ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ชนิดของห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ชนิดของห่วงอนามัยคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ห่วงอนามัยชนิดธรรมดา หมายถึง ห่วงอนามัยคุมกำเนิดที่ไม่มีสารช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีใช้แล้ว
  2. ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดมีสารช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ หมายถึง ห่วงอนามัยที่มีสารบางอย่างที่ออกฤทธิ์ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ หรือช่วยลดอาการข้างเคียง ได้แก่
    1. ห่วงอนามัยคุมกำเนิดทองแดง เป็นห่วงอนามัยที่มีสารทองแดง ประกอบอยู่ด้วย
    2. ห่วงอนามัยคุมกำเนิดฮอร์โมน เป็นห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์อยู่

การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ห่วงอนามัยคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับสตรีที่

  1. ชอบวิธีที่ไม่ต้องปฏิบัติทุกวันหรือต้องปฏิบัติก่อนจะมีเพศสัมพันธ์
  2. กำลังให้นมบุตรและต้องการคุมกำเนิด
  3. ต้องการใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้ได้นาน
  4. มีบุตรตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
  5. มีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ต่ำ เช่น ผู้ที่ไม่มีการส่ำส่อนทางเพศ

ข้อห้ามในการใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดโดยเด็ดขาด ตาม WHO eligibility criteria category 4 ได้แก่

  1. ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ เพราะจะเกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ได้มาก
  2. หลังคลอดหรือหลังแท้งติดเชื้อ
  3. มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรือมีโรคติดเชื้อในระบบสืบพันธ์ภายในระยะเวลา 3 เดือน รวมทั้งเป็นวัณโรคในอุ้งเชิงกราน
  4. มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือประจำเดือนออกนาน ต้องหาสาเหตุและรักษาให้หายก่อน
  5. มะเร็งของอวัยวะสืบพันธ์สตรี ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งเนื้อรก ต้องรีบให้การดูแลรักษา
  6. เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกที่มีรูปร่างโพรงมดลูกผิดปกติ หรือมดลูกพิการแต่กำเนิด

ข้อห้ามในการใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดเชิงสัมพันธ์ตาม WHO eligibility criteria category 3

  1. หลังคลอดตั้งแต่ 2 วันขึ้นไปจนถึง 4 สัปดาห์ โอกาสห่วงหลุด และมีการอักเสบติดเชื้อได้มาก
  2. กำลังรักษาหรือติดตามผลการรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก (molar pregnancy หลังจากได้เอา mole ออกแล้ว) การใส่ห่วงอนามัยอาจจะมีเลือดออกผิดปกติ ทำให้แปลผลการตรวจรักษาได้ยาก
  3. มะเร็งรังไข่
  4. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการอักเสบของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน รวมทั้งการติดเชื้อเอชไอวี (โรคเอดส์) และมีคู่ร่วมเพศหลายคน (แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยจะดีที่สุด)
  5. โรคทางอายุรกรรมที่มีโอกาสเกิดการอักเสบได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ หรือกำลังรักษาโรคด้วยสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิต้านทาน เป็นต้น
  6. ปวดประจำเดือนมาก การใส่ห่วงอนามัยอาจจะทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้น ยกเว้น ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน จะลดอาการปวดประจำเดือนและลดปริมาณประจำเดือนได้
  7. โรคโลหิตจาง เพราะการใส่ห่วงอนามัยอาจจะทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมาก หรือออกนาน หรือออกผิดปกติ ทำให้โลหิตจางมากขึ้น
  8. เคยมีประวัติแพ้ทองแดง
  9. มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด

ผลดีของการใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

  1. สตรีที่ใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด ประจำเดือนจะมาเป็นปกติ ไม่มีผลกระทบต่อรอบเดือน
  2. สตรีกลุ่มอายุมากขึ้น เช่น อายุเกิน 40 ปี ไม่ต้องการทำหมันสามารถให้บริการใส่ห่วงอนามัยได้ เนื่องจาก ไม่มีผลทาง metabolism หรือมีอาการแทรกซ้อนน้อยกว่าการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด และยังทราบด้วยว่า ตนเองเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือยัง สตรีอายุมากสามารถใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดได้ถึง 1 ปี หลังหมดประจำเดือน เมื่อผลแน่นอนในการป้องกันการตั้งครรภ์ปัจจุบัน ห่วงอนามัยคุมกำเนิดที่ใส่ให้ตามสถานบริการของรัฐเป็นชนิดที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ
  3. ห่วงอนามัยคุมกำเนิดไม่มีผลกระทบต่อน้ำนม ดังนั้น จึงใช้ได้สำหรับสตรีที่กำลังให้นมบุตร

ขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง เพศศึกษาและการวางแผนครอบครัว โดยอาจารย์จิตตรัตน์ ตันเสนีย์ จาก http://www.libarts.mju.ac.th/LibDocument/EBook/013/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%208%20%20%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A7.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *