แนวคิดเรื่องบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกาย

วัดธรรมกายเป็นวัดในสังกัดพุทธศาสนา มหานิกาย ผู้บุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกาย คือ อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) และพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) โดยเริ่มต้นจากสถานปฏิบัติธรรมบ้านธรรมประสิทธิ์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ แล้วพัฒนามาเป็นศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม ซึ่งภายหลังพัฒนาเป็นวัดพระธรรมกายภายในที่สุด

วัดพระธรรมกายมีอัตลักษณ์ที่สามารถเห็นได้ชันเจน จำแนกได้เป็น 3 ประการ ได้แก่

1. อัตลักษณะวัดพระธรรมกายด้านการแต่งกาย

การแต่งกายของผู้ศรัทธาวัดพระธรรมกายมักนิยมใส่ชุดสีขาวแบบเดียวกัน โดยผู้ชายนุ่งกางเกงขายาวสีขาว เสื้อแขนสั้นสีขาวผ่าติดกระดุมด้านหน้า ส่วนผู้หญิงมักสวมผ้าถุงหรือกระโปรงยาวสีขาว เสื้อแขนสั้นสีขาวผ่าติดกระดุมด้านหน้าตีเกร็ดทั้งด้านซ้ายและขวา

2. อัตลักษณ์วัดพระธรรมกายเรื่องวัตถุและสัญลักษณ์

วัดพระธรรมกายใช้สัญลักษณ์ “ดวงแก้ว” เพื่อสื่ออัตลักษณ์ความบริสุทธิ์ ใส และสว่าง นอกจากนี้ ยังใช้ “พระมหาธรรมกายเจดีย์” เป็นสัญลักษณ์ศูนย์รวมใจของชาวธรรมกาย

3. อัตลักษณ์วัดพระธรรมกายด้านกิจกรรมการทำบุญ

วัดพระธรรมกายมีแนวทางการจัดงานบุญตามแบบของตนเอง โดยมักจัดงานบุญในวันอาทิตย์ต้นเดือน เนื่องจาก ความสะดวกของผู้ที่จะเดินทางมาวัด การทำบุญมักมีการก่อสร้างเกี่ยวกับการสร้างพุทธสถานตามแนวทางของวัดพระธรรมกาย เช่น การสร้างมหาวิหาร ลานสภาธรรมกาย หรือเจดีย์ในพื้นที่วัดสาขาต่าง ๆ นอกจากนี้ รูปแบบการทำบุญของวัดพระธรรมกายมักมีริ้วขบวนแห่ มีการคัดเลือกหญิงสาวเพื่อมาสวมชุดมหาลดปสาธน์ ซึ่งเป็นเครื่องประดับของนางวิสาขา

อนึ่ง วัดพระธรรมกายได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิถีปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และถูกสังคมมองว่า มีแนวคิดที่บิดเบือนไปจากพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเรื่องบุญที่บิดเบือนไปจากพุทธศาสนาแบบเถรวาท ทั้งนี้แนวคิดเรื่องบุญตามแนวทางของธรรมกาย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. แนวคิดการทำบุญด้วยทาน

จากการศึกษาวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกาย สุนทรี โชติดิลก (2560) พบว่า มีการใช้กลวิธีทางภาษาเพื่อสื่อความคิดเกี่ยวกับการให้ทานไปพร้อมกับความคิดว่า อานิสงส์ของบุญ คือ “ปาฏิหาริย์” โดยมุ่งนำเสนอให้เห็นว่า การทำทานด้วยวัตถุเป็นทานที่ทำได้ยาก ต้องเสียสละ แต่เมื่อทำแล้วจะทำให้เกิดความปีติเอิบอิ่มใจ และที่สำคัญบุญจะส่งผลให้เกิดผลที่พึงประสงค์

นอกจากนี้ วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดธรรมกายมีการผลิตตัวบทผสมผสานข้อธรรมที่เกี่ยวกับหลักธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ได้แก่ บุญกิริยาวัตถุตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่มีนัยความคิดเกี่ยวกับให้ทานที่มีความสัมพันธ์ในระดับวัตถุทาน ซึ่งเป็นการให้ทานในระดับอามิสทาน แต่ทานที่ได้รับยกย่องอย่างสูงสุดคือ ธรรมทาน วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายนำเสนอความคิดนี้ไว้อย่างแยบคาย หากกลุ่มผู้ศรัทธาวัดพระธรรมกายมองว่า วาทกรรมที่เผยแพร่โดยวัดธรรมกาย คือ ธรรมทานแล้ว วาทกรรมเหล่านี้ จะถูกตีตราความถูกต้อง และถูกให้คุณค่าสถานะหลักธรรมคำสอนในระดับเดียวกันกับพระวจนะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. แนวคิดการสร้างต้นแบบการทำบุญจากวรรณกรรมอานิสงส์

สุนทรี โชตดิลก (2560) กล่าวถึง แนวคิดการทำบุญตามแนวทางของธรรมกายว่า มีการสร้างต้นแบบการทำบุญจากวรรณกรรมอานิสงส์โดยวรรณกรรมอานิสงส์นั้นเน้นเรื่องทาน ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในวัฒนธรรมพุทธศาสนาไทยสัมพันธ์กับวัฒนธรรมและประเพณีไทย และสะท้อนให้เห็นความสำคัญของค่านิยมในการทำทานในสังคมไทยอย่างเด่นชัด

วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดธรรมกาย พบว่า มีการนำวรรณกรรมอานิสงส์มาเป็นส่วนหนึ่งของสื่อที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่ผลิตเพื่อกลุ่มประชาชนทั่วไป และสื่อที่ผลิตเพื่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายนำวรรณกรรมอานิสงส์ดังกล่าวมาผลิตซ้ำในช่วงเวลาที่จะจัดกิจกรรมหล่อพระทองคำ ซึ่งในส่วนท้ายเรื่องผู้ผลิตวาทกรรมแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการให้ผู้บริโภควาทกรรมร่วมทำบุญกับวัดพระธรรมกาย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ผู้ผลิตวาทกรรมเลือกนำตัวบทที่มีอยู่เดิมในบริบทพุทธศาสนามาผลิตซ้ำ โดยแฝงเจตนาที่จะเรียกร้องการทำบุญจากผู้ศรัทธาด้วยการนำวรรณกรรมอานิสงส์มาเป็นต้นแบบให้ผู้บริโภคตั้งใจทำบุญอย่างทุ่มเท ด้วยการนำอานิสงส์ของบุญมาเป็นแรงจูงใจ

3. แนวคิดการอรรถกถาธิบายของบุญอย่างเป็นรูปธรรมจากวิมานวัตถุ

สุนทรี โชติดิลก (2560) กล่าวว่า วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายมักมีการอรรถาธิบายผลของบุญอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย เช่น ตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร อยู่ที่ไหน มีวิมานหรือสมบัติอะไรบ้าง หากพิจารณาการอรรถาธิบายผลของบุญในบริบทสังคมไทย จะเห็นว่า ในคัมภีร์หรือเรื่องเล่าในพุทธศาสนาก็กล่าวถึง ผลของบุญว่าตายไปแล้วจะได้อะไร แต่มีการดัดแปลงตัวละคร และเนื้อหาให้เป็นที่รู้จักของคนในสังคม ทั้งนี้ ตัวบทวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายนั้นมีทั้งความคิดที่เหมือนและต่างกับความคิดในพุทธศาสนากล่าวคือ การอรรถาธิบายผลของบุญมีลักษณะเหมือนกับความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายใน สังคมไทยทั่วไปว่า ทำบุญแล้วจะขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าทำบาปก็ต้องตกนรก แต่สิ่งที่ทำให้วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายแตกต่างจนเกิดข้อถกเถียงในสังคม คือ การต่อยอดการอธิบายเรื่องสวรรค์/นรกต่างออกไปอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าสื่ออื่น ดังนี้

  1. การกล่าวถึงวัตถุที่ทำบุญในปัจจุบันจะส่งผลในชาติหน้าอย่างไรบ้าง
  2. การกล่าวถึงสมบัติหลังความตายอย่างละเอียด ทั้งสิ่งของ ปริมาณ ความทันสมัยและเทคโนโลยี
  3. การสร้างภาพจำลองกราฟิกของชีวิตความตายของแต่ละบุคคลอย่างละเอียด

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่า เป็นการแสดงตนเป็น “ผู้หยั่งรู้” หรือไม่ ทั้งที่เรื่องชีวิตหลังความตายองค์สัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า เป็นเรื่อง “อจินไตย” (เรื่องไม่ควรคิดคำนึง) ซึ่งการสอนเรื่องทำบุญเพื่อชาติหน้าแท้จริงแล้วเป็นความเชื่อที่มีรากอยู่แล้วในสังคมไทย เมื่อวัดพระธรรมกายต่อยอดความเชื่อให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีความสมเหตุสมผล และละเอียดเฉพาะรายบุคคลมากขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภควาทกรรมยอมรับได้โดยง่าย

จากการวิเคราะห์ตัวบทวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกาย แม้ว่า ตัวบทจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางพุทธศาสนา กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของการทำบุญการทำความดี เพื่อผลิตซ้ำความคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายก็ตาม แต่ทว่ายังมิใช่แก่นแท้ที่มุ่งไปสู่การละกิเลส เนื่องจาก “บุญ” ตามแนวทางของวัดพระธรรมกายใช้คำว่า “บุญ” เป็นแรงจูงใจให้คนเข้าวัดมากกว่าการทำบุญตามกำลังศรัทธาแบบวัดทั่วไป อีกทั้งคำว่า “บุญ” ตามแนวทางของวัดพระธรรมกายยังมีบทบาทเป็นพลังอำนาจในการขจัดปัญหาในชาตินี้ และสามารถแลกชีวิตที่ดีในโลกหลังความตายได้อีกด้วย

การทำบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกายที่มุ่งเน้นสมบัติทั้งในชาตินี้และชาติหน้านั้น สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมในด้านชนชั้น แม้ว่า ในสังคมไทยจะไม่มีการแบ่งชนชั้นที่ชัดเจน แต่ก็มีการแบ่งชนชั้นทางสังคมตามสถานะทางสังคม หรือด้วยความร่ำรวยเป็นหลัก ตัวบทวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายมีการผลิตซ้ำความคิดเกี่ยวกับความร่ำรวยกว่า คนรวยเป็นชนชั้นสูงในสังคม และหากต้องการร่ำรวยก็จะต้องทำบุญให้มาก นอกจากนี้ การนำเสนอแนวคิดเรื่องบุญตามแนวทางของธรรมกายยังสื่อนัยทางความคิดว่าการทำบุญที่ “ถูกต้อง” คือ การทำบุญกับวัดพระธรรมกาย ทั้งที่การทำบุญที่แท้จริงมิได้มีลักษณะเจาะจงว่าต้องทำบุญที่วัดใดวัดหนึ่งเท่านั้น

4. แนวคิดการสร้างบารมีในพุทธศาสนากับแนวคิดการสร้างบุญและบารมีของวัดพระธรรมกาย

สุนทรี โชติดิลก (2560) กล่าวถึง แนวคิดเรื่องบารมีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักพุทธศาสนา โดยแนวคิดเรื่องบารมีมีอิทธิพลต่อตัวบทที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกาย แต่มีลักษณะที่ต่างไปจากความหมายของคำว่า “บารมี” ในบริบทพุทธศาสนาที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงการบำเพ็ญคุณธรรมอย่างอุกฤษฏ์ของผู้ที่ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนคำว่า “บารมี” ตามแนวทางของวัดพระธรรมกาย หมายถึง การทำบุญอย่างยิ่งยวด ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตทางความหมายจากเดิม คือ บารมีของพระโพธิสัตว์ไปสู่บารมีของปุถุชน ดังนั้น จึงเป็นการขยายขอบเขตทางความหมายจากเดิม คือ บารมีของพระโพธิสัตว์ ไปสู่บารมีของปุถุชน ดังนั้น จึงเป็นการสื่อนัยทางความคิดได้ว่า เมื่อทำบุญกับวัดพระธรรมกายถือว่า เป็นการสะสมบารมี และการปฏิบัติตามหลักวิชชาธรรมกายเป็นแนวทางที่นำไปสู่การหลุดพ้น ซึ่งอาจเป็นการช่วยยืนยัน “ความถูกต้อง” ของวิชาธรรมกายในฐานะ “ความจริง” ของการหลุดพ้นตามหลักศาสนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *