อาการที่บ่งชี้ว่ามีการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงในร่างกาย “คุณแม่ตั้งครรภ์”

ชีวิตทารกที่เกิดขึ้น และกำลังเติบโตอยู่ในครรภ์ คือ สิ่งที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจของผู้เป็นแม่รวมทั้งพ่อผู้เป็นหุ้นส่วนสำคัญของชีวิตที่กำลังเติบโตนี้

“ลูก” คือ สุดยอดปรารถนา และเป็นสิ่งล้ำค่าในชีวิตพ่อแม่ ซึ่งการดูแลลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ต่อเนื่องไปจนถึงหลังคลอด คือ สิ่งดี ๆ ที่พ่อแม่มอบให้กับลูก

เมื่อเริ่มต้นการเป็น “แม่” ควรเตรียมพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ หาความรู้สำหรับการดูแลครรภ์อย่างมีคุณภาพ เพื่อการคลอดที่ปลอดภัยของลูกน้อย

อาการที่บ่งชี้ว่ามีการตั้งครรภ์ คือ

  1. ประจำเดือนขาด
  2. คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อยากกินของแปลก ๆ
  3. เต้านมคัด
  4. ปัสสาวะบ่อยขึ้น

หากสงสัยว่า ตั้งครรภ์หรือไม่ คุณแม่สามารถหาซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์จากร้านขายยามาทดสอบหาฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในผู้ตั้งครรภ์มาลองตรวจดู

การทดสอบสามารถทำเองได้อย่างง่าย ๆ นับตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนขาด และควรตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจยิ่งขึ้น เพื่อความชัดเจนอาจให้แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจซ้ำอีกครั้ง

เมื่อทราบชัดว่า มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ควรฝากครรภ์กับแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พร้อมรับคำแนะนำและการดูแลอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ และทารกในครรภ์

การเปลี่ยนแปลงในร่างกายของแม่เมื่อตั้งครรภ์

เมื่อมีการตั้งครรภ์ ร่างกายจะปรับตัวเพื่อให้เหมาะที่จะต้อนรับทารกตัวน้อย และเตรียมพร้อมในการคลอดตามธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนในร่างกาย คือ โพรเจสเทอโรน และเอสโตรเจน ซึ่งจะพบได้ในร่างกายผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน แต่ในคนที่ตั้งครรภ์จะพบฮอร์โมนสองชนิดนี้ในปริมาณที่มากกว่าเดิม ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น

  • มดลูกขยายตัวมากขึ้น
    • มดลูกของแม่จะขยายมากขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับทารกที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ข้างใน มดลูกประกอบด้วย กล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง เรียกว่า กล้ามเนื้อเรียบ แต่ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน จะมีผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว มียืดหยุ่น และขยายตัวออกได้ง่ายขึ้น
  • เต้านมเริ่มใหญ่ขึ้น
    • ฮอร์โมนจะเริ่มกระตุ้นให้เต้านมของแม่ทั้ง 2 ข้างเตรียมความพร้อมที่จะสร้างน้ำนม ขนาดจึงใหญ่ขึ้น และร่างกายจะเริ่มสร้างสารที่เรียกว่า “นมน้ำเหลือง” ขึ้นแต่จะยังไม่สร้างน้ำนมจนกว่าคุณแม่จะคลอดลูกแล้ว 2 – 3 วัน ในสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีอาการเต้านมคัดตึง ซึ่งคุณแม่ควรปรับเปลี่ยนชุดชั้นในให้มีขนาดพอเหมาะกับเต้านมที่เริ่มใหญ่ขึ้น
  • เชิงกราน
    • เชิงกรานเป็นกระดูก เชื่อมโยงกับกระดูกขาและกระดูกสันหลัง ซึ่งแท้จริงแล้วเชิงกรานเป็นกระดูก 3 ชิ้นต่อกันด้วยเอ็นในขณะที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนจะทำให้เอ็นมีความนุ่ม และยืดหยุ่นมากกว่าปกติ ดังนั้น ขณะคลอดกระดูกเชิงกรานจะขยายช่วยให้ทารกคลอดผ่านส่วนล่างของวงกระดูกเชิงกรานได้ง่ายขึ้น
  • ร่างกายผลิตเลือดเพิ่มขึ้น
    • หัวใจของแม่จะเต้นแรงขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นให้ไปทั่วร่างกาย เลือดที่เพิ่มขึ้นจะทำหน้าที่ส่งเสบียงให้แก่ทารก และอวัยวะอื่น ๆ ของแม่ซึ่งต้องทำหน้าที่หนักกว่าภาวะปกติ
  • อย่าตกใจถ้าผิวหนังคล้ำขึ้น
    • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกว่า ขี้ร้อนกว่าปกติ เนื่องจาก ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านในชั้นผิวหนังมากขึ้น ส่วนใหญ่ยังพบว่า ไฝ กระ และบริเวณรอบ ๆ หัวนมจะกลายเป็นสีเข้มยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ที่ผิวหนังตรงกลางท้องค่อนไปทางหัวเหน่าวจะมีแนวเส้นดำปรากฏอยู่

ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง สุขใจ ได้เป็นแม่ พ่อแม่ทุกคนต้องอ่าน เพื่อร่วมมือกันเป็นหุ้นส่วนชีวิต จาก https://spkhp.files.wordpress.com/2016/03/e0b884e0b8b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b894e0b8b9e0b981e0b8a5e0b895e0b899e0b980e0b8ade0b887e0b8abe0b88de0b8b4e0b887e0b895e0b8b1e0b989.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *