บุญส่วนที่เป็นเหตุในฐานะที่เป็นการกระทำ

โดยพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้กล่าวถึง “บุญ” โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. บุญส่วนที่เหตุ หมายถึง บุญในฐานะที่เป็นการกระทำ เรียกว่า “การทำบุญ” ได้แก่ การกระทำทีดี่เป็นกุศลเจตนา
  2. บุญส่วนที่เป็นผล หมายถึง บุญในฐานะที่เป็นผลจากการกระทำ เรียกว่า “ผลหรืออานิสงส์ของบุญ” ได้แก่ ความสุข

บุญทั้ง 2 ส่วนข้างต้นตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในพระไตรปิฎกและอรรถกถามีรายละเอียดดังต่อไปนี้

พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ได้กล่าวถึง แนวคิดเรื่อง “บุญ” ในฐานะที่เป็นการกระทำ ซึ่งหมายถึง การทำความดี อันได้แก่ การกระทำตามบุญกิริยาวัตถุ ประกอบด้วย ทาน ศีล และภาวนา ดังปรากฏข้อความในพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ความว่า

ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้ บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ 1. บุญกิริยา วัตถุที่สำเร็จด้วยทาน 2. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล 3. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา (อง.นวก. 23/36/294)

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อความในพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ความว่า แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์ กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้

บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ

  1. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทาน
  2. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล
  3. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา

ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้แล”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า ผู้หวังประโยชน์สุข ควรฝึกฝนบำเพ็ญบุญนี้เท่านั้นที่ให้ผลเลิศติดต่อกันไป (ชุ.อิติ. 25/60/415)

นอกจากการกล่าวถึง “บุญ” ที่หมายถึง การทำความดี ในทางพระพุทธศาสนายังได้กล่าวถึง แนวคิดเกี่ยวกับ “บุญ” ว่า บุญ คือ เครื่องชำระสันดาน โดยโอวาทปาติโมกข์ (ที.ม. 10/54/57 และ ขุ.ธ. 25/24/39) ซึ่งเป็นประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนา 3 ประการ ได้แก่ ทำแต่ความดี ไม่ทำชั่วทั้งปวง และทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ทั้งนี้ หลักคำสอนสำคัญ 3 ประการ ดังกล่าวสัมพันธ์กับบุญกิริยาวัตถุ 3 ซึ่งเป็นทางแห่งการทำความดี เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ช่วยชำระล้างใจให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยบุญกิริยาวัตถุ 3 ประกอบด้วย ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ เป็นการทำบุญด้วยการให้ ตรงกับ “ทำแต่ความดี” ศีลมัยบุญกิริยาวัตถุ เป็นการทำบุญด้วยการรักษาศีล ควบคุมความประพฤติให้เป็นปกติ งดเว้นจากการเบียดเบียนกันและกันให้เดือดร้อน ตรงกับ “ไม่ทำชั่วทั้งปวง” และภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ เป็นการทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจให้เจริญปัญญา ตรงกับ “ทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์” การทำบุญทั้ง 3 วิธีดังกล่าวนี้ จะชำระล้างอกุศลมูล อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายหรือบาป

อนึ่ง อรรถกถาทีฆนิกาย (ที.อ. 3/246) และอภิธัมมัตถสังคหะ (สังคหะ 29) ได้ขยายบุญกิริยาวัตถุ 3 ออกเป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 เพื่อให้เข้าใจหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยบุญกิริยาวัตถุ 10 ประกอบด้วย

  1. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
  2. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
  3. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
  4. อปจายนมัย บุญเกิดจากการประพฤติอ่อนน้อม
  5. เวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายรับใช้
  6. ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการขวนขวายรับใช้
  7. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากความยินดีในความดีของผู้อื่น
  8. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
  9. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการสั่งสอนธรรมให้ความรู้
  10. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญเกิดจากการทำความเห็นให้ตรง

อย่างไรก็ตาม อปจายนมัยและเวยยาวัจจมัย สามารถจัดเข้าในสีลมัย ปัตติทานมัยและปัตตานุโมทนามัย สามารถจัดเข้าในทานมัย ธัมมัสสวนมัย และธัมมเทสนามัย สามารถจัดเข้าในภาวนามัย ส่วนทิฏฐุชุกัมม์ สามารถจัดเข้าได้ทั้งทานมัย สีลมัย และภาวนามัย ในบุญกิริยาวัตถุ 3 (พระพรหมคุณาภรณ์, 2556)

นอกจากนี้ จากการศึกษาแนวคิดเรื่อง “บุญ” ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาในงานวิจัยเรื่อง “บุญ: ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาอังกฤษกับอุดมการณ์ในวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดธรรมกาย” ของสุนทรี โชติดิลก (2560) แสดงให้เห็นว่า ในพระไตรปิฎกและอรรถกถากล่าวถึง “บุญ” ว่าหมายถึง “เครื่องชำระสันดาน” โดยในพระไตรปิฎกแสดงให้เห็นว่า การทำบุญนั้นเป็นการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ ดังนี้

กุศลทั้งหลายที่ให้เกิดผลในภพ ที่ควรบูชา หรือชำระสันดานของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุญ (พระสุตตันปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่มที่ 1: 387)

ในอรรถกถา ส่วนอรรถกถาปุญญสูตร ก็มีการกล่าวถึงการทำบุญว่า เป็นการชำระสันดาน คือ ชำระจิตใจผู้ปฏิบัติ เป็นการขัดเกลากิเลส ดังต่อไปนี้

ปญญเมว โส สิกเขยย ความว่า กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์พึงศึกษา พึงดำรงมั่น พึงเสพธรรมเป็นกุศล 3 อย่าง อันได้ชื่อว่า บุญ เพราะให้เกิดผลน่าบูชา และเพราะชำระสันดานของตน (อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตก เอกนิบาต ตติยวรรค ปุญญสูตร)

การกำจัดกิเลสด้วยสมาทานอันใด อันนั้นเป็นบุญสำเร็จด้วยภาวนา ก็บุญนั้นแลเป็นเมตตาพรหมวิหารท่านประสงค์ในที่นี้ ในอุปจารและอัปปนาทั้งสองอย่างนั้น บุญใดถึงอัปปนาความเกิดขึ้นในภูมิฌาณสองตามที่กล่าวแล้วมีได้ด้วยบุญนั้น (อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตก เอกนิบาต ตติยวรรค ปุญญสูตร)

จากที่กล่าวมา สรุปได้ว่า บุญส่วนที่เป็นเหตุในฐานะที่เป็นการกระทำตามหลักพุทธศาสนานั้น หมายถึง การทำความดี อันได้แก่ การกระทำตามบุญกิริยาวัตถุ ประกอบด้วย ทาน ศีล และภาวนา รวมถึงเป็นเครื่องชำระสันดาน ขัดเกลากิเลส คือ ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ทั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (ม.ป.ป.: 9 – 20) กล่าวถึงบุญจากการกระทำตามบุญ กิริยาวัตถุ อันได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา ซึ่งมีระดับที่แตกต่างกันดังนี้

ทาน คือ การให้ การให้ทานนั้นแสดงว่า เป็นการชนะใจ คือ ชนะความโลภ ความตระหนี่ เพื่อชำระกิเลส คือ โลภะออกจากใจ

ในทางพระพุทธศาสนาได้มีการกล่าวถึงทานในฐานะคุณธรรมประการที่หนึ่งในทศบารมี หรือบารมี 10 ประการของพระโพธิสัตว์เพื่อมุ่งพระโพธิญาณ ทั้งนี้ ทานนั้นมี 2 ประเภท คือ ทานที่เป็นกรรมกับทานที่เป็นบารมี โดยทานที่ทำคราวหนึ่ง ๆ เป็นทานที่เป็นกรรม เพราะเป็นกิจการที่ทำ ทานที่เป็นกรรมกับทานที่เป็นบารมี โดยทานที่ทำคราวหนึ่ง ๆ เป็นทานที่เป็นกรรม เพราะเป็นกิจการที่ทำ ทานที่เป็นกรรมนี้จะเก็บสั่งสมเป็นสันดานแห่งทานในจิตจนกลายเป็นทานบารมี ซึ่งทานบารมีนี้มีแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่

  1. ทานบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์
  2. ทานอุปบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละอวัยวะ
  3. ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละชีวิต

อนึ่ง ทานที่เป็นการให้ที่เป็นการทำบุญที่ทำได้ง่ายนั้น ได้แก่ ทานในระดับต้นที่เป็นการสละทรัพย์หรือสิ่งของให้แก่ผู้อื่น โดยการให้หรือการแบ่งปันเป็นเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ในระดับหนึ่ง คือ ชำระล้างหรือกำจัดกิเลส โดยเฉพาะความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีใจคับแคบ ตระหนี่ และความเป็นทาสของวัตถุ พร้อมทั้งทอนกำลังของความยึดติดถือมั่นใจตัวตนให้เบาบางลดน้อยลง ทำให้ใจเปิดกว้างและเป็นอิสระมากขึ้น จึงเป็นการเตรียมจิตใจให้พร้อมที่จะเพิ่มพูนคุณความดีและการทำบุญอื่น ๆ ที่สูงขึ้นไป ทั้งนี้ ทานถือเป็นเครื่องเกื้อหนุนสังคม โดยเฉพาะทานที่เป็นวัตถุที่ทำให้คนเป็นอยู่โดยไม่ต้องเบียดเบียนแย่งชิงกัน ทานจึงถือเป็นเครื่องสนับสนุน “ศีล” และช่วยให้ก้าวต่อไปใน “ภาวนา”

“ศีล” แปลว่า ปกติ หมายถึง ปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ มีความหมายกว้าง ๆ ว่าความประพฤติงดเว้นจากการเบียดเบียนกันและกันให้เดือดร้อน เป็นความดีที่สูงกว่าทานขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพราะเป็นเครื่องชำระล้างโทสะหรือความคิดประทุษร้าย

ภาวนา แปลตามศัพท์ว่า การทำให้มีขึ้น ให้เป็นขึ้น หมายถึง การปฏิบัติให้บังเกิดผลได้อย่างจริงจัง ในที่นี้ คือ การอบรมจิตใจให้ตั้งมั่น จัดเป็นจิตตสิกขา หรือสมาธิ 1 อบรมความรู้ความเห็นที่ถูกที่ชอบให้มีขึ้น จัดเป็นปัญญาสิกขา 1 รวมความแล้วอบรมใจให้บริสุทธิ์สะอาดให้สว่างไสวด้วยสมาธิและปัญญา เรียกว่า เป็น “บุญ” คือ ความดี ที่สูงกว่าศีลขึ้นมา เพราะเป็นเครื่องชำระล้างโมหะ คือ ความหลงไม่รู้จริงให้หมดไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *