อุดมการณ์โชคชะตา การแก้ไขดวงชะตา

อุดมการณ์โชคชะตา เป็นระบบความคิดที่เชื่อว่า ดวงชะตาหรือชีวิตของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่มีอำนาจในการควบคุมหรือกำหนดการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะอิทธิพลของดวงดาว เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตที่เกิดขึ้นล้วนถูกกำหนดไว้แล้ว มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อตกอยู่ในสภาวะที่มีเคราะห์ซึ่งทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ระบบความคิดนี้เป็นไปตามกรอบความคิดทางโหราศาสตร์และศาสตร์การพยากรณ์ซึ่งแฝงมากับวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ

การนำเสนอดังกล่าวแสดงให้เห็นความเชื่อและการยอมรับอำนาจของโชคชะตาที่สามารถกำหนดความเป็นไปของชีวิตของคนในสังคมตามแนวคิดเรื่องชะตานิยม ซึ่งชนกพร พัวพัฒนกุล (2556) กล่าวถึง แนวคิดเรื่องชะตานิยมไว้ว่า เป็นความเชื่อที่ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นถูกกำหนดโดยชะตากรรม และเป็นสิ่งที่คนเราไม่สามารถควบคุมได้ มนุษย์ไม่มีอำนาจที่จะกำหนดสิ่งต่าง ๆ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นพรหมลิขิตที่ชะตากรรมได้กำหนดไว้ก่อนแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้วยอิทธิพลของดวงดาว พระเจ้า เทพเจ้า เทวลิขิต หรือพรหมลิขิต ตามแต่ความเชื่อของคนในแต่ละสังคม

แนวคิดเรื่องชะตานิยมดังกล่าวส่งผลให้คนในสังคมพยายามหาวิธีการเพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงดวงชะตาให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตกอยู่ในสภาวะที่มีเคราะห์ที่ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ ทั้งนี้ การแก้ไขดวงชะตานั้นสามารถทำได้โดยการประพฤติตนให้สอดคล้องกับดวงชะตาหรือการกระทำให้ถูกโฉลกกับดวงชะตาโดยอาศัยหลักโหราศาสตร์ผสานกับหลักไสยาศาสตร์ (ปราณเวท, 2562)

อุดมการณ์โชคชะตาที่ถ่ายทอดผ่านวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะถือเป็นการผลิตซ้ำ ความเชื่อเรื่องโชคชะตาของคนในสังคม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนในสังคมจะเชื่อว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นถูกกำหนดโดยชะตากรรมและเป็นสิ่งที่คนเราไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือธรรมะได้ประกอบสร้างความคิดแก่ผู้บริโภควาทกรรมโดยแสดงให้เห็นว่าการทำบุญนั้นมีความสัมพันธ์กับดวงชะตา กล่าวคือ บุญมีผลต่อดวงชะตา ผลจากการทำบุญทำให้ดวงชะตาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนักให้แก่ผลจากการทำบุญให้ดำรงอยู่ในสังคมต่อไป

อุดมการณ์โชคชะตาในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะนั้นนำเสนอผ่านความคิดบุญมีผลต่อดวงชะตา โดยปรากฏร่วมกันในสื่อสาธารณะ 2 ประเภท ได้แก่ หนังสือธรรมะและหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือธรรมะและวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือพิมพ์นั้น นำความคิดความเชื่อเกี่ยวกับโชคชะตาหรือดวงชะตาซึ่งเป็นประเด็นที่คนในสังคมให้ความสนใจมาผสมผสานกับแนวคิดเกี่ยวกับบุญมาสร้างเป็นเนื้อหาหรือข่าวเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภควาทกรรมอันนำไปสู่ยอดจำหน่ายที่มีมากขึ้น

ด้านวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือเรียนนั้นมุ่งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับบุญตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาแก่นักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติในการพัฒนาตนเองและอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ส่วนวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในเว็บไซต์นั้นมุ่งเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับบุญ ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการทำบุญ รวมถึงเชิญชวนบุคคลให้เกิดความสนใจในการทำบุญและได้ร่วมกิจกรรมการทำบุญ ด้วยเหตุนี้วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือเรียนและวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในเว็บไซต์จึงไม่ปรากฏการนำเสนอความคิดและอุดมการณ์โชคชะตาดังกล่าว

อุดมการณ์โชคชะตาที่นำเสนอผ่านความคิดบุญมีผลต่อดวงชะตาในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือธรรมะและหนังสือพิมพ์แสดงให้เห็นว่าคนในสังคมาไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องโชคชะตายอมรับอำนาจของดวงชะตาว่าเป็นสิ่งที่มีอำนาจ มีอิทธิพล และมีผลในการกำหนดชีวิตและความเป็นไปของมนุษย์ เชื่อว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นถูกำหนดด้วยดวงชะตาไว้แล้ว มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้มีพื้นฐานมาจากความเชื่อตามคติโหราศาสตร์ ที่เชื่อว่า ดวงชะตาสามารถกำหนดชีวิตคนให้แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแตกต่างเรื่องเวลาเกิดของแต่ละคนซึ่งสัมพันธ์กับการโคจรของดวงดาวต่าง ๆ อันมีผลกระทบต่อมนุษย์โลก และสิ่งต่าง ๆ บนโลก ความคิดดังที่ได้กล่าวมาแสดงให้เห็นการยอมรับสิ่งที่มีอำนาจเหนือการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะอิทธิพลของดวงดาวในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไป

นอกจาก การยอมรับการมีอยู่ของ “โชคชะตา” แล้ว อุดมการณ์โชคชะตายังสร้างชุดความคิดที่แสดงให้เห็นว่า บุญกับโชคชะตามีความสัมพันธ์กัน ด้วยการนำเสนอให้เห็นว่า การทำบุญนั้นสามารถส่งผลให้โชคชะตาหรือดวงชะตาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ กล่าวคือ การทำบุญนั้นจะส่งผลให้มีดวงชะตาที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เคราะห์ที่มีอยู่นั้นหมดสิ้นไปหรือเบาบางลง การนำเสนอดังกล่าวแสดงให้เห็นการผสมผสานความคิดจากความเชื่อในทางโหราศาสตร์และคติทางพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังที่เนื่องน้อย บุญยเนตร (2537) กล่าวว่า

ความคิดเรื่องดวงชะตาซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างมโนทัศน์แบบโหราศาสตร์และมโนทัศน์บางส่วนของพุทธศาสนานี้มีอิทธิพลต่อการมองชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ปกครอง กลุ่ม “เจ้านาย” หรือกลุ่มชนชาวบ้านธรรมดา ในกลุ่มเจ้านายนั้นจะเห็นได้ว่า มีพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งที่ได้ทรงบวชเรียนในพุทธศาสนา และในขณะเดียวกัน ก็ได้ทรงศึกษาตำราโหราศาสตร์มาอย่างชำนาญ จนกระทั่ง พระพระราชนิพนธ์กวีนิพนธ์ทางโหราศาสตร์ไว้ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์ตำราจอมตรีภพอันเป็นตำราทำนายดวงชะตา โดยนับวัน เดือน ปี ที่เกิดจากตำราทางโหราศาสตร์โบราณที่ได้ทรงศึกษามา และในขณะเดียวกันก็ได้ทรงใช้แนวคิดเกี่ยวกับบุญกรรมในพุทธศาสนาอธิบายดวงชะตาด้วย ดังตอนหนึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

ตัวเราพระจอมเกล้า บำรุงเหล่าราษฎรสำราญ

เลี้ยงเสนาข้าราชการ ใช้แบบนี้ดีหนักหนาฯ

ตำรานี้ชื่อตรีภพ จงปรารภเร่งศึกษา

หญิงชายที่เกิดมา ตามชะตาชั่วและดีฯ

จงสำเร็จเสร็จสิ้นสิบทัศน์ ครั้งแจ้งชัดควรทำนาย

จะดีชั่วคนทั้งหลาย เป็นบุญกรรมหนุนนำมา

กล่าวได้ว่า การนำเสนออุดมการณ์โชคชะตาในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ นอกจากจะเป็นการผลิตซ้ำและตอกย้ำความคิดเกี่ยวกับโชคชะตา ซึ่งมีอยู่ในสังคมไทยแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นการยอมรับสิ่งที่มีอิทธิพลและมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของชีวิตแล้ว ยังสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการผสมผสานความคิดจากความเชื่อในทางโหราศาสตร์และคติทางพุทธศาสนาเข้าด้วยกันซึ่งเป็นความคิดที่ยังคงสืบทอดมาในปัจจุบัน

นอกจากนี้ อุดมการณ์โชคชะตายังมีส่วนช่วยโน้มน้าวให้ผู้บริโภควาทกรรมเปิดรับอุดมการณ์หรือความคิดอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้บริโภควาทกรรมเชื่อเรื่องอำนาจของดวงชะตามากเท่าใด ก็จะไม่ตั้งคำถาม ปฏิเสธ หรือโต้แย้งความคิดที่นำเสนอผ่านตัวบทวาทกรรม ในทางกลับกันจะทำให้ผู้บริโภควาทกรรมยอมรับความคิด ความเชื่อ ค่านิยมที่ถ่ายทอดผ่านตัวบทวาทกรรมได้มากขึ้น (ชนกพร พัวพัฒนกุล, 2556) ซึ่งในที่นี้อุดมการณ์โชคชะตาที่ถ่ายทอดผ่านวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะอาจทำให้ผู้บริโภควาทกรรมที่ยอมรับและมีความเชื่อเกี่ยวกับโชคชะตาเกิดความปรารถนาที่จะทำบุญเพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงดวงชะตาของตนให้ดีขึ้น หรือทำให้เคราะห์ที่มีอยู่ลดน้อยหรือเบาบางลงไป

อย่างไรก็ตาม ในทางพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้สอนให้เชื่อเรื่องโชคชะตาหรือดวงชะตาซึ่งอยู่เหนือการกระทำและการควบคุมของมนุษย์ พระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมซึ่งเป็นกฎย่อมกฎหนึ่งในกฎ 5 อย่าง (นิยาม 5) ของกฎปฏิจจสมุปบาท โดยเป็นกฎแห่งความเป็นเหตุและผลของกรรมที่เป็นการกระทำของมนุษย์และสัตว์กับเหตุการณ์หรือสภาวะที่เกิดกับชีวิตของมนุษย์และสัตว์เหล่านั้น (วัชระ งามจิตรเจริญ, 2561)

ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรมอันเป็นกฎแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยกล่าวคือ เมื่อกระทำแล้วจะต้องเกิดผลตามกฎแห่งกรรม โดยหากทำกรรมดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน แต่หากทำกรรมชั่วย่อมได้รับสิ่งไม่ดีเป็นผลตอบแทน ดังปรากฏข้อความในพระไตรปิฎก ความ บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว (สํ.ส 15/256/374)

กล่าวได้ว่า ความคิดเรื่องโชคชะตาหรือดวงชะตาที่นำเสนอผ่านอุดมการณ์โชคชะตาในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะนั้นไม่เป็นไปตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่เชื่อเรื่องกรรมลิขิต ชีวิตของมนุษย์และสัตว์เป็นไปตามกฎแห่งกรรม มิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีอำนาจ มีอิทธิพล และมีผลในการกำหนดชีวิตและความเป็นไปของมนุษย์ สำหรับการทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นเป็นการกระทำเพื่อละบาป ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ อันเป็นเหตุของความสุข มิได้เป็นไปเพื่อทำให้ดวงชะตาเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามอุดมการณ์โชคชะตาที่ผู้ผลิตวาทกรรมนำเสนอนั้นก็ส่งผลให้ผู้บริโภควาทกรรมเกิดความปรารถนาที่จะทำบุญมากขึ้น เพื่อหวังให้ผลบุญนั้นช่วยแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงดวงชะตาของให้ดีขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *