แนะนำการปฏิบัติตัวของคุณแม่หลังคลอด มารดาหลังคลอดควรจะทำอย่างไร

การพักผ่อนของคุณแม่หลังคลอด

ในช่วง 2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด คุณแม่ไม่ควรลุกจากเตียง เนื่องจาก อาจทำให้หน้ามืดเป็นลมได้ ถ้าต้องการปัสสาวะ ควรให้หม้อนอน และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันควรได้รับการพักผ่อนบ้างขณะทารกหลับ

กิจกรรมของคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักเกินกว่าน้ำหนักของทารก และไม่ควรออกแรงเบ่งมาก หรือนาน ๆ เพราะจะมีผลกระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูกในระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด ไม่ควรขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ ในส่วนการออกกำลังกายจะทำได้บ้างในบางท่าที่ไม่หนักมากนัก จนกว่าจะได้รับการตรวจจากแพทย์เมื่อครบ 6 สัปดาห์หลังคลอดแล้ว

การทำความสะอาดร่างกายคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดควรอาบน้ำจากฝักบัวหรือตักอาบ ไม่ควรอาบน้ำแบบแช่ในอ่างน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่มดลูกได้ สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดหน้าท้องคลอด ควรทำความสะอาดร่างกายด้วยวิธีเช็ดตัว จนกว่าจะตัดไหมและสังเกตว่า แผลแห้งดีแล้ว

การดูแลแผลฝีเย็บของคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดจะรู้สึกเจ็บแผลฝีเย็บประมาณ 2 – 3 สัปดาห์หลังคลอด (ปกติแผลจะหายภายใน 7 วันหลังคลอด และไหมจะเย็บจะละลายประมาณ 3 สัปดาห์) และคุณแม่หลังคลอดควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่กับน้ำสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่ย้อนจากก้นมาด้านหน้า เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผลและช่องคลอดได้ จากนั้น ซับแผลให้แห้ง

อาการปวดมดลูกของคุณแม่หลังคลอด

การปวดมดลูกเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับมารดาใน 1 – 2 วันแรกหลังคลอด แต่ถ้ามีอาการปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวดได้

การมีเพศสัมพันธ์สำหรับคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดสามารถเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อ 6 สัปดาห์หลังคลอดไปแล้ว เพราะ 6 สัปดาห์แรกปากมดลูกยังปิดไม่สนิท จะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาการวางแผนครอบครัว

อาหารสำหรับคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดบางรายอาจยังไม่นึกอยากรับประทานอาหาร ซึ่งควรได้รับวิตามินเสริมต่อไปจนกว่าจะตรวจหลังคลอด คุณแม่หลังคลอดควรได้รับอาหารครบห้าหมู่ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายตนเอง และคุณแม่ควรงดอาหารรสจัด ของหมักดอง ยาดองเหล้า ยาขับน้ำคาวปลา บุหรี่ และสิ่งเสพติดทุกชนิด เพราะมีลทำให้มดลูกคลายตัว อาจทำให้ตกเลือดหลังคลอดได้ และสารเหล่านี้ยังสามารถขับออกทางน้ำนม ทำให้เด็กง่วงซึมได้

น้ำคาวปลาหลังคลอดบุตร

ตามปกติแล้ว น้ำคาวปลาจะมีประมาณ 2 สัปดาห์ น้ำคาวปลาจะเปลี่ยนสีจากแดงเป็นชมพู และน้ำตาลดำ ภายใน 10 วันหลังคลอด ต่อจากนั้น จะเป็นสีขาวออกเหลืองในสัปดาห์ที่ 3 – 4 หลังคลอด และประมาณ 4 – 8 สัปดาห์หลังคลอด จะมีประจำเดือนมาเป็นครั้งแรก บางรายจะมีน้อยกว่าปกติ เพราะรังไข่ปรับตัวไม่ดี

การตรวจหลังคลอดสำหรับคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดควรไปพบแพทย์ตามนัด (6 สัปดาห์หลังคลอด) เพื่อตรวจการกลับคืนสู่สภาพปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อปรึกษาการวางแผนครอบครัว

อาการผิดปกติของคุณแม่หลังคลอดที่ควรมาพบแพทย์

เมื่อมีไข้สูง มีอาการเจ็บปวดหรือแสบขัดเวลาถ่ายปัสสาวะ มีน้ำหนองหรือเลือดไหลจากแผลฝีเย็บ แผลฝีเย็บบวมแดง น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือมีสีแดงตลอด ภายใน 15 วันหลังคลอด เลือดออกมากผิดปกติจากช่องคลอด และหลังคลอด 2 สัปดาห์ไปแล้ว ยังคลำมดลูกได้ทางหน้าท้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *