การปฏิบัติตัวของคุณแม่หลังคลอด อาการผิดปกติของคุณแม่หลังคลอดที่ควรพบแพทย์ทันที

การรับประทานอาหารของคุณแม่หลังคลอด คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไปในการคลอดบุตร เพื่อการผลิตและเพิ่มคุณภาพของน้ำนมบุตร อาหารที่จำเป็น ได้แก่ เนื้อสัตว์ทุกชนิด นม ไข่ ข้าว ผัก ผลไม้ และน้ำ งดอาหารรสจัดทุกชนิด อาหารหมักดอง บุหรี่ สุรา กาแฟ

การพักผ่อนและนอนหลับของคุณแม่หลังคลอด คุณแม่หลังคลอดควรพักผ่อนและนอนหลับให้เต็มที่ในระยะ 1 – 2 วันแรกภายหลังคลอด อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง และหาเวลาพักผ่อนบ้างในขณะที่ลูกหลับ นอกจากนี้ ควรทำจิตใจให้สบาย เพราะความกังวลหรือความเครียด มีผลกระทบต่อการหลั่งของน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลน้อยลง

การรักษาความสะอาดร่างกายคุณแม่หลังคลอด คุณแม่หลังคลอดควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง เพราะว่าคุณแม่จะมีเหงื่อออกมาก น้ำนมและน้ำคาวปลาไหลตลอดเวลา โดยใช้ขันตักอาบหรือใช้ฝักบัว ไม่ควรลงแช่ในแม่น้ำลำคลอง เพราะปากมดลูกยังปิดไม่สนิท อาจทำให้ติดเชื้อได้

การดูแลแผลผ่าตัดของคุณแม่หลังคลอด

  1. คุณแม่ไม่ควรแกะ เกา แผล ไม่ให้แผลเปียกน้ำ
  2. ทำแผลวันละครั้งที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน กรณีแผลที่ต้องทำวันละครั้ง
  3. สังเกตความผิดปกติของแผล ปวดมาก บวม แดงร้อน มีน้ำซึมให้ไปพบแพทย์

การทำความสะอาดฝีเย็บ สำหรับแผลฝีเย็บ คุณแม่ควรฟอกด้วยสบู่ ล้างจากบริเวณด้านหน้าไปยังด้านหลัง ไม่ย้อนไปมาเพื่อป้องกัน เชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่แผลฝีเย็บและช่องคลอด ซับให้แห้งสนิท และเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกครั้งภายหลังทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วอย่าปล่อยให้ชื้น เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้

การทำงานของคุณแม่หลังคลอด คุณแม่หลังคลอดแล้วสามารถทำงานบ้านเบา ๆ ได้ตามปกติ เช่น กวาดบ้าน หุงข้าว ทำกับข้าว ฯลฯ แต่ไม่ควรยกของหนักหรือขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้เกิดแผลฝีเย็บแยกและมีผลต่อการยืดและคลายตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เกิดกระบังลมหย่อนได้

การเริ่มมีเพศสัมพันธ์ภายหลังคลอด คุณแม่ควรงดการหลับนอนกับสามี 6 สัปดาห์หลังคลอด เนื่องจาก ยังมีแผลในโพรงมดลูก ซึ่งอาจยังไม่หายดี ปากมดลูกยังปิดไม่สนิท กล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอดและฝีเย็บยังไม่แข็งแรง การมีเพศสัมพันธ์ในระยะดังกล่าวอาจทำให้เกิดการฉีกขาดบริเวณ ฝีเย็บ ช่องคลอดและเกิดการติดเชื้อได้ ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ควรไปรับการตรวจร่างกายหลังคลอดว่า ระยะภายในเป็นปกติดีแล้ว

การวางแผนครอบครัวของคุณแม่ ทางโรงพยาบาลจะให้ใบนัดตรวจท่าน เพื่อให้บริการคุมกำเนิด ภายหลังคลอด 6 สัปดาห์ ท่านจะได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว เช่น การกินยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การทำหมันตรวจมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ อาจจะไปใช้บริการสาธารณสุขใกล้บ้านท่านก็ได้

การตรวจภายในหลังคลอด ภายหลังคลอด 6 สัปดาห์ให้ท่านนำบัตรประจำตัวคนไข้ มารับบริการตรวจสุขภาพหลังคลอดและมารับบริการคุมกำเนิด พร้อมกันหากท่านไม่สะดวกที่จะมาโรงพยาบาล ให้ไปรับบริการที่ รพ.สต. หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน

การมีประจำเดือนของคุณแม่หลังคลอด การมีประจำเดือนครั้งแรกภายหลังคลอดของแต่ละคนจะแตกต่างกันไม่แน่นอน หากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีประจำเดือนในช่วงสัปดาห์ที่ 7 – 9 หลังคลอด ผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีประจำเดือนมาช้ามากกว่า อาจจะยังไม่มีประจำเดือนมาเป็นเวลา 5 – 6 เดือนหรือนานกว่านั้นก็ได้ หรือบางรายอาจจะไม่มีประจำเดือนเลยจนกระทั่งมีการตั้งครรภ์ใหม่ ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องปกติ

การรับประทานยาของคุณแม่หลังคลอด คุณแม่หลังคลอดควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ห้ามซื้อยารับประทานเอง เพราะบาบางชนิดขับออกทางน้ำนมเป็นอันตรายต่อลูกได้

อาการผิดปกติหลังคลอดที่ควรมาพบแพทย์ หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ในระยะหลังคลอดหรือเมื่อกลับไปอยู่บ้าน ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

อาการผิดปกติของคุณแม่หลังคลอด

  • คุณแม่หลังคลอดมีเลือดสด ๆ ออกมากทางช่องคลอดมากผิดปกติ ชุ่มผ้าอนามัย
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • แผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดคลอดลูกหรือแผลทำหมันเจ็บมากขึ้นหรือเป็นหนองอักเสบ บวม แดงหรือแยกออก
  • คุณแม่มีไข้สูงหรือหนาวสั่น อุณหภูมิเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • คุณแม่หลังคลอดมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว
  • คุณแม่หลังคลอดปวดเต้านมมาก ลูกดูดนมแล้วไม่ดีขึ้น เต้านมอักเสบ บวมแดง
  • คุณแม่หลังคลอดคลำพบมดลูกหรือก้อนทางหน้าท้องภายหลังคลอด 2 สัปดาห์ไปแล้ว
  • คุณแม่หลังคลอดเจ็บปวดหรือแสบขัดเวลาถ่ายปัสสาวะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *