แนวคิดเรื่องบุญในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

พระไตรปิฎกและอรรถกถาซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เป็นแหล่งรวบรวมพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากล่าวถึง “บุญ” โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. บุญส่วนที่เป็นเหตุ หมายถึง บุญในฐานะที่เป็นการกระทำ เรียกว่า “การทำบุญ”

2. บุญส่วนที่เป็นผล หมายถึง บุญในฐานะที่เป็นผลจากการกระทำเรียกว่า “ผลหรืออานิสงส์ของบุญ”

บุญส่วนที่เป็นเหตุในฐานะที่เป็นการกระทำ

“บุญ” ในฐานะที่เป็นการกระทำ หมายถึง การกระทำที่ดีที่เป็นกุศล อันได้แก่ การกระทำตามบุญกิริยาวัตถุ ประกอบด้วย ทาน ศีล และภาวนา เจตนา มุ่งเน้นการขัดเกลา และชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ช่วยชำระล้างอกุศลมูล ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้าย

“บุญ” ในฐานะที่เป็นการกระทำตามแนวคิดในพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาดังกล่าวนับว่า มีอิทธิพลต่อการผลิตตัวบทวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอความคิดการทำบุญเป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงกระทำ ซึ่งปรากฏอย่างสม่ำเสมอในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อทั้ง 4 ประเภท แสดงให้เห็นว่า ชาวพุทธนั้นต้องทำบุญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ “บุญ” ในฐานะที่เป็นการกระทำยังมีอิทธิพลต่อการนำเสนอความคิดการทำบุญเป็นการแสดงความกตัญญู โดยความกตัญญูนั้น ถือเป็นการกระทำที่ดี และเป็นคนสมบัติของการเป็นคนดีตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ทั้งความคิดการทำบุญเป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงกระทำ และความคิดการทำบุญเป็นการแสดงความกตัญญู จัดอยู่ในส่วนของบุญในฐานะที่เป็นการกระทำความดี อันเป็นส่วนสำคัญในการประกอบสร้างอุดมการณ์ชาวพุทธ

อุดมการณ์ชาวพุทธดังกล่าวนับเป็นการผลิตซ้ำและตอกย้ำความคิดเกี่ยวกับการทำบุญในฐานะของการทำความดี ซึ่งมีผลในการกำหนดพฤติกรรม และคุณลักษณะของสมาชิกในกลุ่มสังคมชาวพุทธให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นสมาชิกที่ดีในกลุ่มสังคมชาวพุทธ และเป็นคนดีในฐานะที่เป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม

บุญส่วนที่เป็นผลในฐานะที่เป็นผลจากการกระทำ

“บุญ” ในฐานะที่เป็นผลจากการกระทำ หมายถึง ผลจากการกระทำความดีของบุคคลซึ่งก็คือ ความสุข โดยความสุขที่เป็นผลจากบุญตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถานั้นเป็นความสุขใจ ความสบายใจ ความอิ่มเอมใจ หรือความยินดีในการทำบุญ เป็นความสุขที่เกิดจากการชำระ ขัดเกลาจิตใจ ให้ปราศจากกิเลส

“บุญ” ในฐานะที่เป็นผลจากการกระทำตามแนวคิดในพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการผลิตตัวบทวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ ในการนำเสนอความคิดบุญทำให้เกิดความสุข นำไปสู่การประกอบสร้างอุดมการณ์ความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอผลของการทำบุญที่ทำให้เกิดความสุขในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือเรียนรายวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งนำเสนอให้เห็นว่า ความสุขจากการทำบุญนั้น ได้แก่ ความสงบ ความเบิกบานสบายใจ รวมถึงการมีจิตใจที่สะอาดปราศจากกิเลส ซึ่งเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการทำบุญตามหลักพุทธศาสนา ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะหนังสือเรียนรายวิชาพระพุทธศาสนามุ่งให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุญตามหลักพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม ความสุขอันเป็นผลจากบุญ และการทำบุญตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และอรรถกถาอาจถูกตีความใหม่ กล่าวคือ วาทกรรมเกี่ยวกับบุญที่ปรากฏในหนังสือธรรมะ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์มุ่งเน้นความสุขทางกาย ซึ่งถือเป็นความสุขทางโลกหรือโลกียสุข อันได้แก่ การมีชีวิตอย่างราบรื่นไร้อุปสรรค การได้รับสิ่งที่พึงปรารถนาอันทำให้ชีวิตเกิดความสุขด้านต่าง ๆ ได้แก่ การมีสุขภาพแข็งแรง การมีทรัพย์สินเงินทอง การมีความรู้และสติปัญญา ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และการมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณที่ดี รวมถึงการมีความเป็นสิริมงคลที่ถือเป็นสิ่งที่ผู้ทำบุญปรารถนาจะให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ นับว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา เนื่องจาก จะทำให้เกิดสิ่งดีงามในชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสุข ผู้ผลิตวาทกรรมจึงนำความสุขลักษณะดังกล่าวมาถ่ายทอดในฐานะที่เป็นผลที่มนุษย์ปรารถนาจะให้เกิดขึ้นจากการทำบุญ ซึ่งมีผลโน้มน้าว และชักชวนให้ผู้บริโภควาทกรรมเกิดความปรารถนาที่จะทำบุญ โดยใช้ผลของการทำบุญเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาในการทำบุญ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *