การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่หลังคลอด

การเปลี่ยนแปลงมดลูกคุณแม่หลังคลอด

มดลูกเป็นอวัยวะที่รับภาระหนักในการตั้งครรภ์มาตลอด 9 เดือน จากมดลูกที่มีขนาดเล็กเท่าผลชมพู่ กลับต้องมาขยายใหญ่กว่าผลแตงโมเพื่อรองรับทารกในครรภ์ และหลังจากคลอดลูกแล้ว มดลูกยังต้องบีบรัดตัวให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งทำให้มดลูกเกิดการเจ็บปวดบ้างประมาณ 2 – 3 วัน และมดลูกอาจเจ็บเล็กน้อยต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ จนกว่ามดลูกจะกลับเข้าสู่เชิงกราน และหลังคลอดใหม่ ๆ มดลูกจะมีน้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม ซึ่งจะประกอบไปด้วย กล้ามเนื้อมดลูก เศษเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีความหนาตัวในระหว่างการตั้งครรภ์ และเลือด ถ้าคุณแม่คลำหน้าท้องดูก็จะพบว่า มดลูกจะมีขนาดใหญ่และโตเท่ากับตอนตั้งท้องได้ประมาณ 4 – 5 เดือน หรืออาจจะโตเท่ากับผลส้มโอ เมื่อมดลูกคุณแม่เริ่มหดตัวขนาดก็จะค่อย ๆ ลดลงด้วย ในวันแรกหลังจากการคลอดลูกระดับของมดลูกจะอยู่ราว ๆ ระดับสะดือของคุณแม่ แล้วมดลูกจะค่อย ๆ ลดลงประมาณวันละ 1 นิ้วมือ โดยประมาณ 10 – 12 วันหลังจากคลอดแล้ว คุณแม่ก็จะไม่สามารถคลำหามดลูกตนเองได้จากทางหน้าท้องแล้ว และขนาดของมดลูกคุณแม่ก็จะค่อยลดลงต่อไปอีกจนเมื่อคุณแม่กลับไปพบแพทย์ตรวจร่างกายหลังคลอด 5 – 6 สัปดาห์ ขนาดของมดลูกคุณแม่ก็จะเล็กลงเท่ากับขนาดปกติแล้ว ซึ่งมดลูกจะหนักประมาณ 50 กรัม

การเปลี่ยนแปลงช่องคลอดและแผลฝีเย็บคุณแม่หลังคลอด

ช่องคลอดและแผลฝีเย็บเป็นผิวหนังที่อยู่ระหว่างอวัยวะเพศและทวารหนัก ในการคลอดลูกอาจจะถูกกรีดเพื่อให้สะดวกต่อการคลอดลูกและจะเย็บติดไว้ ซึ่งไม่ว่าจะเย็บด้วยไหมละลายหรือใช้ไหมชนิดตัด แผลในช่องคลอดก็อาจจะบวมเล็กน้อย ทำให้คุณแม่หลังคลอดจะรู้สึกเจ็บปวดแผลบ้าง จะนั่งได้ลำบากในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังคลอด และหลังจากนั้น จะค่อย ๆ หายเจ็บแผลไป และแผลในช่องคลอดก็จะหายสนิทใน 3 – 4 สัปดาห์หลังคลอด

การเปลี่ยนแปลงเต้านมคุณแม่หลังคลอด

หลังจากคลอดกลไกในร่างกายของคุณแม่จะกระตุ้นให้มีน้ำนม จึงอาจเกิดอาการคัดตึงบ้าง คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมแม่ เพราะนอกจากจะช่วยลดอาหารคัดตึงแล้ว ทารกยังได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งภูมิต้านทานที่เหมาะสมและดีที่สุดจากแม่อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงผนังหน้าท้องคุณแม่หลังคลอด

หลังคลอดแล้วบริเวณหน้าท้องที่เคยกลมนูนก็จะแบนราบลง แต่ไม่ใช่จะราบเรียบเสียทีเดียว เพราะคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะจากการบริหารร่างกายกว่าหน้าท้องจะกลับมาเป็นปกติ ในสมัยก่อนอาจมีคำแนะนำให้คุณแม่หลังคลอดลดหน้าท้องด้วยการอยู่ไฟหรือนาบหน้าท้อง โดยหวังว่า จะทำให้ผนังหน้าท้องหดเข้าที่ ปัจจุบันก็ทราบกันแล้วว่า ไม่จริง เพราะการบริหารร่างกายหลังคลอดเท่านั้นที่จะช่วยให้ผนังหน้าท้องของคุณแม่ที่ยืดออกมาหดเข้าที่ ถ้าคุณแม่สามารถทำกายบริหารจนใส่กระโปรง หรือกางเกงตัวเดิมที่ใส่ได้ก่อนตั้งครรภ์ก็จะดีมาก

อาการปวดท้องน้อยคุณแม่หลังคลอด

ในขณะตั้งครรภ์อวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานจะยืดขยายออกตามขนาดของทารกในครรภ์ หลังจากการคลอดแล้วก็จะมีการหดรัดตัวของร่างกายเพื่อกลับเข้าสู่ขนาดปกติ ด้วยเหตุนี้คุณแม่หลังคลอดจึงปวดท้องน้อยและเมื่อมดลูกหดรัดตัว ซึ่งอาการปวดท้องน้อยนี้จะคล้าย ๆ กับอาการปวดประจำเดือน หรือตอนเจ็บครรภ์เตือนในช่วงใกล้จะคลอด และคุณแม่จะรู้สึกปวดท้องน้อยมากขึ้นเมื่อให้ลูกดูดนม เพราะฮอร์โมนออกซีโตซินที่หลั่งออกมานี้ จะช่วยให้มดลูกคุณแม่หดตัดตัวดีขึ้น

การถ่ายปัสสาวะลำบากและอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่อาจรู้สึกถ่ายปัสสาวะลำบากขึ้น เนื่องจาก ช่องคลอด และบริเวณทางเดินปัสสาวะยังมีอาการบวมอยู่ การขมิบกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอดเหมือนตอนกลั้นปัสสาวะจะช่วยให้คุณแม่ถ่ายปัสสาวะได้ดีขึ้น ซึ่งอาการปวดขัดปัสสาวะนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปภายใน 2 – 3 วันหลังคลอด อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่มีอาการปัสสาวะลำบาก เนื่องจาก ระหว่างการคลอดศีรษะของทารกกดทับที่บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะอยู่นาน อาจทำให้น้ำปัสสาวะค้างขังอยู่นาน หรือย้อนกลับขึ้นไปที่บริเวณไตจนทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที

อาการท้องผูกคุณแม่หลังคลอด

ในช่วงหลังคลอดคุณแม่จะมีอาการเกิดท้องผูก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะบีบขับอุจจาระออกมามีการชะลอตัว ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากกล้ามเนื้อหน้าท้องคุณแม่และยังคงหย่อน ทำให้ความดันในช่องท้องคุณแม่ลดลง ประกอบกับระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ก็ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้คลายตัว คุณแม่จึงเกิดอาการท้องผูกได้ง่าย และยิ่งมีแผลฝีเย็บด้วย แล้วคุณแม่หลังคลอดก็อาจกลัวเจ็บแผลจนไม่อยากจะถ่ายเลยก็ได้ จะทำให้คุณแม่หลังคลอดหลายคนจะยังมีอาการท้องผูกไปอีกหลายวัน ดังนั้น ขอให้คุณแม่หลังคลอดรับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ๆ และดื่มน้ำให้มาก แล้วพยายามเบ่งอุจจาระ โดยไม่ต้องกลัวว่า แผลจะแยกออกแล้วอาการท้องผูกก็จะค่อย ๆ หายไปเอง และจะช่วยลดอาการของริดสีดวงทวาร จึงทำให้คุณแม่หลังคลอดสบายตัวขึ้น

ริดสีดวงทวารหรือเส้นเลือดขอดบริเวณทวารหนักของคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดมักมีอาการของริดสีดวงทวาร หรือเส้นเลือดขอดบริเวณทวารหนัก ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดที่บริเวณอุ้งเชิงกรานถูกดทับ เนื่องจาก การตั้งครรภ์และการคลอด เมื่อคลำดูจะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ที่โป่งขึ้นมาบริเวณทวานหนัก ซึ่งอาจทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บหรือมีเลือดออกร่วมด้วยขณะถ่ายอุจจาระ คุณแม่จึงควรปรึกษาหมอเพื่อช่วยดูแล

น้ำคาวปลาคุณแม่หลังคลอด

เนื้อเยื่อและเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอดบุตร ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกตัวของรก ซึ่งน้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาจากมดลูกใน 3 ระยะจนกว่าแผลจะหายใน 3 – 4 วันแรก และน้ำคาวปลาจะมีสีออกแดง ๆ และจะมีปริมาณค่อนข้างมาก ต่อจากนั้น น้ำคาวปลาจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง และจะมีสีจางลงเป็นสีชมพูหรือสีน้ำตาล และประมาณวันที่ 10 น้ำคาวปลาจะมีสีเหลืองขุ่น ๆ หรือสีใส และจะหมดไปในที่สุด แต่คุณแม่หลังคลอดบางรายอาจใช้เวลานานกว่านี้เป็นเดือนก็ได้ เพราะระยะเวลาในการมีน้ำคาวปลาของคุณแม่หลังคลอดจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ 2 – 6 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปจะมีประมาณ 3 สัปดาห์ ถ้าคุณแม่หลังคลอดให้ลูกดูดนมก็จะช่วยย่นระยะเวลาการมีน้ำคาวปลาให้สั้นลงได้เร็ว เพราะขณะที่ฮอร์โมนออกซีโตซินกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของน้ำนมก็จะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวกลับคืนสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น และจะยังช่วยให้มีการเสียเลือดน้อยลงได้อีกด้วย (ถ้าน้ำคาวปลาออกน้อยคุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะในปัจจุบันแพทย์มักจะฉีดยาให้มดลูกหดตัว จึงจะทำให้เสียเลือด หรือน้ำคาวปลาจะน้อยลง ส่วนคำโบราณที่ว่า “เมื่อคลอดแล้วน้ำคาวปลาต้องออกมา” นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าน้ำคาวปลาออกมากเกินไป ก็แปลว่า คุณแม่ต้องเสียเลือดมาก ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้)

น้ำหนักตัวคุณแม่หลังคลอด

หลังคลอดวันแรกน้ำหนักตัวของคุณแม่หลังคลอดจะลดลงไปประมาณ 6 กิโลกรัม เนื่องจาก ทารกน้อยที่คลอดออกมา รก น้ำคร่ำ และน้ำที่คั่งอยู่ภายในร่างกายได้ถูกขับออกมาทางปัสสาวะและเหงื่อ และต่อจากนั้น น้ำหนักของคุณแม่จะลดลงเรื่อย ๆ และเมื่อถึงวันไปตรวจหลังคลอดน้ำหนักก็ควรจะลดลงเท่ากับน้ำหนักก่อนจะตั้งครรภ์หรือไม่เกิน 2 – 3 กิโลกรัม ถ้าคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเดิมก็ควรจะออกกำลังกายร่วมด้วย และควรควบคุมอาหารให้เหมาะสม

ปัญหาผมร่วงคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่หลังคลอดหลายคนมักจะมีอาการผมร่วงและอาจจะผมบางหลังคลอด บางรายก็จะเกิดเร็วทันทีหลังคลอดจนถึงในช่วง 2 – 3 เดือนต่อมา คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจหรือเป็นกังวลมากไปนะ ถ้าคุณแม่หลังคลอดบำรุงร่างกายตามปกติ อีกไม่นานเส้นผมก็จะขึ้นใหม่เอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *