หลักปฏิบัติ ข้อแนะนำ และขั้นตอนการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ

หลักปฏิบัติก่อนการเลือกกิจกรรมออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

1.ตรวจร่างกายก่อนเลือกกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อดูปริมาณ

  • น้ำตาล คลอเรสเตอรอล
  • ชีพจรขณะพัก ความดันโลหิต

และเมื่อพบว่า มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ควรเลือกกิจกรรมที่อยู่ในคำแนะนำของแพทย์

2.ในกรณีที่ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ควรออกกำลังกายตามขั้นตอน ดังนี้

  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้ออยู่กับที่ 5 – 6 เท่า ใช้เวลา 5 – 10 นาที
  • กิจกรรมที่เลือกปฏิบัติ 10 – 15 นาที
  • ก่อนหยุดกิจกรรมให้ปฏิบัติช้าลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งคงที่
  • ใช้เวลาในการออกกำลังกายติดต่อกัน 15 – 35 นาที โดยออกกำลังกายทุกวันหรืออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์

ข้อแนะนำสำหรับการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

  1. เริ่มออกกำลังกายจากช้าไปหาเร็ว เช่น เดินช้า และเดินเร็วขึ้นเรื่อย ๆ
  2. สวมรองเท้ากีฬาพร้อมสวมถุงเท้า
  3. หลีกเลี่ยงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ต้องก้มนาน ๆ หรือยกแขนขาที่เป็นมุมกว้างเกินกว่าความสามารถ
  4. เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ถ้ามีอาการปวดข้อเข่า หรือปวดหลังก็ควรเลือกกิจกรรมในน้ำ เช่น เดินในน้ำ นั่งเตะขาในน้ำ เพื่อป้องกันการกระแทกของข้อเข่าในแนวดิ่ง
  5. กิจกรรมที่เลือกต้องไม่มีการกลั้นลมหายใจไว้นาน ๆ เช่น ยกดัมเบลที่มีน้ำหนักมากแล้วกลั้นลมหายใจไว้ (ถ้าจะยกควรเลือกใช้ดัมเบลที่มีขนาดเบา ประมาณ 1 กิโลกรัม) และยกให้ตลอดช่วงการเคลื่อนที่ของข้อต่อ
  6. เลือกกิจกรรมที่ทำติดต่อได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา 10 – 15 นาที แล้วมีความรู้สึกว่า เหนื่อยพอประมาณ เช่น ถีบจักรยานอยู่กับที่เดินเร็ว ว่ายน้ำ (อัตราการเต้นของชีพจรควรอยู่ในช่วง 110 – 120 ครั้ง/นาที)
  7. เลือกกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากกว่าเพิ่มความเครียด เช่น เล่นแบดมินตัน ปิงปอง เปตอง โดยไม่เน้นหรือให้ความสำคัญเรื่องผลแพ้ – ชนะมากเกินไป
  8. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เคลื่อนที่เร็ว/ย่อ-ยืดข้อเข่าอย่างเร็ว/บิด – หมุนลำตัวอย่างเร็ว เช่น การเล่นฟุตบอลเป็นทีม กระโดดขึ้น – ลง วิ่งทางลาดชัน เป็นต้น
  9. ไม่เดินหรือวิ่งบนพื้นที่ลาดเอียงหรือชันมาก
  10. ควรมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวร่วมออกกำลังกายด้วยอย่างน้อย 1 คน
  11. เมื่อรู้สึกเวียนศีรษะ ตามัว หูอื้อ ใจสั่น หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอกตีบ ๆ ต้องหยุดออกกำลังกายทันที
  12. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ขั้นตอนการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

1.ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (5 – 10 นาที)

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เริ่มปฏิบัติจากท่านั่งกับพื้นแล้วก้มแตะปลายเท้าช้า ๆ เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ ขาและลำตัว แล้วจึงยืนขึ้นบริหารต้นคอ ไหล่ แขน ข้อมือ ให้ร่างกายอบอุ่น ข้อต่อไม่ติดขัด พร้อมที่จะเคลื่อนที่เร็วขึ้นตามลำดับ

2.เลือกกิจกรรมตามความเหมาะสม (10 – 15 นาที)

  • เดิน, เดินเร็ว
  • วิ่งเหยาะ
  • ถีบจักรยานอยู่กับที่ (โดยไม่มีความฝืด ถ้ามีโรคข้อเข่าเสื่อม)
  • เล่นปิงปอง
  • เล่นเปตอง
  • เล่นแบดมินตัน (ข้างละ 3 คน)
  • ว่ายน้ำ
  • เดินในน้ำ บริหารร่างกายในน้ำ
  • มวยจีน, ไทยเก็ก, ชี่กง
  • ไม้พลองป้าบุญมี
  • เต้นแอโรบิก (ไม่กระโดด)

ฯลฯ

3.ลดสภาวะร่างกาย (5 – 10 นาที)

การลดสภาวะร่างกายให้ปฏิบัติภายหลังกายออกกำลังกายเริ่มจะเสร็จสิ้น 1 – 2 นาที แล้วยืดกล้ามเนื้อในท่าเดิมที่ปฏิบัติในขั้นยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อปรับสภาพร่างกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงตามลำดับ และคลายกล้ามเนื้อ ทำให้ไม่มีอาการปวดเมื่อยภายหลังการออกกำลังกายเสร็จสิ้นลง

รวมเวลาทั้งสิ้น 20 – 35 นาที/ครั้ง ความบ่อย 3 วัน/สัปดาห์ หรือทุกวัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *