อุดมการณ์ความสุข ความสุขของคฤหัสถ์ ความสุขของบรรพชิต

ความสุขในทางพระพุทธศาสนามีหลายประเภทและหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ความสุขแบบหยาบ ไปจนถึงความสุขแบบประณีต ทั้งนี้ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ได้จำแนกความสุขออกเป็น 13 คู่ ความสุข 13 คู่ดังกล่าวจัดเป็นความสุขของคฤหัสถ์และความสุขของบรรพชิต (พระครูวิมลธรรมรังสีและคณะ, 2560) สรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

คู่ที่ความสุขของคฤหัสถ์ความสุขของบรรพชิต
1.“คิหิสุข” หมายถึง สุขของคฤหัสถ์หรือสุขของชาวบ้าน“บรรพชาสุข” หรือ “บรรพชิตสุข” หมายถึง สุขจากการบวชหรือสุขของนักบวช
2.“กามสุข” หมายถึง สุขที่เกิดจากกาม“เนกขัมมสุข” หมายถึง สุขที่เกิดจากความปลอดโปร่งจากกาม
3.“อุปธิสุข” หมายถึง ความสุขกลั้วความทุกข์ ได้แก่ ความสุขในไตรภูมิหรือโลกียสุข“นิรุปธสุข” หมายถึง ความสุขไม่กลั้วความทุกข์ ได้แก่ โลกุตตรสุข
4.“สาสวสุข” หมายถึง สุขก่ออาสวะ“อนาสวสุข” หมายถึง สุขไม่ก่ออาสวะหรือสุขไร้อาสวะ
5.“สามิลสุข” หมายถึง สุขอิงอามิสหรือสุขอาศัยเหยื่อล่อ“นิรามิสสุข” หมายถึง สุขไม่อิงอามิสหรือสุขที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งเสพเสวย
6.“อนริยสุข” หมายถึง ความสุขของผู้ไม่เป็นอริยะ คือ ความสุขของปุถุชน“อริยสุข” หมายถึง ความสุขของพระอริยะ
7.“กายิกสุข” หมายถึง สุขทางกาย“เจตสิกสุข” หมายถึง สุขทางใจ
8.“สัปปีติกสุข” หมายถึง สุขเจือปีติ ได้แก่ สุขในฌานที่ 1 และสุขในฌานที่ 2“นิปปีติกสุข” หมายถึง สุขไม่เจือปีติ ได้แก่ สุขในฌานที่ 3 และสุขในฌานที่ 4
9.“สาตสุข” หมายถึง สุขมีรสชื่อน อรรถกถาว่า ได้แก่ สุขในฌาน 3 ขั้นต้น“อุเบกขาสุข” หมายถึง สุขเกิดแต่อุเบกขา คือ ได้แก่ สุขในฌานที่ 4
10.“อสมาธิสุข” หมายถึง สุขที่ไม่ถึงสมาธิ“สมาธิสุข” หมายถึง สุขเกิดจากสมาธิ
11.“สัปปีติการัมมณสุข” หมายถึง ความสุขเกิดแก่ผู้พิจารณาฌาน 2 ขั้นแรกที่มีความปีติ“นิปปีติการัมมณสุข” หมายถึง ความสุขเกิดแก่ผู้พิจารณาฌานที่ 3 และฌานที่ 4 ซึ่งไม่มีความปีติ
12.“สาตารัมมณสุข” สุขเกิดแก่ผู้พิจารณาฌาน 3 ขั้นแรกที่มีรสชื่น“อุเปกขารัมมณสุข” หมายถึง สุขเกิดแก่ผู้พิจารณาฌานที่ 4 ซึ่งมีอุเบกขา
13.“รูปารัมมณสุข” หมายถึง สุขที่มีรูปธรรม หรือรูปฌานเป็นอารมณ์“อรูปารัมมณสุข” หมายถึง สุขที่มีอรูปธรรมหรืออรูปฌานเป็นอารมณ์

ความสุขแต่ละคู่ที่กล่าวมาข้างต้น ความสุขของบรรพชิตถือว่า เป็นเลิศกว่าความสุขของคฤหัสถ์ โดยบรรพชิตมุ่งเน้นการแสวงหาความสุขทางจิตใจ ซึ่งเป็นโลกุตตรสุขหรือสุขที่ไม่อิงอามิส ส่วนคฤหัสถ์มุ่งเน้นการแสวงหาความสุขทางกาย ซึ่งเป็นโลกียสุขหรือสุขที่อิงอามิส

นอกจากการแบ่งประเภทของความสุขออกเป็น 13 คู่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว พระพุทธศาสนายังได้แบ่งความสุขเป็นระดับขั้นจำนวน 10 ขั้น ดังต่อไปนี้

  1. กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม ได้แก่ ความสุขโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยกามคุณ 5
  2. ปฐมฌานสุข สุขเนื่องด้วยปฐมฌานซึ่งสงัดจากกามและอกุศลกรรมทั้งหลาย ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
  3. ทุติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยทุติยฌาน ซึ่งประกอบด้วย ปีติ สุข และเอกัคคตา
  4. ตติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยตติยฌาน ซึ่งประกอบด้วย สุข และเอกัคคตา
  5. จตุตถฌานสุข สุขเนื่องด้วยจตุตถฌาน ซึ่งประกอบด้วย อุเบกขา และเอกัคคตา
  6. อากาสานัญจายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ซึ่งล่วงพ้นรูปสัญญาได้โดยสิ้นเชิง ปฏิฆสัญญาล่วงลับไปหมด ไม่มนสิการนานัตตสัญญา นึกถึงแต่อวกาศอันอนันต์เป็นอารมณ์
  7. วิญญาณัญจายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ซึ่งคำนึ่งวิญญาณอันอนันต์เป็นอารมณ์
  8. อากิญจัญญายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ซึ่งคำนึงภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
  9. เนวสัญญานาสัญญาตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อันถึงภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
  10. สัญญาเวทยิตนิโรธสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ อันถึงภาวะที่ดับสัญญาและเวทนาทั้งหมด

ความสุขทั้ง 10 ขั้นข้างต้นมีความประณีตขึ้นไปตามระดับขั้นจากความสุขขั้นต่ำไปสู่ความสุขขั้นสูง ความสุขที่สูงขึ้นจะบรรลุได้ยากขึ้นและต้องอาศัยการบำเพ็ญภาวนาทางจิตเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ความสุขทั้ง 10 ขั้นดังกล่าวสามารถย่อลงเหลือความสุข 2 ระดับ ได้แก่ โลกียสุขและโลกุตตรสุข

  1. โลกียสุข หมายถึง ความสุขอันเป็นวิสัยของโลก หรือเป็นความสุขที่เกี่ยวข้องกับภพและภูมิ โดยภพในที่นี้หมายถึงแดนอันเป็นที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย จำแนกได้เป็น กามภพ รูปภพ และอรูปภพ โลกียสุขนี้ถือเป็นความสุขระดับต้น เป็นความสุขที่เกิดจากกามหรืออาศัยกาม ซึ่งมี 2 อย่าง คือ วัตถุกามและกิเลสกาม นอกจากนี้ ยังรวมถึงสุขในรูปฌาน 4 และสุขในอรูปฌาน 4
  2. โลกุตตรสุข เป็นความสุขที่เนื่องด้วยมรรค ผล นิพพาน เกิดจากการดับกองทุกข์ และกิเลสทั้งปวง โลกุตตรสุขนี้ถือเป็นสุขที่สูงกว่าโลกียสุข ประกอบด้วยสุขในรูปฌาน 4 สุขในอรูปฌาน 4 และสุขในสัญญาเวทยติยนิโรธสมาบัติ

อนึ่ง สุขในรูปฌาน 4 สุขในอรูปฌาน 4 เป็นได้ทั้งโลกียสุขและโลกุตตรสุข ทั้งนี้ เพราะฌานเป็นเจตสิก คือ สิ่งที่มีลักษณะประกอบด้วยจิต เมื่อจิตของบุคคลเป็นโลกียะ ฌานก็เป็นโลกียฌาน ความสุขที่ได้จึงเป็นโลกียสุข แต่ถ้าจิตของบุคคลเป็นโลกุตตระ ฌานก็เป็นโลกุตตรฌานความสุขที่ได้ก็เป็นโลกุตตรสุข (พระครูวิมลธรรมรังสี และคณะ, 2560)

ความสุขนั้นถือเป็นเป้าหมายประการหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ทั้งนี้ วัชระ งามจิตรเจริญ (2561) กล่าวว่า เป้าหมายของชีวิตมนุษย์โดยทั่วไปก็คือ ความสุข (happiness) เพราะทุกสิ่งที่มนุษย์ต้องการล้วนมุ่งไปที่ความสุขที่เกิดจากการได้สิ่งที่ต้องการ เช่น ความสำเร็จในอาชีพการงาน การได้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง และความมั่งคั่งร่ำรวย สำหรับพระพุทธศาสนาเถรวาทก็ถือว่า ความสุขเป็นเป้าหมายของชีวิต แต่เป้าหมายตามแนวคิดในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีหลายระดับ ทั้งนี้ เป้าหมายระดับสูงสุดอันเป็นอุดมคติของชีวิตตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาทไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการได้สิ่งที่ต้องการ แต่เป็นความสุขที่ไร้ความทุกข์โดยสิ้นเชิง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นความสุขที่ไม่มีการเสพเสวยใด ๆ ความสุขที่ว่านี้ ก็คือ “นิพพานสุข” นิพพานจึงถือเป็นเป้าหมายหรือเป็นอุดมคติของชีวิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท

ตามหลักพระพุทธศาสนาเมื่อบุคคลทำความดีหรือทำบุญแล้ว ผลที่บุคคลนั้นพึงจะได้รับในเบื้องต้นก็คือ ความสุข ความสบายใจ ทั้งนี้ จากการศึกษาวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะเผยให้เห็นอุดมการณ์ความสุขที่นำเสนอผ่านวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ โดยกล่าวถึงบุญในแง่ผลของการกระทำ ซึ่งได้แก่ผลหรืออานิสงส์ของบุญ โดยบุญเป็นผลที่ปรารถนาจากการทำความดีซึ่งในที่นี้ คือ ความสุข

วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะนำเสนออุดมการณ์ความสุข ซึ่งหมายถึง ชุดความคิดที่แสดงถึงสิ่งที่คาดหวังและปรารถนาให้เกิดขึ้นในชีวิต ได้แก่ การมีจิตใจเบิกบาน ผ่องใส มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีและการได้รับสิ่งที่ที่พึงปรารถนา อันนำไปสู่ความสุขทางโลกหรือเป็นโลกียสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายของการใช้ชีวิตของคนในสังคมยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ อุดมการณ์ความสุขนั้นนำเสนอผ่านความคิดบุญทำให้เกิดความสุข ซึ่งความคิดดังกล่าวปรากฏร่วมกันในสื่อสาธารณะทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ หนังสือเรียนรายวิชาพระพุทธศาสนา หนังสือธรรมะ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์

การปรากฏความคิดบุญทำให้เกิดความสุขในสื่อสาธารณะทั้ง 4 ประเภทนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตวาทกรรมทุกกลุ่มทั้งรัฐบาล พระสงฆ์ บุคคลที่ศึกษาธรรมะมาเป็นอย่างดี หน่วยงาน หรือองค์กรทางศาสนา รวมถึงผู้ผลิตสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งถือเป็นผู้มีอำนาจ และมีอิทธิพลต่อความคิดของคนในบริบทสังคมไทยนั้นพยายามทำให้ผู้บริโภควาทกรรมทุกกลุ่มในสังคมไทยเห็นว่า การทำบุญนั้นจะได้รับผลตอบแทน คือ ความสุข นับเป็นการผลิตซ้ำ และตอกย้ำอุดมการณ์ความสุขอันเป็นผลจากการทำบุญที่ปรากฏในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญ แสดงให้เห็นว่า การทำบุญนั้นส่งผลให้เกิดความสุข อันได้แก่ การมีจิตใจเบิกบาน ผ่องใส มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดี มีความเจริญรุ่งเรือง ตลอดจนใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นไม่มีอุปสรรคใด ๆ นอกจากนี้ ยังทำให้ได้รับสิ่งที่พึงปรารถนาอันทำให้ชีวิตเกิดความสุขด้านต่าง ๆ ได้แก่ การมีสุขภาพแข็งแรง การมีทรัพย์สินเงินทอง การมีความรู้และสติปัญญา ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และการมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณที่ดี รวมถึงการมีความเป็นสิริมงคลที่ถือเป็นสิ่งที่ผู้ทำบุญปรารถนาจะให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตน เนื่องจาก จะทำให้เกิดความดีงามในชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสุข

นอกจากนี้ ผลจากการทำบุญนั้นไม่เพียงส่งผลต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่ติดตามไปส่งผลต่อชีวิตหลังความตายได้ด้วย โดยคนในสังคมมีความเชื่อร่วมกันเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย และการเวียนว่ายตายเกิด ทั้งนี้ ผลหรืออานิสงส์ของบุญนั้นไม่เพียงส่งผลต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แต่ยังติดตามไปส่งผลยังชาติภพหน้า ทำให้ผู้ที่ทำบุญมีชีวิตหลังความตายที่เป็นสุข ได้เป็นเทวดานางฟ้าอยู่ในสวรรค์ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายตามคติความเชื่อของคนไทย หรือหากเกิดเป็นมนุษย์ในภพชาติถัดไป บุญก็จะส่งผลให้พบกับสิ่งที่ทำให้มีความสุข บุญจึงถือเป็นสมบัติที่บุคคลปรารถนาจะมีติดตัวไว้หลังจากตายไป โดยหวังว่า บุญนั้นจะสามารถส่งผลต่อชีวิตหลังความตายได้

การนำเสนอความคิดเกี่ยวกับผลของบุญดังกล่าวถูกถ่ายทอดสู่ผู้บริโภควาทกรรมเกี่ยวกับบุญกลุ่มต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย แบบไม่จำกัดเพศและอาชีพผ่านสื่อสาธารณะประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อผู้บริโภควาทกรรมในการโน้มน้าว และชักชวนให้ผู้บริโภควาทกรรมเกิดความปรารถนาที่จะทำบุญโดยใช้ผลของการทำบุญเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาในการทำบุญ โดยใช้ผลตอบแทนจากการทำบุญซึ่งก็คือ ความสุขในลักษณะต่าง ๆ เป็น “เหยื่อล่อ” เปรียบเสมือนวัตถุที่ตอบสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมให้เกิดความต้องการทำบุญมากขึ้น

อนึ่ง การกล่าวถึงบุญในแง่ผลของการกระทำซึ่งในที่นี้คือ “ความสุข” ผ่านการนำเสนอความคิดและอุดมการณ์ความสุขในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะนั้นนับว่า มีความสัมพันธ์กับแนวคิดเกี่ยวกับบุญในทางพระพุทธศาสนาบางส่วน กล่าวคือ ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงบุญทั้งในส่วนของการกระทำและผลของการกระทำ

บุญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลของการกระทำนั้นกล่าวถึง “บุญ” ในฐานะผลจากการกระทำของบุคคลซึ่งก็คือ “ความสุข” ทั้งนี้ “ความสุข” ที่เป็นผลจากการทำบุญตามหลักพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า เป็นความสุขที่เกิดจากความอิ่มเอมใจ หรือความยินดีในการทำบุญ กล่าวคือ เป็นความสุขที่เกิดจากใจที่บริสุทธิ์ สะอาด ได้รับการขัดเกลาให้ปราศจากกิเลสและห่างไกลเหตุแห่งความชั่วร้ายหรือบาปทั้งปวง อันเกิดจากการทำบุญตามบุญกิริยาวัตถุ ซึ่งประกอบด้วย ทาน คือ การให้ การแบ่งปัน การสละเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ศีล คือ ความประพฤติสุจริต งดเว้นจากการเบียดเบียนกันและกัน และภาวนา คือ การอบรมจิตใจให้ตั้งมั่น พัฒนาจิตใจ (จิตภาวนา) ให้เจริญงอกงามด้วยคุณสมบัติที่ดีงาม เป็นสุข สดใส เบิกบานและสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธจนถึงขั้นฌานต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) ให้เห็นแจ้งความจริง หยั่งถึงไตรลักษณ์ จนมีจิตใจเป็นอิสระไม่หวั่นไหวหรือถูกครอบงำด้วยโลกธรรมและรู้จักมนสิการ ทำให้ได้สมาธิประณีตถึงขั้นฌานสมาบัติและโลกียอภิญญา (พระพรหมคุณาภรณ์, 2559)

อย่างไรก็ตาม ความสุขอันเป็นผลจากบุญตามที่ปรากฏผ่านอุดมการณ์ความสุขในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะนั้น โดยมากเป็นความสุขทางโลกหรือโลกียสุขที่เกิดจากกามซึ่งมี 2 อย่าง คือ วัตถุกามและกิเลสกาม เป็นความสุขที่คฤหัสถ์แสวงหา กล่าวคือ เป็นความสุขที่จับต้องได้ เป็นความสุขเกิดจากการมีทรัพย์ มีเครื่องอำนวยความสะดวกช่วยให้เกิดความสบายแก่ชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสติปัญญาหน้าที่การงาน และมีรูปร่างผิวพรรณที่ดี ซึ่งแม้ว่า จะเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภควาทกรรมปรารถนาให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตน เนื่องจาก เป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มีความสุขในสังคมยุคปัจจุบัน ดังนั้น การนำเสนออุดมการณ์ความสุขในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะจึงมีส่วนสำคัญในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภควาทกรรมหมั่นทำบุญเพิ่มมากขึ้น แต่การทำบุญที่เกิดขึ้นอาจเป็นไปในลักษณะการทำบุญเพื่อสะสมบุญ และหวังให้บุญที่สะสมไว้นั้นให้ผลตอบแทนเป็นความสุขทางโลกในลักษณะต่าง ๆ อันได้แก่ ความสุขจากการมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ใช้ชีวิตอย่างราบรื่นไม่มีอุปสรรคใด ๆ รวมถึงความสุขจากการมีสุขภาพแข็งแรง ความสุขจากการมีทรัพย์สินเงินทอง ความสุขจากการมีความรู้และสติปัญญา ความสุขจากความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความสุขจากการมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณที่ดี เป็นต้น

การทำบุญเพื่อความสุขลักษณะดังกล่าวนี้จึงมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดกิเลสและความต้องการรวมถึงลดความเห็นแก่ตัวลงในจิตใจสงบสุข ในทางกลับกันการทำบุญลักษณะดังกล่าวเป็นการทำบุญด้วยจิตที่มีกิเลส ปรารถนา อยากมี และอยากได้ผลของบุญเพื่อหวังความสุขสบาย เป็นการทำบุญที่ยึดติดกับความสุขทางโลก ก่อให้เกิดพฤติกรรมการเร่งขวนขวายในการทำบุญ สะสมบุญ เพื่อให้ได้บุญมาก และหวังให้ผลบุญนั้นบันดาลให้เกิดผลซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการทำบุญที่แท้จริง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *