อาการผิดปกติของทารก “ลูกตัวเหลือง” (Neonatal Jaundice)

อาการผิดปกติของทารกอาจจะมีอาการดังนี้ ทารกหน้าเขียวขณะให้นม ซึม ซีด ตัวเหลือง เป็นไข้ ถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย หายใจเร็ว หายใจลำบาก หยุดหายใจเกิน 15 วินาที ท้องอืด อาเจียน ตาอักเสบ บวมแดง และมีเลือดออกจากสะดือ สะดือแฉะ ข้อมูลนี้ได้จากหนังสือ “สายในรักแห่งครอบครัว” คู่มือปฏิบัติการเพื่อคุณภาพแม่ – ลูก สำหรับบุคลากรสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 ปัญหาที่พบบ่อยของทารกน้อย ที่จะกล่าวถึงนี้ ทารกแหวะนม สำรอก ลูกร้องหิวบ่อย ลูกน้อยหายใจครึดคราด ลูกกินนมแม่แล้วถ่ายบ่อย กินนมแม่แล้วท้องผูก ลูกกินนมแล้วท้องผูก ทารกสะอึก การเจาะเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ลูกตัวเหลือง

ทารกแหวะนม สำรอก

สิ่งที่แม่ควรสังเกต คือ นมที่เด็กแหวะออกมานั้น ต้องไม่มีสิ่งอื่นเจือปน เช่น เลือด หรือมีสีเหลืองของน้ำดี หรือมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ซึ่งอาการทั่วไปปกติ หลังแหวะดูดนมได้ ดูอารมณ์ดี

วิธีการแก้การแหวะนม สำรอก คุณแม่ควรไล่ลมให้ลูกเรอเป็นระยะระหว่างกินนมและกินอิ่มร่วมกับการจัดให้ลูกนอนหัวสูงและตะแคงขวาหลังดูดนมครึ่งชั่วโมง

ลูกร้องหิวบ่อย

ลูกกินไม่อิ่มเนื่องจาก แม่ให้ลูกกินนมไม่เกลี้ยงเต้า หรือลูกหลับในขณะกินนม แม่จึงเอาลูกออกจากเต้า เพราะเข้าใจว่า ลูกอิ่มแล้ว เมื่อลูกหลับได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็ร้องหิวใหม่

การแก้ไขลูกร้องหิวบ่อย

แม่ต้องสังเกตถ้าลูกหลับในขณะกินนมและคายหัวนมออกมาเอง แสดงว่า ลูกอิ่ม แต่ถ้ายังไม่คายหัวนม ควรกระตุ้นให้ลูกดูดต่อโดยการขยับเต้านมเบา ๆ หรือบีบเต้านมเพื่อบีบไล่น้ำนม เข้าปากลูกเป็นครั้งคราว แต่บางช่วงที่ลูกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องการน้ำนมแม่มากขึ้นจะร้องหิวบ่อย อาจจะพบได้ทุกช่วงอายุ แต่มักเป็นในช่วงอายุ 2 สัปดาห์ 6 สัปดาห์ 3 เดือน 4 เดือน เป็นอยู่ 2 – 3 วัน แต่หลังจากที่แม่ให้ลูกดูดบ่อยขึ้น น้ำนมสร้างเพิ่มขึ้น ลูกก็กลับมาดูดตามปกติ

ลูกน้อยหายใจครึดคราด

การหายใจครึดคราดเกิดจากกระดูกอ่อนของหลอดลมยังไม่แข็งแรงหรืออาจแพ้โปรตีนนมวัว ทำให้มีอาการคัดจมูก เนื่องจาก เยื่อบุโพรงจมูกบวม หรือมีเสมหะในลำคอ

การแก้ไขลูกน้อยหายใจครึดคราด

  • งดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว หากเป็นเด็กที่ทานนมแม่ คุณแม่ต้องหยุดทานนมวัวและผลิตภัณฑ์นมวัวด้วยเช่นกัน
  • หยดน้ำเกลือ (0.9%NSS) 2 – 3 หยด ข้างใดข้างหนึ่งเพื่อให้ขี้มูกในจมูกอ่อนนุ่มลง
  • บีบลูกยางแดงเพื่อไล่อากาศออกใส่ข้างที่หยดน้ำเกลือ ดูดขี้มูกออก

ลูกกินนมแม่แล้วถ่ายบ่อย กินนมแม่แล้วท้องผูก

การที่ลูกกินนมแม่อย่างเดียวแล้วถ่ายบ่อยเป็นเรื่องปกติเพราะนมแม่ย่อยง่าย แต่น้ำหนักจะยังขึ้นได้ดี แต่ในบางคนถ่ายบ่อยจนก้นแดง มักจะพบในระยะที่ แม่มีน้ำนมมาก กินนมได้เฉพาะส่วนหน้ามากไม่ได้รับนมส่วนหลัง หรือนมแม่ให้ลูกกินสลับเต้า ทำให้ได้แลคโต๊สมาก

การแก้ไขลูกกินนมแล้วถ่ายบ่อย กินนมแม่แล้วท้องผูก

  • ให้แม่บีบนมส่วนหน้าแช่แข็งไว้ก่อนกะไว้สัก ½ เต้า แล้วค่อยเอาลูกมาดูดจากเต้า
  • ให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้าเป็นข้าง ๆ ไป

กรณีที่ลูกกินนมแล้วท้องผูก

เมื่อลูกน้อยอายุมากกว่า 1 เดือน บางรายไม่ถ่าย 7 วัน แต่เด็กสดชื่นดีไม่มีอาการท้องอืด ถือว่า เป็นอาการปกติ

ทารกสะอึก

ทารกสะอึก เกิดจากกล้ามเนื้อกระบังลมทำงานไม่สัมพันธ์กับการหายใจเข้าออก มักจะเกิดหลังจากที่ลูกกินนมอิ่มซึ่งเป็นเรื่องปกติ อาการจะเริ่มดีขึ้นตอนอายุ 4 – 5 เดือน

การแก้ไขทารกสะอึก

  • อุ้มเรอทุกครั้งหลังอิ่มนม
  • ให้ดูดนมแม่ การดูดนมแม่จากเต้าจะช่วยฝึกการหายใจ สักพักจะดีขึ้น ไม่ควรให้ทารกดื่มน้ำ

การเจาะเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน

การเจาะเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน เพื่อป้องกันโรคเอ๋อ “โรคเอ๋อ” เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เป็นมาแต่กำเนิด สาเหตุจากร่างกายมีความผิดปกติของไทยรอยด์ฮอร์โมน ทำให้มีโอกาสปัญญาอ่อนหรือสมองทึบได้ และมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายด้วย

หน้าที่ของไทรอยด์ฮอร์โมน

ไทรอยด์ฮอร์โมนมีผลต่อการเจริญเติบโตของระบบต่าง ๆ มีผลต่อการพัฒนาสมองมากในช่วง 1 เดือนแรก ไทรอยด์มีผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และมีผลต่อ Protein, Carbohydratelipid. Metabolism อาจทำให้ cholesterol ในเลือดสูง

อาการและอาการแสดงของไทรอยด์ฮอร์โมน

ทารกอายุ 3 เดือนแรกจะมีอาการสะดือจุ่น ท้องผูก ผิวแห้ง ลิ้นใหญ่ ร้องเสียงแหบ ต่อมาจะพบการพัฒนาการช้า ซึ่งจะแสดงออกเมื่ออายุ 2 – 3 เดือนไปแล้ว ซึ่งหมายถึง อาจช้าเกินไป เพราะฉะนั้น ต้องรีบมารักษาภายใน 1 เดือนหลังคลอดเด็กจะมีพัฒนาการตามปกติ

ทำไมต้องเจาะเมื่อทารกอายุ 48 ชั่วโมง

ในภาวะปกติระดับไทรอยด์ฮอร์โมนจะสูงขึ้นทันทีหลังทารกแรกเกิด เมื่ออายุมากกว่า 48 ชั่วโมง ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งถ้าเจาะก่อน 48 ชั่วโมงอาจจะเป็นผลที่ไม่แน่นอน ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนหรือ “เอ๋อ” หรือภาวะปัญญาอ่อนอย่างทันท่วงที ทารกแรกเกิดทุกคนจึงควรเข้ารับโปรแกรมการคัดกรองโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดทันทีภายหลังมีอายุครบ 48 – 72 ชั่วโมง

วิธีการเจาะ

  • เจาะบริเวณส้นเท้าหรือหลังมือ
  • หยดเลือดลงกระดาษซับเลือด
  • นำส่งวิทยาศาสตร์การแพทย์

การติดตามผู้ป่วย

ทางโรงพยาบาลจะติดตามทารกมาตรวจสอบซ้ำหรือเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งหากพบความผิดปกติบ่งชี้ลักษณะของอาการใด ๆ

อาการผิดปกติของทารก “ลูกตัวเหลือง” (Neonatal Jaundice)

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เกิดจากสารสีเหลือง (bilirubin) ชนิด unconjugated จับที่ผิวหนัง ในสัปดาห์แรกทารกแรกเกิดประมาณร้อยละ 60 จะมีภาวะตัวเหลืองธรรมชาติ (physiologic jaundice) ในทารกแรกเกิดครบกำหนดจะมีระดับสารสีเหลืองในเลือด 5.6 – 12.8 มก./ดล. ถ้าเป็นภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติ (pathological jaundice) จะพบว่า ระดับสารสีเหลืองในเลือดสูงกวานี้ บางรายอาจจะเห็นเหลืองเร็วภายใน 24 ชั่วโม

เมื่อพบว่า ทารกตัวเหลืองจะต้องตรวจหาสาเหตุอื่นก่อน เช่น กาวะที่หมู่เลือดแม่ – ลูกไม่เข้ากัน (blood group incompatibility) ภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็นไซม์ G-6-PD ภาวะเลือดข้น (polycythemia) เลือดออกใต้เยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ (cephalhematoma) โรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติ (hemolysis) เป็นต้น แต่ถ้าเป็นภาวะตัวเหลืองที่เกิดช้าในระยะหลัง 2 สัปดาห์ อาจเกิดภาวะอื่น เช่น ฮอร์โมนไทรอย์ต่ำ (โรคเอ๋อ) โรคตับและท่อน้ำดีอุดตัน เป็นต้น

ตัวเหลืองที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มี 2 ชนิด ที่เกิดขึ้นได้ใน 2 ระยะ ระยะที่ 1 ภาวะตัวเหลืองจากการที่ได้นมแม่ไม่พอ และระยะที่ 2 ภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากนมแม่ ในทารกคนเดียวกัน อาจมีตัวเหลืองได้ทั้งสองระยะในการวินิจฉัย จะต้องแยกสาเหตุของภาวะตัวเหลืองผิดปกติออกไปก่อน

ระยะที่ 1 ภาวะตัวเหลืองจากการที่ได้นมแม่ไม่พอ (not enough breastfeeding jaundice)

ภาวะตัวเหลืองจากการที่ได้นมแม่ไม่พอ พบได้ในทารกอายุ 2 – 4 วันแรก ที่ทารกได้นมแม่ไม่เพียงพอ สาเหตุเกิดจากการที่แม่ให้ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี ให้นมไม่บ่อยพอทำให้ถ่ายขี้เทาช้า สารสีเหลืองที่มีอยู่ในขี้เทาจึงถูกขับออกได้ช้า และยังมีการดูดซึมกลับของสารสีเหลืองจากลำไส้เพิ่มขึ้น

วิธีป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการที่ได้นมแม่ไม่พอ คือ ต้องให้ลูกดูดนมแม่ให้เร็ว และบ่อยในวันแรก ๆ ให้ได้มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน จะกระตุ้นให้น้ำนมแม่มาเร็ว ช่วยกระตุ้นให้ถ่ายอุจจาระเร่งการขับสารสีเหลืองออกจากลำไส้ ไม่ควรป้อนน้ำหรือกลูโคส ซึ่งนอกจากจะไม่ลดสารสีเหลืองแล้ว กลับจะทำให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย เพราะทำให้ดูดนมแม่ได้น้อยลง

ระยะที่ 2 ภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากแม่ (breast milk jaundice)

ภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากแม่ พบได้ในทารกหลังอายุ 5 วัน ระดับของสารสีเหลืองจะขึ้นสูงสุดระหว่าง 10 – 21 วัน แล้วค่อย ๆ ลดลงจนหายไปเองในสัปดาห์ที่ 3 แต่บางรายอาการเหลืองอาจยังมีเล็กน้อย จนถึงเดือนที่ 3 ทารกเหล่านี้จะดูแข็งแรงน้ำหนักตัวขึ้นดีและขับถ่ายได้เป็นปกติ

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่ก่อนจะวินิจฉัยว่า เป็นภาวะนี้ควรให้แน่ใจว่า ไม่มีสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อ ซึ่งเด็กมักจะซึมหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย หรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (โรคเอ๋อ)

ภาวะตัวเหลืองจากนมแม่นี้ ไม่เป็นอันตรายในทารกครบกำหนด สามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อไปได้โดยไม่ต้องงด ในกรณีที่ระดับของสารสีเหลืองสูงเกิน 20 มก./ดล. อาจให้ส่องไฟโดยกินนมแม่ต่อได้ การแนะนำให้งดนมแม่ควรใช้ต่อเมื่อระดับสารสีเหลืองสูงมาก จนอาจเป็นอันตราย แพทย์อาจให้ส่องไฟร่วมกับงดนมแม่ 1 – 2 วัน ระหว่างนั้นให้ลูกดูดนมผสมจากถ้วยและให้แม่บีบนมทิ้ง เพื่อไม่ให้นมคัด หลังจากนั้นเริ่มนมแม่ใหม่ ลูกจะไม่กลับมีตัวเหลืองอีก

ข้อมูลนี้ได้จากหนังสือ “สายในรักแห่งครอบครัว” คู่มือปฏิบัติการเพื่อคุณภาพแม่ – ลูก สำหรับบุคลากรสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *