การนับระยะปลอดภัย

การคุมกำเนิดด้วยการนับระยะปลอดภัย เป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวโดยจะงดการร่วมเพศเป็นบางเวลา โดยจะงดการร่วมเพศในช่วงเวลาที่จะตั้งครรภ์ได้ของแต่ละรอบระดู โดยหลักสำคัญ คือ ต้องหาวันที่มีการตกไข่ได้แน่นอน จึงต้องมีการบันทึกประวัติรอบระดูที่มาแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อต้องการทราบรอบระดูที่สั้นที่สุดและยาวที่สุดของตนเอง แล้วนำมาคำนวณหาระยะปลอดภัยและระยที่จะตั้งครรภ์ได้

วิธีการหาระยะปลอดภัยจากการบันทึกประจำเดือน

  1. ต้องบันทึกการมีรอบประจำเดือนทั้ง 12 เดือนให้ละเอียด
  2. การนับระยะรอบเดือน เริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนไปจนถึงวันสุดท้ายก่อนการมีประจำเดือนครั้งต่อไป
  3.  ในการบันทึกประจำเดือนทั้ง 12 เดือน เดือนที่ 12 ต้องเป็นเดือนปัจจุบันเสมอ และตัดเดือนที่เก่าสุดออกไปเช่นกัน
  4. ในกรณีที่เริ่มใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีนี้ ควรจะสมมุติว่า รอบประจำเดือนของตนที่สั้นที่สุดและยาวที่สุด คือ ยาวที่สุดประมาณ 33 วัน และสั้นที่สุด คือ 23 วัน แล้วจึงเพิ่มรอบประจำเดือนใหม่เข้าไปทุก ๆ เดือน เมื่อบันทึกไปได้ 8 รอบเดือน จึงตัดเดือนที่สมมติออก ให้หาเวลาที่ปลอดภัยจากข้อมูล 8 เดือน จากนั้นบันทึกต่อไปจนครบ 12 เดือน

หลักการคำนวณหาระยะปลอดภัยในการนับวัน

  1. ในรอบประจำเดือน 28 วันตามปกติไข่จะสุกในวันที่ 14 ของรอบประจำเดือน แต่วันไข่สุกอาจคิดก่อนหรือหลังได้ 2 วัน คือ ระหว่างวันที่ 12 – 16 ของรอบประจำเดือน
  2. ภายหลังการร่วมเพศ อสุจิจะยังมีชีวิตอยู่และคงค้างอยู่ในท่อนำไข่พร้อมที่จะผสมกับไข่ได้จนถึงประมาณ 48 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ระยะเวลาประมาณ 2 วันก่อนเวลาที่ไข่อาจจะสุกจึงถือว่า เป็นระยะที่ไม่ปลอดภัยด้วย ซึ่งในคนที่มีรอบประจำเดือน 28 วัน ระยะนี้จะตรงกับวันที่ 10 หรือ 11 ของรอบประจำเดือน
  3. เมื่อไข่ตกแล้วสามารถมีชีวิตอยู่รับการผสมกับอสุจิได้เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้น ระยะเวลา 1 วันหลังไข่ตก ต้องถือว่า เป็นวันที่ไม่ปลอดภัยด้วย โดยในคนที่มีรอบประจำเดือน 28 วัน ระยะนี้จะตรงกับวันที่ 17 ของรอบเดือน

ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนรอบ 28 วัน ระยะที่ไม่ปลอดภัยจึงอยู่ระหว่างวันที่ 10 – 17 ของรอบประจำเดือน

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ใช้กันมานานของช่วงเวลาปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ คือ ช่วงหน้า 7 หลัง 7 โดยหน้า 7 จะนับ 7 วันก่อนวันที่คาดว่า จะมีประจำเดือนวันแรกและหลัง 7  จะนับวันที่มีประจำเดือนวันแรกเป็นหลัง 7 วันที่ 1 นับไปจนกระทั่งครบ 7 วัน ซึ่งวิธีการนี้จะใช้ได้ดีกับผู้หญิงที่มีระดูอย่างสม่เสมอทุกเดือนและมีรอบประจำเดือนมากกว่าหรือเท่ากับ 28 วัน

ทั้งนี้ วิธีนี้จะได้ผลไม่แน่นอนกับผู้หญิงที่มีรอบประจำเดือนที่สั้นที่สุด และยาวที่สุดแตกต่างกันเกิน 10 วันหรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งหากมีการเจ็บป่วย ความเครียด จะทำให้รอบเดือนคลอดเคลื่อนได้ ผลการคุมกำเนิดไม่ค่อยแน่นอน จึงไม่เหมาะสมกับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

ขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง เพศศึกษาและการวางแผนครอบครัว โดยอาจารย์จิตตรัตน์ ตันเสนีย์ จาก http://www.libarts.mju.ac.th/LibDocument/EBook/013/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%208%20%20%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A7.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *