กฎแห่งกรรม เข้าใจหลักกรรม ลัทธิที่ผิดทั้งสาม

สามลัทธิเดียรถีย์ มิใช่พุทธ

แง่ต่อไป คือ จะต้องแยกหลักกรรมออกจากลัทธิผิด ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เรียกว่า ติตภายตนะ 3

ติตถายตนะ แปลว่า ประชุมแห่งลัทธิ ลัทธิเดียร์ถีย์ มี 3 ลัทธิ

ลัทธิที่ 1 ถือว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี มิใช่สุข ก็มิใช่ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนทั้งสิ้น (ฟังให้ดี ระวังนะ จะสับสนกับพระพุทธศาสนา) ลัทธินี้เรียกว่า บุพเพกตวาท

ลัทธิที่ 2 บอกว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี ได้ไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นเพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาลให้ทั้งสิ้น คือ พระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้เป็น ลัทธินี้เรียกว่า อิศวรนิรมิตวาท หรือ อิสสรนิมมานเหตุวาท

ลัทธิที่ 3 ถือว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี ได้ไม่สุข ได้ไม่ทุกข์ก็ดี ล้วนแต่เป็นเรื่องบังเอิญ เป็นไปเองลอย ๆ แล้วแต่โชคชะตา ไม่มีเหตุปัจจัย ลัทธินี้เรียกว่า อเหตุวาท

หลักเหล่านี้มีมาในพระคัมภีร์ทั้งนั้น ติตถายตนะทั้ง 3 ท่านกล่าวไว้ทั้งในพระสูตรและในอภิธรรม ในพระอภิธรรมท่านเน้นไว้ในคัมภีร์วิภังค์ พระไตรปิฎกเล่ม 35 ข้อ 940 แต่ในพระสูตรก็มีในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 501 แต่เรามักไม่เอามาพูดกัน ส่วนนิยาม 5 อยู่ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม ซึ่งอธิบายถึงเรื่องกฎเกณฑ์แห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

นิยาม 5 นั้น สำหรับเอาไว้พิจารณาความเป็นเหตุปัจจัยให้รอบคอบ อย่าไปเอาอะไรเข้ากรรมหมด ส่วนติตถายตนะหรือประชุมลัทธิ 3 พวก ก็ผิดหลักพระพุทธศาสนา ได้แก่

  1. บุพเพกตวาท ถือว่า อะไร ๆ ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน
  2. อิศวรนิรมิตวาท ถือว่า จะเป็นอะไร ๆ ก็เพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาล หรือพระผู้เป็นเจ้าบันดาล
  3. อเหตุวาท ถือว่า สิ่งทั้งหลายอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีเหตุปัจจัย แล้วแต่จะบังเอิญเป็นไป คือ ลัทธิโชคชะตา

สามลัทธินี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า เป็นลัทธิที่ผิด เหตุผลที่ผิดคือ เพราะมันทำให้คนไม่มีฉันทะ และไม่มีความเพียรที่จะทำอะไร เนื่องจาก เป็นความเชื่อที่ว่า สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นไปอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ หรือไปขึ้นต่อตัวการภายนอกที่เราจะควบคุมไม่ได้ และไม่ขึ้นกับการกระทำของเรา

ลัทธิกรรมเก่า คือ ลัทธินิครนถ์

โดยเฉพาะลัทธิที่ 1 นั้น ถือว่า อะไร ๆ ก็แล้วแต่กรรมปางก่อน มันจะเป็นอย่างไรก็สุดแต่กรรมเก่า เราจะทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์ กรรมปางก่อนมันกำหนดไว้หมดแล้ว แล้วเราจะไปทำอะไรได้ ก็ต้องปล่อย คอยรอ แล้วแต่มันจะเป็นไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลัทธินี้เป็นลัทธิของพวกนิครนถ์ หัวหน้าชื่อว่า นิครถนาฏบุตร ให้ไปดูพระไตรปิฎก เล่ม 14 พระสูตรแรก เทวทหสูตร ตรัสเรื่องนี้โดยเฉพาะก่อนเลย ส่วนในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร ตรัสเรื่องนี้ไว้รวมกัน 3 ลัทธิ แต่ในเทวทหสูตร พระไตรปิฎกเล่ม 14 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ตรัสเฉพาะเรื่องลัทธิที่ 1 ไม่ตรัสลัทธิอื่นด้วย

ลัทธินิครนถ์นี้ได้ถือว่า อะไร ๆ ก็เป็นเพราะ “กรรม” ที่ได้ทำไว้ในชาติก่อน เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำให้สิ้นกรรมเก่าโดยไม่ทำกรรมใหม่ และต้องเผากรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ ลัทธินิครนถ์นี้ต้องแยกให้ดีจากพุทธศาสนา

ต้องระวังตัวเราเองด้วยว่า จะผลุนผลันหรือผลีผลามตกลงไปใน 3 ลัทธินี้ โดยเฉพาะลัทธิกรรมเก่าที่ถือว่าอะไร ๆ ก็แล้วแต่กรรมเก่าเท่านั้น

คำว่า “กรรม” นี้เป็นคำกลาง ๆ เป็นอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้อนาคตก็ได้ พุทธศาสนาเน้นปัจจุบันมาก กรรมเก่าไม่ใช่ไม่มีผลมันมีผลสำคัญ แต่มันเสร็จไปแล้วและเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผลในปัจจุบัน ซึ่งเราจะต้องใช้ปัญญาแยกแยะเพื่อทำกรรมที่ดีและแก้ไขปรับปรุงตัวให้เกิดผลที่ดีต่อไปภายหน้า นี่พูดกันทั่ว ๆ ไป โดยหลักการก็คือ ต้องพยายามแยกให้ถูกต้อง มี 3 ลัทธินี้ ที่จะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนเป็นเบื้องต้น

อันตรายเกิดขึ้นมา เพราะวางอุเบกขาแบบเฉยโง่

ก่อนที่จะผ่านไป มีเกร็ดแทรกอีกนิดหนึ่ง คือ ความเชื่อถือที่อาจคลาดเคลื่อนนิด ๆ หน่อย ๆ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติผิดได้ เช่น การถือแต่ลัทธิกรรมเก่า บางทีก็จะทำให้เรามองว่า ที่เขาประสบผลร้ายที่เกิดมายากจน หรือได้รับเคราะห์กรรมต่าง ๆ ก็ด้วยเพราะเป็นกรรมของเขาเท่านั้น และเมื่อเราบอกว่า นี่เป็นกรรมของเขาแล้ว เราก็เลยจะบอกว่า ให้เขาก้มหน้ารับกรรมนั้นไป เราก็ไม่ต้องช่วยอะไร

เมื่อถือว่า นั่นเป็นกรรมของเขา เราก็ควรวางเฉย แถมยังต้องบอกว่า เราจะปฏิบัติธรรมด้วย คือ ถืออุเบกขา และวางเฉยเสีย การไม่ช่วย คนก็เลยไม่ต้องการจะช่วยเหลือกัน คนที่ได้รับเคราะห์กรรม ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ก็จะต้องยากลำบากต่อไป มีฝรั่งพวกหนึ่งที่ติเตียนพุทธศาสนาว่าจะสอนคนแบบนี้ เราจะต้องพิจารณาตัวเราเองว่า เราจะสอนอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่ตามหลักพุทธศาสนาที่แท้แล้วนั้น ไม่ได้จะสอนอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้จะมีความละเอียดอ่อน (ทางปัญญา)

เราบอกว่า คนที่ประสบเคราะห์กรรม จะได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน ก็เพราะกรรมของเขา ให้พวกเขาก้มหน้ารับกรรมไป อย่างนี้จะถูกไหม อย่างนี้ถือได้ว่า วางอุเบกขาใช่หรือไม่

อุเบกขานั้นแปลว่า อะไรแน่ “อุเบกขา” คือ ความวางเฉยในแง่ที่ได้วางใจเป็นกลาง ในเมื่อเขาสมควรที่จะต้องรับผิดชอบตัวเอง อาทิเช่น เกี่ยวกับความเป็นธรรม เพื่อจะรักษาความเป็นธรรมแล้ว และต้องวางใจเป็นกลางก่อน เมื่อจะต้องลงโทษก็ต้องลงโทษไปตามเหตุผล คือ ตามกรรมที่เขาควรทำ เช่น ศาลจะทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เมื่อคนได้ทำความผิดมา ผู้พิพากษาก็จะต้องวางใจเป็นกลาง แล้วตัดสินว่า ถ้าเขาเป็นผู้ผิด ก็จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายยกบิลเมือง อย่างนี้ เรียกได้ว่า  “วางอุเบกขา”

การวางอุเบกขานั้นจะเป็นไปพร้อมกันกับการรักษาธรรม คือ ในจิตใจก็มีเจตนาที่จะรักษาธรรมไว้ เมื่อจะต้องช่วยคนก็ต้องไม่ให้เขาเสียธรรม ถ้าหากคิดว่าเมตตากรุณาจะช่วยโจรแล้วจะเสียธรรมก็ผิด เมตตากรุณาจะต้องไม่เกินอุเบกขา เมตตา – กรุณา – มุทิตา จะรักษาคน แต่อุเบกขานั้นจะรักษาธรรมไว้ ในกรณีนี้ที่ไม่ได้รักษาธรรมเลย และก็จะไม่ช่วยคน อย่างนี้ผิด นี่ว่ากันอย่างรวบรัดแบบพูดกันง่าย ๆ

ถ้าเราได้ไปเจอคนทุกข์ยากขัดสนข้นแค้น เราก็จะอ้างว่า เป็น (ผล) กรรมของเขาแต่ในชาติปางก่อน ให้เขาก้มหน้าและรับกรรมไป การอ้างอย่างนี้นั้นผิดถึง 3 ด้าน 3 ขั้นตอน

  1. ถ้าเป็นผลกรรมชาติก่อน นี่ก็คือ เขาได้รับผลของกรรมนั้นแล้ว คือ เกิดมาจน สภาพปัจจุบัน คือ สภาพที่ได้รับผลแล้ว ไม่ใช่สภาพรอผล เมื่อผลกรรมเก่าออกไปแล้ว หน้าที่ของเราที่จะทำต่อสภาพปัจจุบันที่เขาทุกข์ยาก ก็คือ ต้องใช้เมตตากรุณาไปช่วยเหลือ เหมือนกับกรณีเด็กว่ายน้ำไม่เป็น เล่นซน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่แล้วไปตกน้ำ การที่เขาตกน้ำก็เป็นรับ (ผล) กรรมของเขาแล้ว ตอนนี้เขากำลังทุกข์ ถึงตอนที่เราต้องใช้ความกรุณาไปช่วย จะไปอ้างว่า เป็น (ผล) กรรมของเขาแล้วปล่อยให้เด็กตาย ย่อมไม่ถูกต้อง
  2. คนเราทำกรรมดี – ชั่วต่าง ๆ มักจะปน ๆ กันไป บางคนทั้งที่ทำความดีมาก แต่เวลาจะตายจิตแว่บไปนึกถึงกรรมไม่ดี เลยพลาดมาเกิดไม่ดี เราพวกมนุษย์ปุถุชนไม่ได้หยั่งรู้เรื่องอย่างนี้เพียงพอที่จะตัดสิน แต่ภาพปัจจุบัน คือ เขาทุกข์เดือดร้อนเป็นที่ตั้งของกรุณา จึงต้องใช้ธรรมข้อกรุณาเข้าไปช่วยเหลือ
  3. ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งหรืออย่างเดียวกันอาจเกิดจากเหตุปัจจัยต่างอย่าง หรือหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน อย่างที่พูดแล้วในเรื่องนิยาม 5 เหตุปัจจัยในอดีตก็มี เหตุปัจจัยในปัจจุบันก็มีเหตุปัจจัยภายในก็มี เหตุปัจจัยภายนอกก็มี

ในเรื่องความยากจนนี้ ถ้าเป็นสภาพทางสังคม ขอให้ลองไปดูอย่างจักกวัตติสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 11) หรือกูฏทันตสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 9) จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงเน้นเหตุปัจจัยและการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารการปกครองบ้างเมือง อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะต้องไม่มองข้ามไป อย่ามองอะไรแบบทึกทักทันทีง่าย ๆ หลักธรรมประเภทนี้ ทรงสอนไว้เพื่อให้รุ้จักใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ไม่ใช่มองแบบตีคลุม

ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเราถืออุเบกขาวางเฉย ก็กลายเป็น อัญญาเบกขา คือ เฉยโง่ กลายเป็นบาปอกุศลไป เพราะวางเฉยโดยไม่รู้เรื่องราว ไม่เหมือนกรณีที่มีคนลักขโมยของ แล้วถูกจับคุมขัง เรารู้ว่า อะไรเป็นอะไร แล้วเราจึงวางอุเบกขาเพื่อรักษาธรรม

ฉะนั้น ถ้าหากคนเขามีความทุกข์ยากเดือดร้อนลำบาก เรื่องอะไรจะไม่ช่วยเขา การช่วยเขานั้นก็เป็นการทำกรรมดีของตัวเราเองไปด้วย และก็เป็นการมีเมตตากรุณาที่ช่วยเขา ช่วยให้เขาทำความดี โดยเมื่อเขาได้รับการช่วยเหลือนั้นแล้ว เขาก็จะมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวและเขาจะมีกำลังที่จะไปทำกรรมดีอื่น ๆ ต่อไป แต่การที่จะช่วยที่ดีที่สุดก็คือ การช่วยให้เขาสามารถจะช่วยตัวเองได้

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดกัน แต่การที่จะบอกและเหมาลงไปว่า คนได้รับทุกข์ยากเดือดร้อนและเป็นกรรมของเขา ต้องปล่อยให้เขารับกรรมไป อย่างนี้ไม่ถูก ก็ต้องมีหลักว่า เป็นเรื่องของการจะรักษาธรรมหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นแง่ต่าง ๆ ที่จะมาช่วยในการพิจารณาเรื่อง “กรรม”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *