ข้อห้ามในการใช้ยาฝังคุมกำเนิด

ชนิดยาฝังคุมกำเนิด

ชนิดยาฝังคุมกำเนิด มี 2 ชนิด

  1. ชนิดสลายตัว (biodegradable) เมื่อฝังหลอดบรรจุยาเข้าไปในร่างกายแล้ว ฮอร์โมนจะกระจายสู่กระแสเลือด และหลอดยาจะค่อย ๆ สลายตัวไปเมื่อครบอายุการใช้งาน โดยไม่ต้องเอาออกปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย
  2. ชนิดไม่สลายตัว (non-biodegradable) ฮอร์โมนที่บรรจุอยู่ในหลอดบรรจุยา (capsule) เมื่อฝังเข้าไปในร่างกายจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดเหมือนชนิดสลายตัว แต่เมื่อครบอายุการใช้งานแล้ว จะต้องถอดหลอดยาออกจากร่างกาย ปัจจุบันมีใช้ 3 แบบ คือ
    1. ยาฝังคุมกำเนิดชนิด 6 หลอด ชื่อการค้า Norplant R ภายหลังฝังยาระดับฮอร์โมนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ ลดลงภายในหนึ่งเดือน และจะอยู่ในระดับคงที่เมื่อใช้นาน 5 – 7 ปีขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้รับบริการ ประสิทธิผลจะลดลงในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และภายหลังถอดยาฝังออก ฮอร์โมนจะหมดไปภายใน 1 สัปดาห์
    2. ยาฝังคุมกำเนิด ชนิด 2 แท่ง ชื่อการค้าว่า Jadelle R ใช้ได้นาน 5 ปี
    3. ยาฝังคุมกำเนิดชนิด 1 แท่ง ชนิดที่มีใช้ในประเทศไทยมีชื่อการค้าว่า อีโตแพลน (Etoplan R) หรืออิมพลานอน (Implanon R) ประกอบด้วย ฮอร์โมนสังเคราะห์โปรเจสโตเจน ชื่อ อีโทโนเจสตรีล (etonogestrel หรือ ETG) ยาฝังคุมกำเนิดชนิดนี้สะดวก และใช้เวลาน้อยในการฝังและถอด และลดปัญหาการติดเชื้อ สามารถระงับการตกไข่ได้ดีแต่ไม่รบกวน หรือยับยั้งการทำงานส่วนอื่น ๆ ของรังไข่ สามารถยับยั้งการตกไข่ได้ภายใน 1 วัน และออกฤทธิ์นานถึง 3 ปี หลังถอดแท่งยาออกจะมีภาวการณ์ตกไข่เกิดขึ้นกายใน 3 สัปดาห์ จึงสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ

ข้อห้ามในการใช้ยาฝังคุมกำเนิด

ข้อห้ามโดยเด็ดขาดในการใช้ยาฝังคุมกำเนิด (absolute contraindication) หรือ WHO eligibility criteria category 4(6)

  1. ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์
  2. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  3. สงสัยหรือเป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์รวมทั้งเต้ามนม
  4. มะเร็งเต้านม
  5. มีข้อห้ามในการใช้โปรเจสโตเจน หรือมีเนื้องอกที่สัมพันธ์กับการใช้โปรเจสโตเจน
  6. มีปฏิกิริยาไวต่อส่วนประกอบของแท่งหรือหลอดบรรจุฮอร์โมน

ข้อควรระมัดระวังในการใช้ยาฝังคุมกำเนิด หรือ WHO eligibility criteria category 3(6)

  1. เคยเป็นโรคหัวใจ เช่น myocardial infarction และโรคหลอดเลือด เช่น deep vein thrombosis
  2. เป็นสิวอย่างรุนแรง
  3. ความดันโลหิตสูงในระดับที่ควบคุมไม่ได้
  4. เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
  5. กำลังเป็นตับอักเสบ หรือโรคตับแข็ง
  6. เนื้องอกหรือมะเร็งตับ
  7. เป็น migraine
  8. อาการซึมเศร้ารุนแรง (ยาที่ใช้รักษาอาจจะมีปฏิกิริยากับยาฝังคุมกำเนิด)
  9. สตรีที่รับการฝังยาคุมกำเนิด ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยระหว่างที่มีการใช้ยาที่มีปฏิกิริยากับยาฝังคุมกำเนิด (drug interaction) และหลังการใช้ยาอีก 7 วัน

อาการข้างเคียงในการใช้ยาฝังคุมกำเนิดและอาการในการใช้ยาฝังคุมกำเนิดที่ต้องกลับมาพบแพทย์

อาการข้างเคียงในการใช้ยาฝังคุมกำเนิด

ผู้ที่ฝังยาคุมกำเนิด อาจจะมีเลือดออกทางช่องคลอดคล้ายยาฉีดคุมกำเนิด ได้แก่ อาการผิดปกติของเลือดประจำเดือน และอาการผิดปกติอื่น ๆ

  1. อาการเลือดออกทางช่องคลอด เป็นอาการข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีแต่ฮอร์โมนโปรเจสโตเจน และเป็นอาการที่พบได้บ่อย ผู้ที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดอาจจะมีเลือดออกทางช่องคลอด โดยเฉพาะในเดือนแรกที่ฝังยา และจะค่อย ๆ น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการผิดปกติของประจำเดือน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
    1. ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ มากหรือนานกว่าปกติ
    2. เลือดออกกะปริดกะปรอย
    3. ไม่มีประจำเดือน
  2. อาการข้างเคียงอื่น ๆ
    1. อาการผิดปกติบริเวณที่ฝังยาคุมกำเนิด ได้แก่ ปวด อักเสบ บวม ฟกช้ำ การหลุดหรือคลำพบหลอดยาฝังคุมกำเนิดบริเวณที่ฝังยา
    2. อาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น
      1. ปวดศีรษะ
      2. น้ำหนักตัวเพิ่ม
      3. การเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต
      4. สิว และอาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ของผิวหนัง
      5. อาการอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น การคัดตึงเต้านม แน่น อึดอัด คลื่นไส้ วิงเวียนและอารมณ์แปรเปลี่ยน

อาการที่ต้องกลับมาพบแพทย์

  1. หลังฝังยาแล้วมีอาการปวด อักเสบ หรือมีก้อนเลือด หรือรอยฟกช้ำมากผิดปกติ
  2. หลอดยาหลุด
  3. ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอดมาก หรือนานผิดปกติ แนะนำให้มาตรวจหาความผิดปกติถ้าไม่พบ อาจพิจารณาให้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
  4. วิตกกังวลมาก อาจจะพิจารณาให้ยาคลายความกังวล
  5. ปวดศีรษะมาก หรือปวดศีรษะไมเกรนร่วมกับการมีอาการทางระบบสมอง เช่น ตามัว มองไม่เห็นเป็นช่วง ๆ พูดไม่ชัด
  6. หิวน้ำบ่อย และน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น
  7. เป็นสิวรุนแรงมาก
  8. ปวดท้องน้อย ซึ่งต้องวินิจฉัยแยกโรค หาสาเหตุว่า เกิดจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำรังไข่ หรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการฝังยาคุมกำเนิด

  1. ควรฝังยาคุมกำเนิดระหว่างวันที่ 1 – 7 ของรอบประจำเดือน เพื่อจะได้แน่ใจว่าไม่ตั้งครรภ์
  2. หลังคลอดบุตร
    • ฝังยาคุมกำเนิดในช่วงหลังคลอด 4 – 6 สัปดาห์ จะดีที่สุด
    • อาจฝังยาคุมกำเนิดทันทีหลังคลอด
  3. หลังแท้งบุตรขณะอายุครรภ์ 1 – 3 เดือน ควรฝังยาคุมกำเนิดทันที และไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย หรืออาจฝังยาเมื่อมาตรวจหลังแท้ง 1 – 3 สัปดาห์ก็ได้ ถ้าไม่มีเพศสัมพันธ์มาตั้งแต่หลังแท้ง
  4. กรณีเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดจากยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ควรฝังยาฉีดคุมกำเนิดในวันถัดจากวันที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเม็ดที่มีฮอร์โมนเม็ดสุดท้าย แต่หากไม่สะดวกที่จะฝังยาตามกำหนดวันดังกล่าว สามารถฝังยาในช่วงที่ผู้รับบริการยังรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่ก็ได้ โดยแนะนำให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดต่อจนหมดแผง
  5. กรณีที่เปลี่ยนจากยาฉีดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนอย่างเดียว ให้ฝังยาในวันที่ครบกำหนดฉีดยาคุมกำเนิดได้เลย หรือฝังยาก่อนวันครบกำหนดฉีดยาคุมกำเนิดเข็มต่อไปก็ได้
  6. กรณีที่ผู้รับบริการฝังยาคุมกำเนิดครบกำหนดที่ต้องถอดออก และต้องการฝังยาต่ออีกให้ฝังยาในวันที่ถอดยาฝังออกได้เลย
  7. กรณีใส่ห่วงอนามัย สามารถฝังยาคุมกำเนิดในวันที่ 1 – 7 ของรอบประจำเดือนแล้วถอดห่วงออกได้เลย หรือฝังยาวันใดก็ได้และถอดห่วงออก แต่แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันแรกหลังฝังยา

ขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง เพศศึกษาและการวางแผนครอบครัว โดยอาจารย์จิตตรัตน์ ตันเสนีย์ จาก http://www.libarts.mju.ac.th/LibDocument/EBook/013/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%208%20%20%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A7.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *