามครั้งต้องไปพบแพทย์

การป้องกันการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

  • ควรงดสูบบุหรี่ หรือนั่งใกล้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่
  • พักผ่อนมาก ๆ ไม่ควรทำงานหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มความเสี่ยง เช่น มีโรคหัวใจ
  • โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รกเกาะต่ำ ตั้งครรภ์แฝด ภาวะแท้งคุกคาม เป็นต้น
  • ห้ามกลั้นปัสสาวะ เพื่อป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งก่อให้เกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดได้
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุครรภ์ 20 – 36 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องมาตรวจตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ
  • ในรายที่ได้รับยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยครั้งแรกควรรับประทานครึ่งเม็ด และนอนพัก เนื่องจาก อาจจะมีอาการใจสั่น มือสั่น

ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง สุขใจ ได้เป็นแม่ พ่อแม่ทุกคนต้องอ่าน เพื่อร่วมมือกันเป็นหุ้นส่วนชีวิต จาก https://spkhp.files.wordpress.com/2016/03/e0b884e0b8b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b894e0b8b9e0b981e0b8a5e0b895e0b899e0b980e0b8ade0b887e0b8abe0b88de0b8b4e0b887e0b895e0b8b1e0b989.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *