เดือนที่หกของการตั้งครรภ์ การเป็นตะคริวในเวลากลางคืนของคุณแม่

อาการตะคริวในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ พบได้บ่อยเมื่ออายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป บางครั้งเป็นจนน่องแข็งทื่อทั้งคืน ทำให้เจ็บปวด และนอนไม่หลับ เดือดร้อนสามี หรือคนข้างเคียงต้องพลอยนอนไม่หลับไปด้วย

อาการตะคริวมีสาเหตุจากการขาดแคลเซียม ซึ่งป้องกันได้โดยดื่มนมวันละประมาณ 1 ลิตร รับประทานปลากรอบที่เคี้ยวได้ทั้งกระดูก หรือกุ้งแห้งตัวเล็ก ๆ ที่เคี้ยวได้ทั้งเปลือก รับประทานผักใบเขียว และข้าวโพดมากขึ้น

ตะคริวมักจะเกิดในช่วงกลางคืน หรือใกล้เช้า ซึ่งในเวลานั้นอากาศค่อนข้างเย็น ประกอบกับมีเลือดไหลมาคั่งอยู่ที่บริเวณน่องมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ควรห่มผ้าให้ความอบอุ่นบริเวณปลายเท้าและน่องตลอดเวลา

คุณแม่ที่ทำงานในท่านั่งหรือท่ายืนนาน ๆ ทำให้เลือดเดินไม่สะดวก ทำให้เกิดการสะสมของเสียคั่งบริเวณน่อง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดตะคริวได้ง่ายเช่นกัน

เมื่อเกิดอาการตะคริวขึ้นแล้ววิธีแก้ คือ ให้พยายามเหยียดขาออกไปให้ตึงที่สุด และดัดปลายเท้าเท้าให้กระดกขึ้นไว้นาน 20 – 30 วินาที อาการตะคริวจะค่อย ๆ หายไป วิธีนี้คุณพ่ออาจช่วยดูแลโดยการดัดปลายเท้าให้ด้วย

การฝึกหายใจสำหรับการคลอด

สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับเตรียมตัวในการคลอดของคุณแม่คนใหม่ ก็คือ การฝึกควบคุมการหายใจ เพราะนอกจาก จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอดแล้ว ยังช่วยเพิ่มกำลังในการเบ่งคลอดให้มากขึ้นด้วย

การฝึกลมหายใจควรเริ่มในช่วงที่อายุครรภ์ได้ 6 – 7 เดือน โดยจะแบ่งเป็น 2 แบบตามระยะการคลอด

  1. การหายใจแบบลึกและช้า จะใช้ในช่วงแรกของการเจ็บครรภ์ ซึ่งการบีบตัวของมดลูกยังไม่รุนแรงมาก
    • วิธีฝึก เมื่อมดลูกเริ่มบีบรัดตัว ให้คุณแม่หายใจเข้าปอดลึก ๆ ช้า ๆ โดยการนับจังหวะ 1 – 2 – 3 – 4 – 5 แล้วค่อย ๆ หายใจออกทางปากช้า ๆ อย่างเป็นจังหวะ ตลอดระยะเวลาที่มดลูกบีบตัว
    • เมื่อมดลูกคลายตัวจะเจ็บน้อยลง หลังจากนั้นให้หายใจเข้า – ออกเต็มที่อีก 1 ครั้งแล้วหายใจตามปกติเป็นการเสร็จสิ้นการหายใจลึก และช้า 1 ครั้ง ควรฝึกทำทุกครั้งเมื่อมดลูกบีบตัว
  2. การหายใจแบบตื้นเร็วและเบา (แบบเป่าเทียน) จะใช้เมื่อการเจ็บครรภ์รุนแรงมากขึ้น เพราะใกล้จะถึงคลอด
    • วิธีฝึก คือ เมื่อมีสัญญาณมดลูกบีบตัว ให้คุณแม่หายใจเข้า – ออกเต็มที่ 1 ครั้ง ต่อไปให้หายใจเข้าทางจมูกแบบตื้นเร็วและเบา 4 – 6 ครั้ง ติดต่อกันเร็ว ๆ คล้ายกับหายใจหอบโดยการห่อปาก และเป่าลมออกทางปากเบา ๆ ให้สมดุลกับการหายใจเข้า ทำเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกว่ามดลูกเริ่มคลายตัว ในสถานบริการสุขภาพบางแห่ง อาจมีกิจกรรมการเตรียมตัวก่อนคลอด คุณแม่และคุณพ่อควรหาโอกาสเข้ารวมกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อม และลดคามกังวลในการคลอดได้มากขึ้น

ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง สุขใจ ได้เป็นแม่ พ่อแม่ทุกคนต้องอ่าน เพื่อร่วมมือกันเป็นหุ้นส่วนชีวิต จาก https://spkhp.files.wordpress.com/2016/03/e0b884e0b8b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b894e0b8b9e0b981e0b8a5e0b895e0b899e0b980e0b8ade0b887e0b8abe0b88de0b8b4e0b887e0b895e0b8b1e0b989.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *