การสร้างวัฒนธรรมแบบสติสัมปชัญญะ “หลักกรรม” ที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

การตีความเรื่องกรรมในเชิงวัตถุวิสัยหรือภาวะวิสัยเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การนำหลักกรรมไปอธิบายปรากฏการณ์ทางกายภาพมากกว่าปรากฏการณ์ทางจิต เนื่องจาก การคิดเชิงเหตุผล ในปัจจุบัน มีแนวโน้มให้ความสำคัญแก่การสังเกตผลของปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงทางกายภาพโดยอาศัยกฎทางฟิสิกส์ ชีวะ เคมี ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์กายภาพเพื่อนำมาอธิบายในฐานะที่เป็นจุดยืนแสดงความเป็นจริง จึงมักปฏิเสธที่สูงขึ้นไปอีกคือ กฎของจิตหรือจิตนิยาม (Determination of mind) ซึ่งประกอบด้วย ธรรมชาติและกระบวนการทำงานของจิตเชิงปรากฏการณ์แบบอัตวิสัยซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เป็นคุณสมบัติ คือ กุศลและอกุศล และส่งผลให้เกิดการกระทำ คือ กรรมนิยาม (Determination of actions) ต่อพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง นอกจากนั้น ยังส่งผลให้เกิดผลของวิบากติดตามมาโดยขึ้นอยู่กับตัวจิตว่า ถูกปรุงแต่งด้วยอกุศลหรือกุศลจิต ลักษณะของกรรมที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาโดยพื้นฐานต้องตั้งอยู่บนความเป็นจริงของจิตก่อนซึ่งควรต้องมีลักษณะสอดคล้องเนื้อหา คือ

1. กรรมต้องสอดคล้องกับความจริงขณะปัจจุบันของจิต

การกระทำเกิดจากความคิดปรุงแต่งหรือสังขารซึ่งเกิดจากสัญญาและเวทยาเป็นตัวปรุงแต่ง ทำให้เกิดความยึดติดว่า มีตัวตน (Self) ที่เป็นอดีตในฐานะเหตุและตัวตนในอนาคตซึ่งเป็นผู้รับกรรมที่เป็นบุญหรือบาป การกระทำบางอย่าง เช่น การได้รับความสุข ได้ลาภสักการะ ทำให้จิตเกิดความปีติยินดี สามารถนำมาอธิบายได้ ส่วนการทำครุกรรมไม่สามารถจะถูกนำมาอธิบาย เพื่อให้ได้รับผลของกรรมตอบแทนสาสมได้ ในขณะปัจจุบัน เนื่องจาก โทษที่ได้รับมนุษย์คิดว่า ไม่ควรสิ้นสุดลงเพียงขณะจิตปัจจุบันเท่านั้น เนื่องจาก ความคิดเรื่องอัตตายังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องจึงเกิดความสงสัย ทำให้เกิดการซัดทอดวิบากของกรรมหนักมากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปไว้ในอนาคตที่มีตัวตนเดียวกันเป็นผู้ต้องได้รับการกระทำเชิงตอบแทน (Reaction) เหตุผลดังกล่าวนี้ เป็นตัวปิดบังไม่ให้สนใจความเป็นจริงของขณะจิตที่กำลังปรากฏจริง หากคนเรารู้จิตอย่างถูกต้องแล้วย่อมไม่หลงไปกระทำพฤติกรรมซึ่งมีโทษหนักเช่นนั้น ครุกรรมจัดเป็นวิบากกรรมหนัก เพราะมีผลต่อคุณสมบัติของจิตมาก ต่อการพัฒนาจิตให้ดีขึ้น หรือจนเกิดอิสระในปัจจุบัน เพราะความเข้มข้นของสัญญาและการยึดติดในอารมณ์มีกำลังครอบงำจิตให้อยู่ในอำนาจของการยึดมั่นในความเป็นตัวตนของจิตตามความเป็นจริง มนุษย์แต่ละคนย่อมเสวยอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น ส่วนความคิดว่า เคยมีตัวตนในอดีต หรือจะมีตัวตนในอนาคตจัดเป็นความคิดปรุงแต่งอย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น อดีตหรืออนาคตในแง่นี้จึงไม่มีอยู่จริง แต่ผลของการยึดติดในอารมณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความทุกข์ดิ้นรน เสียใจ และหวาดกลัวแก่จิตที่ยึดติดกับภาพดังกล่าวจนทำให้เกิดความสับสนขัดแย้งในเรื่องของพฤติกรรมของตนเอง

2. กรรมสนับสนุนการพัฒนาจิตให้เป็นอิสระและพ้นทุกข์

ตามหลักพระพุทธศาสนา ถือว่า มนุษย์เป็นผู้มีใจสูงสุด มนุษย์ภูมิเป็นภพที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายบำเพ็ญบารมี คือ เป็นภพที่เหมาะที่สุดในการแสดงพฤติกรรมเชิงศีลธรรม เนื่องจาก องค์ประกอบทางกายภาพและจิต ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นผู้เหมาะสมในการบรรลุธรรมได้ การได้เกิดเป็นมนุษย์จึงถือว่า เป็นคุณสมบัติสูงสุดเหนือกว่าภพภูมิ หรือเทวดาอื่น ๆ เนื่องจาก มนุษย์สามารถบำเพ็ญบารมี และมีอำนาจในการเปลี่ยน และพัฒนาคุณสมบัติของจิตจากอกุศลวิบากให้เป็นกุศล และสามารถพัฒนาจิตให้เหนือกุศล และอกุศลวิบากได้ คือ ดับทุกข์ได้ ดังนั้น เป้าหมายของกรรมจึงเป็นไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาจิตซึ่งมีลักษณะเป็นสากล สภาพของภูมิอื่นนั้นไม่เอื้อให้มีการพัฒนากุศลจิต และเจริญวิปัสสนาได้ด้วยตัวของจิตเอง ถ้ามองในแง่นี้พระพุทธศาสนาจึงถือว่า เป็นมนุษย์นิยม คือ ยกย่องมนุษย์ผู้สูงส่งกว่าเทวดา พระอินทร์ พรหมทั้งหลายเพราะสามารถบรรลุธรรมได้ และไม่จำเป็นต้องอ้อนวอนเทพเจ้าใด ๆ

การมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวเอง และความเป็นไปของปรากฎการณ์ ณ เวลาขณะปัจจุบันตลอดเวลาเป็นกุญแจสำคัญในการรู้ธรรมชาติความเป็นจริงของปรากฏการณ์ ทั้งที่เป็นกายภาพและจิต เพื่อทำให้จิตเกิดอิสระในการรับรู้และการตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ของปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นฐานของพฤติกรรมสังคมโดยรวม (Social behavior) หากขาดสติ และสัมปชัญญะแล้ว สภาพของจิตก็จะตกอยู่ในเงื่อนไขที่ง่ายต่อการตกเป็นทาสของอารมณ์ และความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความหลง (Delusion) เพราะไม่สามารถรู้จักตัวเอง และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเอง ในแง่นี้ กรรมที่มีสติสัมปชัญญะคอยตรวจสอบ และประเมินการกระทำย่อมนำไปสู่อิสรภาพ และการพ้นจากปัญหาและความทุกข์ได้

3. การสร้างวัฒนธรรมแบบสติสัมปชัญญะ

กรรมเป็นตัวแสดงเหตุ และกระบวนการปรับเปลี่ยนให้เห็นความเป็นจริงแท้ เพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมาย ดังนั้น หลักกรรมถือเป็นเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนเหตุซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายในการพ้นทุกข์กรรม จะต้องนำมาอธิบายในเชิงกระบวนการหรือเครื่องมือเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย การเจริญสติสัมปชัญญะเพื่อรู้เท่าทันสภาวธรรมจนเกิดวิปัสสนาญาณในระดับขั้นต่าง ๆ จึงจะสามารถรู้ความเป็นจริงและเข้าถึงมรรคจิตได้ ด้วยอำนาจของมรรคจิตจึงจะสามารถทำลายกิเลสต่าง ๆ และหลุดพ้นทุกข์ได้ ดังนั้น กรรมต้องสนับสนุนการสร้างสติสัมปชัญญะ ณ ปัจจุบันเพื่อให้รู้เท่าทันความเป็นจริงอย่างถูกต้อง พระพรหมคุณภรณ์ ได้กล่าวว่า คุณค่าทางจริยธรรมของหลักกรรมมี ดังนี้

  1. ให้เป็นผู้หนักแน่นในเหตุผล รู้จักมองเห็นการกระทำ และผลการกระทำตามแนวทางของเหตุปัจจัยไม่เชื่อ สิ่งงมงาย ตื่นข่าว
  2. ให้เห็นว่า ผลสำเร็จที่ตนต้องการจุดหมายที่ปรารถนาจะเข้าถึงความสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำ จึงต้องพึ่งตนและทำความเพียรพยายามไม่รอคอยโชคชะตา หรือหวังผลด้วยการอ้อนวอน เช่น สรวงต่อปัจจัยภายนอก
  3. ให้มีการความรับผิดชอบต่อตนเองก็งดเว้นจากกรรมชั่ว และรับผิดชอบต่อผู้อื่นด้วยการกระทำความดีของเขา
  4. ให้ถือว่า บุคคมีสิทธิ์โดยธรรมชาติที่จะทำการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุง สร้างเสริมตนเองให้ดีขึ้นไปโดยเท่าเทียมกัน สามารถทำตนให้เลวลง หรือให้ดีขึ้นให้ประเสริฐจนถึงยิ่งกว่าเทวดา และพรหมได้ทุก ๆ คน
  5. ให้ถือว่า คุณธรรม ความสามารถ และความประพฤติปฏิบัติเป็นเครื่องวัดความทราม หรือประเสริฐของมนุษย์ไม่ให้มีการแบ่งแยกโดยชั้นวรรณะ
  6. ในแง่กรรมเก่าให้ถือเป็นบทเรียน และรู้จักพิจารณาเข้าใจตนเองตามเหตุผลไม่ค่อยเพ่งโทษแต่ผู้อื่น มองเห็นพื้นฐานของตนเองที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุง และวางแผนสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ถูกต้อง
  7. ให้ความหวังในอนาคตสำหรับสามัญชนทั่วไป

จะสังเกตเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในลักษณะของการเป็นเหตุเป็นผลโดยแสดงอาการที่เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยและดำเนินอยู่ไปตามกรรม ซึ่งก่อให้เกิดวิบากเสวยอารมณ์ของจิตแต่ละช่วงขณะ แต่ไม่ได้อยู่ที่การอาศัยปรากฏการณ์เพื่ออธิบายสร้างความเข้าใจให้ยอมรับความเป็นจริง และแนะนำทางไปสู่การสร้างสติสัมปชัญญะโดยมีความเพียรเผากิเลส คือ นำไปสู่การเกิดขึ้นของมรรคจิต การอาศัยกรรมที่มีมรรคจิตเป็นเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมรวมลงใน อาตาปีซึ่งเป็นองค์สำคัญในการผลักดันจิตให้ดำเนินไปสู่การพัฒนาวิปัสสนาญาณให้เกิด และผ่านระดับขั้นต่าง ๆ จนจิตบรรลุถึงมรรคญาณจึงจะสามารถทำลายกิเลส และอยู่เหนือความทุกข์ได้ จะถือได้ว่า เป็นการเข้าถึงเป้าหมายที่แท้จริง หากยังไม่ถึงก็ไม่ควรนิ่งนอนใจด้วยความประมาทแม้จะได้เสวยอิฏฐารมณ์ในโลกธรรม หรือทิพยสุข เมื่อยังไม่เกิดมรรคผลนับว่า ยังสอบไม่ผ่านอยู่นั่นเอง

ดังนั้น หลักกรรมจึงเป็นกระบวนการที่สามารถนำไปพัฒนารูปแบบการพัฒนาจิตให้เกิดความสุขที่แท้จริง และโดยทางอ้อม ทำให้เกิดการพัฒนาสังคม ซึ่งมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และสร้างความรับผิดชอบ และศีลธรรมทางสิ่งแวดล้อม และสังคมแบบยั่งยืน ซึ่งจะเป็นหนทางให้จุดประสงค์ของมนุษยชาติบรรลุจุดมุ่งหมาย คือ ความสุข เสมอภาค และความยั่งยืนของสังคมโลก การสร้างกรรมที่ถูกต้อง ย่อมเป็นไปเพื่อการส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดกระบวนมโนทัศน์ใหม่ของความเชื่อเรื่องกรรมในเชิงสร้างสรรค์ และนำไปสู่กระบวนการพัฒนามนุษย์ทั้งทางด้านกายภาพ และจิตให้เจริญขึ้นจนนำไปสู่เสรีภาพของทั้งปัจเจกชนและสังคมที่เป็นกัลยาณมิตรต่อความสุขแบบยั่งยืน แนวความคิดเรื่องกรรมถูกตีความแบบ “ผู้ถูกกระทำ” เป็นการนำความเชื่อและกรรมผสมเข้ากัน โดยความเชื่อดังกล่าวถือว่า มนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้าง หรือถูกลงโทษ หวาดกลัว เพราะอิทธิพลของศาสนาแบบเทวนิยม ซึ่งอาศัยการอ้อนวอน การประกอบพิธีเพื่อแก้กรรมให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง ในขณะที่พระพุทธเจ้าถือว่า มนุษย์เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย เพราะสามารถบรรลุธรรมได้ กรรมที่ถูกต้องจึงหมายถึง การกระทำ ณ ขณะจิตปัจจุบัน เป็นกระบวนการทำงานของขณะจิต เป็นอัตวิสัย จิตมีส่วนประกอบของกุศล และอกุศลในฐานะเป็นตัวหลัก จัดเป็นกิเลส ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหว คือ กรรม และเสวยวิบากกรรมในความหมายนี้ จึงเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาจิตให้มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งนำไปสู่การอยู่เหนือกิเลส ดังนั้น หลักกรรมเป็นแรงผลักให้ผู้ปฏิบัติเจริญสติสัมปชัญญะมุ่งสู่พระนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาการเข้าใจเรื่องกรรมทั้งต้นเหตุ การทำงาน และเป้าหมายของกรรม จึงเป็นหลักสำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความรู้หลักกรรม และการเจริญสติสัมปชัญญะ เพื่อทำลายกิเลส และดับทุกข์ได้ ทำให้จิตได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องและมั่นคงต่อศีลธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อปัจเจกชนและสังคมโดยรวม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *