สถานการณ์แม่วัยรุ่นต่อความพร้อมและบทบาทในการเป็นแม่

ปัจจุบันสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการคลอดในแม่วัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น ข้อมูลของสำนักสถิติสาธารณสุขที่รายงานว่า อัตราการคลอดของแม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการคลอดของวัยรุ่นหลายประเทศในอาเซียน และในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จากสถิติที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นสถานการณืปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยของการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม การเปลี่ยนบทบาทจากวัยรุ่นมาเป็นแม่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อวิถีการดำเนินชีวิตของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นต่อวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ครอบครัว ตลอดจนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคม การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นจึงเป็นการปรับตัวต่อภาวะวิกฤตจากการเข้าสู่บทบาทความเป็นแม่และการเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการช่วงวัย แม้จะมีพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยยึดวัยรุ่นเป็นศูนย์กลาง เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูกลูกอย่างมีคุณภาพ 

แม่วัยรุ่นให้นิยามต่อคำว่า “แม่” และ “บทบาทความเป็นแม่” ในทิศทางเดียวกัน และมีมุมมองว่า แม่และบทบาทความเป็นแม่มีความสำคัญต่อครอบครัว โดยเฉพาะความสำคัญต่อลูก ทั้งนี้ แม้วัยรุ่นต้องมีการปรับตัวทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสังคมต่อการดำรงบทบาทแม่ใน 6 ระยะดังนี้

1. การยอมรับการตั้งครรภ์

การยอมรับการตั้งครรภ์ พบว่า เมื่อทราบว่า “ตั้งครรภ์” แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อการเข้ารับการฝากครรภ์ ในแม่วัยรุ่นบางกรณี เลือกที่จะฝากครรภ์ทันที ในขณะที่แม่วัยุร่นอีกจำนวนหนึ่ง ต้องจัดการกับปัญหาครอบครัว อันเป็นผลต่อเนื่องจากการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ แม่วัยรุ่นได้พยายามดูแลสุขภาพร่างกายด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน แตกต่างจากแม่วัยรุ่นอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงทำงานตามปกติ ด้านสภาวะทางอารมณ์ แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีสภาวะทางอารมณ์เชิงลบ เมื่อทราบว่า “ตั้งครรภ์” เนื่องจาก วิตกกังวลต่อการเปิดเผยการตั้งครรภ์ โดยเหตุผลที่ทำให้แม่วัยรุ่นเหล่านี้เลือกตั้งครรภ์ต่อ แม้บางกรณีเคยมีความคิดยุติการตั้งครรภ์ คือ การยอมรับต่อความผิดพลาดของตนเอง รวมทั้งการได้รับการยอมรับจากครอบครัวและบุคคลรอบข้าง

แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีสภาวะทางอารมณ์ต่อการตั้งครรภ์ ในระยะตั้งครรภ์ และระยะหลังคลอดแตกต่างกัน โดยแม่วัยรุ่นมีความสุขมากขั้นในระยะหลังคลอด เมื่อได้เลี้ยงดูลูก ด้านการปรับตัวทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างแม่วัยรุ่นกับบุคคลในครอบครัว เครือญาติ เพื่อน และเพื่อนบ้าน ต่างเป็นความสัมพันธ์ที่ดี แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างแม่วัยรุ่นกับครู ที่ค่อนข้างห่างเหิน แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่จึงไม่เปิดเผยการตั้งครรภ์ต่อครู แม้แม่วัยรุ่นต้องเผชิญกับการปรับตัวทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมในการยอมรับการตั้งครรภ์ แต่กลับพบว่า แม่วัยรุ่นสามารถยอมรับการตั้งครรภ์ของตนเองได้

2. การสร้างสัมพันธภาพกับทารก

แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่เลี้ยงดูลูก และให้นมลูกด้วยตนเอง ซึ่งการให้นมลูกส่งผลต่อความรู้สึกเชิงบวกของแม่วัยรุ่น เช่น รู้สึกมีความสุข รู้สึกดี และรู้สึกอบอุ่น นอกจากนี้ แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่ยังแสดงความรัก และเอาใจใส่ลูก ด้วยการพูดคุย และเล่นกับลูกบ่อยครั้ง เมื่อลูกมีอาการเจ็บป่วย หรือร้องไห้ แม่วัยรุ่นจะมีวิธีการดูแลลูกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มการสัมผัส การโอบกอดตลอดจนการพยายามสังเกต และจดจำพฤติกรรมของลูก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่ ยังมีวิธีการส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย เช่น การช่วยกระตุ้นร่างกายลูก การฝึกลูกช่วยเหลือตนเอง การใช้ของเล่น และสื่อการเรียนรู้ ในขณะที่แม่วัยรุ่นอีกจำนวนหนึ่ง ใช้วิธีการเลี้ยงดูลูกตามธรรมชาติ

3. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในตนเอง

ด้านร่างกาย แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายอันเกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น อาเจียน น้ำหนักตัวลด โลหิตจาง ร่างกายขาดออกซิเจน เป็นต้น โดยแม่วัยรุ่นทุกกรณีสามารถยอมรับได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งครรภ์ จึงพยายามดูแลตนเองตามลักษณะอาการ และโรคประจำตัวของตน

ด้านอารมณ์ แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ในเชิงลบ เนื่องจาก ประสบภาวะเครียด และวิตกกังวลต่อการเลี้ยงดูลูก ปัญหาสัมพันธภาพกับสามี ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แม่วัยรุ่นกรณีหนึ่งให้มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ว่า เป็นผลสืบเนื่องจากการคุมกำเนิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นทัศนคติและความเชื่อที่ผิด ทั้งนี้ แม่วัยรุ่น ส่วนใหญ่ต่างมีวิธีจัดการกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงตามลักษณะความชอบส่วนบุคคล เช่น การเงียบ และนิ่งเฉย การพูดคุยกับบุคคลในครอบครัวและเพื่อน ตลอดจนการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด

4. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสัมพันธภาพกับคู่สมรส

แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีการปรับตัวร่วมกับสามีต่อพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เพศสัมพันธ์ที่ลดลง เนื่องจาก ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูลูก โดยการพูดคุยเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผย ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อสัมพันธภาพระหว่างแม่วัยรุ่นกับสามี นอกจากนี้ สามียังแสดงความรักและเอาใจใส่แม่วัยรุ่นมากขึ้น แม้จะมีเวลาในการทำกิจกรรมอื่นร่วมกันลดลง ทั้งนี้ แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากสามี แตกต่างจากแม่วัยรุ่นอีกจำนวนหนึ่ง ที่ประกอบอาชีพ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวร่วมกัน สำหรับบทบาทพ่อและการทำหน้าที่พ่อ แม่วัยรุ่นทุกกรณีมีความเข้าใจ และคาดหวังต่อบทบาทพ่อในทิศทางเดียวกัน และมองว่า บทบาทพ่อมีความสำคัญต่อครอบครัวและลูก โดยสามีมีส่วนช่วยเหลือแม่วัยรุ่นในการเลี้ยงดูลูก หรือสามารถทำหน้าที่พ่อในการดูแลลูกร่วมกันได้

5. การเตรียมสำหรับการคลอดและการเป็นแม่

แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีการเตรียมตัวด้านร่างกายก่อนคลอด เช่น การฝึกเดิน และท่านั่งเตรียมคลอด การออกกำลังกาย เป็นต้น ในขณะที่แม่วัยรุ่นกรณีหนึ่งมีมุมมองว่า การทำงานจะช่วยให้การคลอดง่ายขึ้น จึงทำงานจนเข้าสู่ระยะใกล้คลอด อีกทั้งแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความกลัว และวิตกกังวลต่อการคลอด ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดจากการคลอด หรือความไม่ปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและลูก ซึ่งการได้รับข้อมูล และความรู้เป็นส่วนสนับสนุนสำคัญที่ทำให้แม่วัยรุ่นสามารถเผชิญกับการคลอดได้

ด้านการเตรียมการเป็นแม่ แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่วางแผนเลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง ควบคู่กับการให้บุคคลในครอบครัวช่วยดูแล และวางแผนเข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยรูปแบบการศึกษานอกระบบโรงเรียน การศึกษาปริญญาตรี ตลอดจนการศึกษาหลักสูตรเฉพาะทาง ในขณะที่ แม่วัยรุ่นจำนวนหนึ่งไม่ต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ แต่เลือกวางแผนด้านการประกอบอาชีพต่อ

ด้านแผนการคุมกำเนิด แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่ใช้วีการฝังยาคุม เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ และแม่วัยรุ่นทุกกรณีมีการเรียนรู้ทางสังคมเกี่ยวกับการเป็นแม่ ผ่านบุคคลในครอบครัวประสบการณ์เดิมจากการเลี้ยงดูเด็ก ตลอดจนสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะยึดบุคคลในครอบครัวเป็นแบบอย่างของการเป็นแม่ ในขณะที่แม่วัยรุ่นจำนวนหนึ่ง เลือกเลี้ยงลูกตามแบบฉบับของตนเอง

6. การยอมรับบทบาทการเป็นแม่

เงื่อนไขหรือปัจจัยหลักที่เอื้อให้แม่วัยรุ่นสามารถดำรงบทบาทความเป็นแม่ คือ ครอบครัว โรงเรียน เพื่อนบ้าน และชุมชน โดยแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีทั้งความรู้สึกเชิงบวก และความรู้สึกเชิงลบร่วมกัน เมื่อต้องดำรงบทบาทแม่ ทั้งนี้ ความสุขในการเป็นแม่ของแม่วัยรุ่น คือ การเลี้ยงลูกด้วยตนเอง การเห็นลูกมีความสุข ตลอดจนการที่ลูกไม่มีอาการเจ็บป่วย สำหรับความสำเร็จในการทำหน้าที่แม่ คือ การเลี้ยงดูลูกให้เติบโตเป็นเด็กที่ดี การให้การศึกษา การประสบผลสำเร็จในอาชีพ ต่างเป็นความสำเร็จของแม่วัยรุ่น ในขณะที่แม่วัยรุ่นกรณีหนึ่ง ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ไม่มีความสำเร็จในการทำหน้าที่แม่ ด้วยหน้าที่แม่เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง และดำรงอยู่โดยไม่มีวันสิ้นสุด

การปรับตัวของแม่วัยรุ่นต่อบทบาทความเป็นแม่ใน 6 ระยะ สามารถสรุปแนวทางการปรับตัวของแม่วัยรุ่นต่อบทบาทความเป็นแม่ได้ดังภาพ

ที่มาบทความ การปรับตัวของแม่วัยุร่นต่อบทบาทความเป็นแม่ ศึกษาเฉพาะกรณีคลินิกรักษ์ดรุณ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โดยกุสุมา หมวกมณี และดร.มาลี ลิ่มสกุล วารสารสังคมสงเคราะห์ศาสตร์. ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 ปี 2563. http://journal.innovtalk.com/upload_files/journal/journal_id_38_97.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *