ยาฉีดคุมกำเนิด

ชนิดของยาฉีดคุมกำเนิด

ชนิดของยาฉีดคุมกำเนิด เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ มี 2 ชนิด คือ

  1. ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนรวม ประกอบด้วย โปรเจสโตเจน และฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนรวม จะใช้คุมกำเนิดได้นาน 1 เดือน แต่ไม่ค่อยจะได้รับความนิยม เพราะจะต้องฉีดบ่อยทุกเดือน
  2. ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนอย่างเดียว แบ่งเป็น
    1. Norethisterone enanthate (NET-EN) เป็นอนุพันธ์ของ 19-nortestosterone ขนาด 200 มิลลิกรัม ละลายในน้ำมัน บรรจุในหลอดขนาด 1 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อใช้คุมกำเนิดได้นาน 2 เดือน เดิมยาฉีดคุมกำเนิดชนิดนี้เคยใช้อยู่ในโครงการวางแผนนครอบครัวแห่งชาติ แต่ไม่ได้รับความนิยม
    2. Depot medroxy progesterone acetate (DMPA) เป็นอนุพันธ์สังเคราะห์ของ 17-hydroxy progesterone มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขนาดเล็ก ละลายตกตะกอน ขนาด 150 มิลลิกรัม บรรจุในขวดขนาด 3 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก ยาจะดูดซึมช้า ๆ เข้ากระแสเลือด ใช้คุมกำเนิดได้นาน 3 เดือน

การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด

  • การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด ควรจะฉีดยาคุมกำเนิดเข็มแรกภายใน 5 – 7 วันแรกของรอบประจำเดือน ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาฉีดคุมกำเนิดภายหลังวันที่ 7 ของรอบประจำเดือน ควรงดการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้ถุงยางอนามัยไปอีก 1 สัปดาห์หลังจากฉีดยา
  • ถ้าสตรีนั้นมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือจำรอบประจำเดือนตนเองไม่ได้ หรือหลังคลอดแล้ว 6 เดือน ประจำเดือนยังไม่มา แต่ยังต้องการคุมกำเนิดชนิดฉีด ควรตรวจก่อนว่า มีการตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าสตรีไม่มีการตั้งครรภ์ก็สามารถรับการฉีดยาคุมกำเนิดได้ โดยสตรีจะต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางอนามัยไปอีก 1 สัปดาห์ หลังจากฉีดยาคุมแล้ว มารดาหลังคลอดลูกน้อยกว่า 6 เดือน ให้นมบุตรและยังไม่มีประจำเดือน สามารถจะใช้ยาฉีดคุมชนิดนี้ได้เลย แต่ถ้าสตรีมีประจำเดือนแล้วควรเริ่มเข็มแรกไม่เกิน 7 วันของรอบประจำเดือน
  • สตรีที่ใช้วิธีคุมกำเนิดฮอร์โมนอยู่ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมน สามารถเปลี่ยนมาใช้ยาฉีดคุมกำเนิดได้ทันที โดยไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดอื่นอีก 7 วัน
  • สตรีที่ใช้วิธีคุมกำเนิดที่ไม่ใช่ฮอร์โมน เช่น ห่วงอนามัย หรือถุงยางอนามัย สามารถเปลี่ยนมาใช้วิถีคุมกำเนิดชนิดฉีดได้ ถ้าแน่ใจว่า ไม่ตั้งครรภ์และอยู่ในช่วง 7 วันของรอบประจำเดือนและสามารถถอดห่วงได้ในช่วงนั้น ถ้าเกินวันที่ 7 ของรอบประจำเดือนก็ฉีดยาได้ โดยต้องงดการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้ถุงยางอนามัยไปอีก 7 วันหลังจากฉีดยาแล้ว และสามารถถอดห่วงได้ในรอบประจำเดือนถัดไป
  • สตรีที่ไม่มีประจำเดือนหรือประจำเดือนไม่ปกติ ควรได้รับคำแนะนำถึงอาการข้างเคียงของการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
  • สตรีหลังแท้งควรฉีดยาภายใน 7 วันหลังแท้ง

ข้อห้ามใช้ยาฉีดคุมกำเนิด

ข้อห้ามการใช้ยาฉีดคุมกำเนิดโดยเด็ดขาด WHO eligibility criteria category 4

  1. มะเร็งเต้านม
  2. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ

ข้อห้ามการใช้ยาฉีดคุมกำเนิดเชิงสัมพันธ์ WHO eligibility criteria category 3

  1. มารดาหลังคลอดใหม่ไม่ถึง 6 สัปดาห์ ที่เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา ยังไม่ควรฉีดยาคุมกำเนิดในช่วงนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานผลเสียของยาฉีดคุมกำเนิดต่อการหลั่งน้ำนม หรือการเจริญเติบโตของทารก
  2. ความดันโลหิตสูงกว่า 160/100 มม. ปรอท และมีโรคของหลอดเลือด
  3. โรคเส้นเลือดอุดตัน
  4. โรคหัวใจขาดเลือด
  5. เป็น migraine ที่มี aura
  6. เคยเป็นมะเร็งเต้านมเกินกว่า 5 ปี
  7. เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ หรือมีโรคไต โรคเส้นเลือด
  8. กำลังเป็นโรคตับอักเสบ หรือโรคตับแข็ง
  9. เนื้องอกหรือมะเร็งตับ

อาการข้างเคียงของการใช้ยาฉีดคุมกำเนิดและอาการที่ต้องกลับไปพบแพทย์

  1. ประจำเดือนกะปริดกะปรอย มักจะเกิดในเข็มแรก ๆ ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ หลังจากฉีดยาเข็มที่ 2 – 3 ประจำเดือนกะปริดกะปรอยจะน้อยลง และจะขาดประจำเดือนมากขึ้น แต่ถ้ามีประจำเดือนกะปริดกะปรอยนานเกินไป หรือเกิดขึ้นหลังจากไม่มีประจำเดือนมานาน ควรหาสาเหตุทางนรีเวช เพื่อให้การรักษาหรือส่งต่อ แต่ถ้าไม่มีโรคทางนรีเวชและยังมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยอยู่ ควรเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด
  2. มีประจำเดือนมากหรือมีนานกว่า 8 วัน หรือมีเป็นสองเท่าของประจำเดือนปกติพบได้น้อยให้คำแนะนำว่า จะเป็นในช่วงเข็มแรก แต่ถ้ามีนานเกินไป ควรหาสาเหตุทางนรีเวช เพื่อให้การรักษาหรือส่งต่อ แต่ถ้าไม่มีโรคทางนรีเวชและยังมีประจำเดือนมากอยู่ ควรเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด
  3. ไม่มีประจำเดือน ซึ่งควรให้คำปรึกษากับผู้รับบริการว่าไม่มีอันตรายใด ๆ เลือดประจำเดือนไม่ใช่ของเสีย การไม่มีประจำเดือนทำให้ไม่สูญเสียเลือด ซึ่งถ้าไม่ยอมรับ ควรเปลี่ยนวิธีอื่น
  4. น้ำหนักตัว อาจขึ้นได้ 1 – 2 กิโลกรัมใน 1 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย ถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ควรหาสาเหตุอื่นด้วย

ผลดีของการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด

  • ประสิทธิภาพสูง
  • มีความเป็นส่วนตัว ถ้าไม่บอกก็จะไม่มีใครทราบว่า ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
  • สามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 3 เดือน
  • ไม่มีผลกับการมีเพศสัมพันธ์ อาจจะทำให้ดีขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะตั้งครรภ์
  • ไม่ต้องรับประทานยาคุมกำเนิดทุกวัน
  • สามารถเลื่อนการนัดได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์
  • ใช้ได้ในทุกกลุ่มอายุ
  • สามารถใช้ได้ในแม่ที่ให้นมบุตร โดยคุณภาพน้ำนมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • ไม่มีอาการข้างเคียงของเอสโตรเจน
  • ป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูก มะเร็งรังไข่ เนื้องอกในมดลูก
  • ไม่เกิดโรคโลหิตจาง เพราะส่วนใหญ่ผู้รับบริการยาฉีดคุมกำเนิดนาน ๆ มักไม่มีประจำเดือน

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยยาฉีด

ในสตรีที่คุมกำเนิดด้วยยาฉีด จะมีอัตราการตั้งครรภ์ 0.3 รายในสตรี 100 คน ที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือนในเวลา 1 ปี อัตราการตั้งครรภ์จะสูงขึ้น เมื่อได้รับยาฉีดไม่ตรงเวลาหรือขาดหายไป

ประสิทธิภาพของยาฉีดคุมกำเนิดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ฉีดยาเข็มแรก และเทคนิคของการฉีดยา การศึกษาในประเทศไทยพบอัตราการตั้งครรภ์ 0.16 ในสตรี 100 คน เมื่อมีการฉีดยาเข็มแรกใน 8 วันแรกของรอบประจำเดือน และพบอัตราการตั้งครรภ์ 0.62 รายในสตรี 100 คนที่ฉีดยาเข็มแรกหลังวันที่ 8 ขนาดของยาควรเต็มจำนวนที่กำหนดและระยะเวลาฉีดไม่ควรช้าเกินไป ยาฉีดชนิด 3 เดือนไม่ควรเกินกำหนด 2 สัปดาห์ และชนิด 1 เดือนไม่ควรเกินกำหนด 5 วัน นอกเหนือจากนี้ ต้องแน่ใจว่า ไม่ตั้งครรภ์จึงจะฉีดเข็มต่อไปได้

ขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง เพศศึกษาและการวางแผนครอบครัว โดยอาจารย์จิตตรัตน์ ตันเสนีย์ จาก http://www.libarts.mju.ac.th/LibDocument/EBook/013/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%208%20%20%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A7.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *