เดือนที่สองของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มมี “การแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องอาจไม่เกิดกับทุกคนที่ตั้งครรภ์ แต่หากมีอาการแพ้ก็ไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ทำให้เกิดอันตราย โดยปกติแล้วจะหายได้เอง เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 4

ในช่วงแรกทารกจะใช้อาหารที่สะสมในตัวทารกเองเป็นส่วนใหญ่ โดยพึ่งพาอาหารจากแม่ในปริมาณที่น้อยมาก แต่หากเกิดอาการแพ้ท้องมากถึงขั้นรับประทานอาหารไม่ได้เป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

สาเหตุอาการแพ้ท้องน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน นอกจากนี้ จิตใจและอารมณ์ก็เกี่ยวข้องกับอาการแพ้ท้องมากเช่นกัน คนที่มีสภาพจิตใจ และอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย มักจะมีอาการแพ้ท้องมาก และรุนแรงกว่าคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง ดังนั้น คุณแม่ที่มีอารมณ์อ่อนไหวมาก ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างเป็นพิเศษ

อาการแพ้ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์

การแพ้ท้องมักมีลักษณะอาการดังนี้

  1. วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หน้ามืด อาเจียน พะอืดพะอม เหม็นเบื่อสิ่งต่าง ๆ
  2. มีน้ำลายมากจนต้องบ้วนน้ำลายตลอดเวลา
  3. คลื่นไส้อาเจียนหลังจากดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร
  4. น้ำหนักลด
  5. ร่างกายขาดน้ำ จนกระหายหรือริมฝีปากแห้ง
  6. ปัสสาวะมีสีเข้มขึ้น
  7. ความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายอาจผิดปกติ

วิธีการป้องกันการแพ้ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแพ้ท้องหายได้เองโดยไม่ต้องรับประทานยาใด ๆ เพียงปฏิบัติตัวดังนี้

  1. รับประทานอาหารในปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเครื่องเทศเพราะกลิ่นแรง ควรงดอาหารทอด เพราะอาหารประเภทนี้ย่อยยาก
  3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม พยายามดื่มน้ำขิงดูบ้าง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้
  4. ก่อนนอนพยายามรับประทานอาการ ประเภทนม โยเกิร์ต ขนมปัง เพื่อป้องกันอาการแพ้ท้องช่วงตื่นนอนตอนเช้า
  5. หลังจากตื่นนอนไม่ควรรีบลุกทันทีทันใด เพราะจะทำให้คลื่นไส้ได้ง่าย
  6. พยายามอยู่ในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ่ายเทสะดวกไม่อับชื้น
  7. สมาชิกในบ้านโดยเฉพาะสามีต้องให้ความรัก และเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ และอดทนกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ หากปฏิบัติได้ทั้งหมด เชื่อว่า อาการแพ้ท้องของคุณแม่จะบรรเทาลงได้ ในกรณีที่มีอาการแพ้ท้องมากจนน้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ รวมทั้งอาจให้ยาหรือน้ำเกลือเพื่อแก้คลื่นไส้อาเจียน

เต้านมคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มเปลี่ยนแปลง

หลังการตั้งครรภ์ 6 – 8 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกว่า เต้านมใหญ่ขึ้น เวลากดหรือสัมผัสเต้านมจะเจ็บ เนื่องจาก การเจริญเติบโตของไขมันและต่อมน้ำนม นอกจากนี้ คุณแม่อาจสังเกตเห็นเส้นเลือดบริเวณเต้านมได้ขยายตัวขึ้น และส่วนหัวนมและฐานนมจะมีสีคล้ำขึ้น คุณแม่ควรเลือกขนาดของยกทรงให้เหมาะเพื่อลดการเจ็บ

ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง สุขใจ ได้เป็นแม่ พ่อแม่ทุกคนต้องอ่าน เพื่อร่วมมือกันเป็นหุ้นส่วนชีวิต จาก https://spkhp.files.wordpress.com/2016/03/e0b884e0b8b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b894e0b8b9e0b981e0b8a5e0b895e0b899e0b980e0b8ade0b887e0b8abe0b88de0b8b4e0b887e0b895e0b8b1e0b989.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *