ข้อควรระวังในการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน

ยาเม็ดคุมกำเนิด

ชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด

ชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด สามารถแบ่งตามชนิดของฮอร์โมนได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
    1. Monopahsic หรือ fixed dose pills ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนสังเคราะห์ของเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณเท่ากันทุกเม็ด โดยใน 1 แผงจะมี 21 เม็ดหรือ 28 เม็ดโดย 7 เม็ดสุดท้ายจะไม่มีฮอร์โมน ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้สามารถแบ่งตามปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ 3 กลุ่ม คือ
      1. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนปริมาณสูง คือ มีเอสโตรเจน 50 ไมโครกรัม และปริมาณโปรเจสโตเจนก็มีมาก เนื่องจาก มีปริมาณฮอร์โมนสังเคราะห์สูง จึงมีภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงมาก
      2. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนปริมาณต่ำ คือ มีเอสโตรเจนน้อยกว่า 50 ไมโครกรัม และปริมาณโปรเจนโตเจนก็น้อยกว่ากลุ่มแรกที่ใช้กันมากมีเอสโตรเจนเพียง 30 – 35 ไมโครกรัม
      3. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนปริมาณต่ำมาก คือ มีเอสโตรเจนเพียง 20 ไมโครกรัม ยาในกลุ่มนี้มีข้อดี คือ มีเอสโตรเจนต่ำ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงน้อย แต่ก็มีข้อเสีย คือ อาจทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย หรือรอบเดือนอาจขาดหายไปได้ และถ้าลืมรับประทานโอกาสที่จะตั้งครรภ์มีสูงกว่า 2 กลุ่มแรก
    2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด Multiphasic pills นี้ มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณที่ไม่เท่ากันทุกเม็ด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิด biphasic ที่มีฮอร์โมนต่างกันใน 2 ระดับ และชนิด triphasic เป็นยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนต่างกันใน 3 ระดับ ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดประเภทนี้จะต้องรับประทานยาเรียงตามลำดับ ห้ามรับประทานยาข้ามโดยเด็ดขาด
  2. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีโปรเจสโตเจนอย่างเดียว ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนอย่างเดียว บางคนเรียก minipill คือ มีโปรเจสโตเจนปริมาณน้อยและเท่ากันทุกเม็ด แต่ละแผงจะมี 28 หรือ 35 เม็ด ยาคุมชนิดนี้ไม่มีอาการข้างเคียงของเอสโตรเจน แต่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพราะการระงับไข่ตกไม่ค่อยแน่นอน

การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

  • โดยทั่วไปยาเม็ดคุมกำเนิดเริ่มต้นรับประทานระหว่างวันที่ 1 – 5 ของรอบระดู โดยในแผลแรกให้เริ่มรับประทานในช่วงวันที่ 1 – 5 ของรอบระดู และควรรับประทานให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด ยาทุกเม็ดจะมีฮอร์โมน เมื่อรับประทานยาหมดแผงแล้ว ต้องงดเว้นการรับประทานยา 7 วัน เพื่อให้มีระดู แล้วจึงเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดแผงใหม่
  • สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ดนั้น ยา 21 เม็ดแรกเป็นฮอร์โมน ส่วนยาอีก 7 เม็ดเป็นยาหลอก ดังนั้น จึงต้องเริ่มรับประทานยาที่เป็นฮอร์โมนวันละเม็ดได้ทุกวันไม่ต้องงดยา ซึ่งประจำเดือนจะมาในช่วงการรับประทานยาหลอก 7 เม็ด

การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเมื่อมีการลืม

  • ลืมรับประทานยาเม็ดฮอร์โมน 1 เม็ด รีบรับประทานยาเม็ดที่ลืมทันทีเมื่อนึกได้ และรับประทานยาเม็ดต่อไปตามเวลาปกติที่เคยรับประทาน หากนึกได้พร้อมเม็ดต่อไปให้ทานพร้อมกัน 2 เม็ดในเวลาปกติที่เคยรับประทาน
  • ลืมรับประทานยาเม็ดฮอร์โมน 2 เม็ด ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่ม 1 เม็ด ในเวลาปกติที่เคยรับประทานเป็นเวลา 2 วัน และวันถัดมาให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดวันละ 1 เม็ดในแผลตามปกติจนหมดแผง
  • ลืมรับประทานยาเม็ดฮอร์โมน 3 เม็ด ให้หยุดรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดในรอบระดูนั้น แล้วรอให้ประจำเดือนมาจึงเริ่มรับประทานตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว
  • ลืมรับประทานยาหลอก ให้รับประทานยาไปตามปกติ

ข้อห้ามของการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

  1. สตรีที่ให้นมบุตร หรืออยู่ในช่วงหลังคลอดน้อยกว่า 6 สัปดาห์
  2. มีประวัติ หรือป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease / stroke)
  3. โรคลิ้นหัวใจที่มีภาวะแทรกซ้อน
  4. สตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป และสูบบุหรี่
  5. เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  6. ปวดศีรษะ migraine หรืออายุ 35 ปีขึ้นไป
  7. โรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนของระบบหลอดเลือด
  8. เป็นหรือเคยเป็นเส้นเลือดดำอุดตัน
  9. การผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนพักเป็นระยะเวลานาน
  10. สตรีที่มีแนวโน้มความเสี่ยงต่อการผิดปกติของการอุดตันของเส้นเลือด
  11. มะเร็งเต้านม
  12. โรคตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง และโรคตับแข็ง
  13. มีก้อนหรือเป็นมะเร็งที่ตับ

อาการข้างเคียงของการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

  1. คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการที่พบได้ในระยะเริ่มต้นรับประทานยา 1 – 2 แผงแรก แนะนำให้รับประทานยาหลังอาหารเย็น หรือก่อนนอน
  2. ปวดศีรษะ ตึงคัดเต้านม แนะนำให้เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ
  3. หน้าเป็นสิว ฝ้า ถ้าหน้าเป็นฝ้า แนะนำให้เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ รวมถึงหลีกเลี่ยงแสงแดด ใช้ครีมกันแดด หรือครีมป้องกันฝ้า ถ้าหน้าเป็นสิว แนะนำให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนที่มีฤทธิ์ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด
  4. เลือดออกกะปริดกะปรอย
  5. ไม่มีประจำเดือน
  6. ความดันโลหิตสูง แนะนำให้เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ รวมทั้งควรดูแลการออกกำลังกาย อาหาร และการพักผ่อนลดคววามเครียด
  7. น้ำหนักตัวเพิ่ม แนะนำให้เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ รวมทั้งควรดูแลการออกกำลังกาย อาหาร และการพักผ่อนลดความเครียด
  8. ความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนแปลง
  9. อารมณ์เปลี่ยนแปลง
  10. อาการอาเจียนท้องเสียรุนแรง ขณะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน เป็นยาที่ใช้รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ใช้มี 2 ชนิด คือ ชนิดฮอร์โมนเดี่ยวและชนิดฮอร์โมนรวม

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ประกอบด้วย ฮอร์โมนโปรเจสโตเจนปริมาณสูง ในรูปของ levonorgestrel 750 ไมโครกรัม วิธีใช้ คือ รับประทานยานี้ครั้งแรก 1 เม็ดทันที่ที่ได้ยา แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ และอีก 12 ชั่วโมงต่อมาให้รับประทานซ้ำอีก 1 เม็ด
  2. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ชนิดฮอร์โมนรวม เป็นการนำเอายาเม็ดคุมกำเนิดขนาดปกติที่มีเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน มีส่วนประกอบของ ethinylestradiol 50 ไมโครกรัม และ levonorgestrel 250 ไมโครกรัม หรือ norgestrel 500 ไมโครกรัมมาใช้ โดยรับประทานยานี้ครั้งแรก 2 เม็ดทันทีที่ได้ยา แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมงหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ และ 12 ชั่วโมงต่อมาให้รับประทานซ้ำอีก 2 เม็ดหรือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณฮอร์โมนขนาดต่ำ คือ มีส่วนประกอบของ ethinyl estradiol 30 ไมโครกรัม และ levonorgestrel 150 ไมโครกรัม หรือ notgestrel 300 ไมโครกรัม โดยรับประทานยานี้ครั้งแรก 4 เม็ดทันทีที่ได้ยาภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ และอีก 12 ชั่วโมงต่อมาให้รับประทานซ้ำอีก 4 เม็ด

ข้อควรระวังในการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน

  • การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินควรรับประทานทันที และคำนึงถึงความสะดวกที่จะรับประทานชุดที่สองด้วย ในอีก 12 ชั่วโมงต่อมา
  • ถ้ารับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง มีการอาเจียน ให้รับประทานยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินเพิ่มอีก 1 ชุดทันที
  • ต้องรับประทานยาตามจำนวนเม็ดที่แนะนำไว้ การรับประทานยามากเกินกว่าที่แนะนำไว้ จะไม่ใช่วยให้ประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์สูงขึ้น แต่จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ไม่ควรเลื่อนระยะเวลาการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินออกไปโดยไม่จำเป็น เพราะประสิทธิภาพของยาจะลดลงไปตามระยะเวลาการรับประทานที่เลื่อนออกไป
  • รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินพร้อมอาหารหรือนมก่อนนอน เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ใช้ถุงยางอนามัยจนกว่าจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งต่อไป
  • ถ้าประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ 1 สัปดาห์ ควรทดสอบการตั้งครรภ์

ประสิทธิภาพยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน

การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินอย่างถูกต้องภายหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันการตั้งครรภ์ พบว่า มีอัตราการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ร้อยละ 2 ผู้ที่ไม่ได้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินจะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 8 หรือกล่าวได้ว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน สามารถลดภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้เพียงร้อยละ 75 เท่านั้น

โดยสรุปแล้ว ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินมีประสิทธิภาพต่ำกว่าวิธีคุมกำเนิดแบบปกติทั่ว ๆ ไป ทั้งนี้ เนื่องจาก อัตราการตั้งครรภ์ในผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เริ่มต้นรับประทานยา และช่วงเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ว่า อยู่ในช่วงใดของรอบเดือน ดังนั้น ถ้านำเอายาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินมาใช้บ่อยครั้ง จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล้มเหลวได้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงไม่ควรจะนำเอายาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินมาใช้เพื่อคุมกำเนิดเป็นประจำ

ขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง เพศศึกษาและการวางแผนครอบครัว โดยอาจารย์จิตตรัตน์ ตันเสนีย์ จาก http://www.libarts.mju.ac.th/LibDocument/EBook/013/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%208%20%20%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A7.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *