“ศรัทธา” ในสังคมไทย

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยึดถือและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการหล่อหลอมมาหลายชั่วอายุคน ทำให้เกิดทัศนะ วิถีการดำเนินชีวิต การแสดงออกทางสังคม ดังนั้น “ศรัทธา” จึงหมายถึง ความเชื่อนำให้บุคคลเข้าไปใกล้ เข้าไปศึกษา ฉะนั้น ความสงสัยจึงทำให้มนุษย์มีศรัทธาเข้าไปศึกษาว่า อะไรและทำไมของเรื่องราวต่าง ๆ นั้น จึงได้เป็นเช่นนั้น จึงได้ผลอย่างนี้ ทำไมเรื่องบางเรื่องจึงทำให้มนุษย์เป็นทุกข์ทรมาน ทำไมมนุษย์จึงไม่มีความสุขใจ ทำไมมนุษย์จึงไม่มีความสำเร็จตามความต้องการ ความสงสัยต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นแก่มนุษย์มากมาย กล่าวคือ อะไรเป็นสิ่งสร้างโลก? และสร้างเมื่อไร? โลกเป็นของใคร? และถูกสร้างมาเพื่อใคร? ทำไมจึงต้องมีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มากมายในโลก? ใครเป็นผู้ที่มีอำนาจปกครองสิ่งเหล่านี้? เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า มนุษย์ไม่สามารถที่จะหาคำตอบเหล่านี้ จากคำถามโดยเพียงข้อสังเกตของมนุษย์เอง ทั้งไม่สามารถที่จุได้ด้วยเพียงเหตุและผล มนุษย์จึงมีความเชื่อว่า จะต้องมีจุดมุ่งหมายต่อชีวิตของคน และต่อชีวิตทั่ว ๆ ไป ถึงแม้ว่า มนุษย์จะยังไม่สามารถรู้ถึงจุดมุ่งหมายนั้นเป็นอย่างไร มนุษย์จึงสรุปจากข้อสังเกตของตนเองว่า จะต้องมีระเบียบอยู่ในธรรมชาติ

จะเห็นได้ว่า มนุษย์ไม่สามารถที่จะหาคำตอบเหล่านี้ จากคำถามโดยเพียงข้อสังเกตของมนุษย์เอง ทั้งไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยเพียงเหตุและผล มนุษย์จึงมีความเชื่อว่า จะต้องมีจุดมุ่งหมายต่อชีวิตคน และต่อชีวิตทั่ว ๆ ไป ถึงแม้ว่า มนุษย์จะยังไม่สามารถรู้ถึงจุดมุ่งหมายนั้นเป็นอย่างไร มนุษย์จึงสรุปจากข้อสังเกตของตนเองว่า จะต้องมีระเบียบอยู่ในธรรมชาติ

จากความเชื่อนี้ ชีวิตมนุษย์นั้นจึงมีจุดมุ่งหมายโดยทั่วไป ซึ่งแต่ละบุคคลที่อาศัยอยู่ด้วยกัน จึงทำให้เกิดสถาบันทางศาสนาขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนถึงเรื่องศรัทธา มนุษย์เราเมื่อมีศรัทธาแล้วย่อมจะมีธรรมอื่น ๆ ตามมาด้วย ศรัทธาเป็นเพียงเครื่องนำทาง ศรัทธาเป็นผู้ชักนำให้บุคคลเข้าหา ให้สนทนา ให้ตั้งใจฟัง ให้จดจำ ให้นำไปพิจารณา ให้บุคคลได้บรรลุจุดมุ่งหมายอันสูงสุดแห่งชีวิต ดังบาลีว่า “สทฺธาย ตรติ โอฆํ” แปลว่า คนย่อมข้ามโอฆะได้เพราะมีศรัทธา

ดังนั้น ศรัทธาธรรมอันเป็นกำลังที่ทำให้มนุษย์เกิดความคิด ซึ่งเป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่การที่จะนำไปสู่การบรรลุอริยมรรค คนเราจะทำอะไรให้ประสบกับผลสำเร็จได้นั้น เบื้องต้นต้องเป็นที่มีศรัทธา คนเราเมื่อมีศรัทธาแล้ว ย่อมจะมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด ทำให้มนุษย์เกิดความวิริยะอุตสาหะ ในการที่จะเกิดความพยายามกระทำกิจการทั้งหลายทางโลกและทางธรรม ในการดำเนินกิจการไปด้วยความพยายามนั้น จะดำเนินไปด้วยความไม่ประมาท เพราะบุคคลผู้ที่มีความประมาทนั้นเป็นหนทางนำไปสู่ความตาย ความเสียหายและความพินาศ การดำเนินกิจการทั้งทางโลกและทางธรรม จึงต้องอาศัยบุคคลผู้มีสติ และสตินั้นจะส่งผลให้มีสมาธิ สติควบคุมสมาธิ คือ ธรรมอันเป็นพลังแห่งความมั่นคงให้บุคคลดำเนินชีวิตไปด้วยความมั่นใจ กล้าหาญ ไม่หวาดกลัวแก่ภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในที่สุดก็จะทำให้คนได้รับสิ่งที่พึงปรารถนา คือ แสงสว่างแห่งปัญญา ปัญญาทำให้คนรู้ดีรู้ชั่ว รู้ผิดรู้ถูก รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์และสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ รู้บุญและรูปบาป เพราะฉะนั้น ศรัทธาจึงเป็นธรรมที่ทำให้เกิดกำลังอย่างมหาศาลในทางพระพุทธศาสนา จึงเรียกว่า พละธรรม 5 ประการ คือ

  1. ศรัทธา คือ เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
  2. วิริยะ คือ ความขยันหมั่นเพียรในทางที่ชอบธรรม
  3. สติ คือ ความระลึกได้ จำได้หมายรู้
  4. สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น มั่นคงเด็ดเดี่ยวแน่วแน่
  5. ปัญญา คือ ความรอบรู้ในสิ่งต่าง ๆ ตามสภาวะความเป็นจริง

“ศรัทธา” ตามความเชื่อของมนุษย์นั้น คนไทยก็เป็นมนุษย์ที่มีความเชื่อในเรื่องราวต่าง ๆ เช่น เชื่อเรื่องผีสางเทวดา เชื่อเรื่องพระพรหม และเชื่อเรื่องสัตว์ในอบายภูมิ คนไทยยังมีความเชื่อเรื่องชีวิตที่มิใช่มนุษย์ และสัตว์อีกจำพวกซึ่งอยู่ในภพภูมิระดับเดียวกันกับมนุษย์ แต่อยู่ต่างมิติและต่างสภาวะชีวิตกัน เรียกสิ่งที่มีชีวิตต่างมิติกันนี้ว่า ผีสางเทวดา ผีสางและเทวดาเหล่านั้น ก็เป็นความเชื่อท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ อันเป็นความเชื่อพื้นฐานของสังคมไทยสมัยก่อน

พอที่จะจับประเด็นได้ว่า คนไทยสมัยก่อนนั้นมีแนวความคิด ความเชื่อผสมผสานกันเพราะความที่ยังไม่เป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง เมื่อใครมีอำนาจปกครองก็นำเอาลัทธิความคิดความเชื่อของตนไปใช้ปฏิบัติ ผู้ที่ถูกปกครองก็ต้องจำใจปฏิบัติตามกลุ่มชนในสังคมนั้น ๆ

ศรัทธา ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ได้มีแนวความคิดความเชื่อเข้ามาสู่แผ่นดินไทย ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เมื่ออาณาจักรกัมพูชาของชนชาติขอมได้แผ่ขยายอำนาจทางการเมืองการปกครองเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของพื้นที่ภาคกลางของไทย เมื่อไทยได้ตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมืองของพวกขอมแล้ว ไทยก็ได้สร้างความเป็นอิสรภาพทางวัฒนธรรมทั้งในด้านแนวความคิดความเชื่อ แนวทางการดำเนินชีวิตอย่างไทย ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเถรวาท อาณาจักรสุโขทัยจึงเป็นอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นหลัก

ความที่คนไทยเราเคยมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรชาติขอมมาก่อนร่องรอยทางวัฒนธรรมของไทยแบบพราหมณ์จึงยังมีอยู่ มีข้อที่น่าสังเกต คือ ระยะต้น ๆ นั้น คติแบบพราหมณ์ที่มีอยู่ในสมัยสุโขทัย เป็นเพียงร่องรอยทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้น อำนาจแห่งแนวความคิดความเชื่อตามคตินี้ จึงจำกัดขอบเขตอยู่แต่ภายในเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น มิได้มีอำนาจมิได้มีบทบาทต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน และสังคมไทยส่วนรวมแต่ประการใดเลย

ความเชื่อในอำนาจของไสยศาสตร์ อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดถึงบุญฤทธิ์และวิทยาคมต่าง ๆ นั้นน่าจะเป็นความเชื่อ และการปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย ความรู้เรื่องนี้ชาวไทยน่าจะมีอยู่ เพราะตกอยู่การปกครองของชนชาติขอมมาก่อน ในช่วยที่สมัยขอมรุ่งเรืองอำนาจนั้น แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัด จะมีก็แต่หลักฐานในศิลาจารึกของวัดป่ามะม่วงที่ได้กล่าวไว้ในหลักศิลาจารึก เมื่อ พ.ศ. 1904 ว่า พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงมีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางโหราศาสตร์ มีการพยากรณ์สิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำ

อย่างไรก็ตาม คงจะเป็นที่ยอมรับกันได้โดยทั่วไปว่า ไม่ใช่พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ได้อธิบายเรื่องศรัทธา ยังมีลัทธิความเชื่ออื่นอีกที่มีอิทธิพลต่อความเข้าใจในเรื่องความเชื่อของชาวไทยพุทธ ชีวิตของชาวไทยพุทธ ท่านพระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ว่า “ชนชาติไทยได้นับถือศาสนาต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ในรูปแบบของเจดีย์”

จะเห็นได้ว่า ชาวไทยพุทธนั้นยังได้นับถือผีสางเทวดา เป็นพื้นฐานของความเชื่อถือมาก่อนถัดขึ้นไปก็เป็นการนับถือไสยศาสตร์ ซึ่งมีคติมาจากศาสนาพราหมณ์และฮินดู สูงขึ้นไปอีกก็นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นการวิวัฒนาการทางความคิดความเชื่อของชาวไทยพุทธนั้นเอง

ตามลักษณะความคิดความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ และเรื่องศาสนาของชาวไทยพุทธนั้นจะมีระดับความคิดความเชื่อแตกต่าง เช่น ถ้าเป็นชาวบ้านสามัญชนโดยทั่วไป ที่ไม่มีการศึกษา ก็จะมีความคิดความเชื่อตาม ๆ กัน คือ ตามผู้นำในสังคมในชุมชนนั้น ๆ ถ้าเป็นระดับของผู้ที่มีการเรียนรู้มีความเข้าใจทางพิธีการ มีการศึกษาก็จะมีความคิดความเชื่อตามครูอาจารย์ที่สอนสืบ ๆ กันมา และอาจจะถูกยกย่องให้เป็นเจ้าพิธีการ หรือเจ้าพิธีกรรมให้เป็นครู เป็นอาจารย์เป็นที่เคารพนับถือของชุมชนนั้นสืบต่อไป ถ้าเป็นระดับที่มีการประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนของพระศาสนาอย่างเคร่งครัดและจริงจังก็จะมีความคิดความเชื่อที่ถูกต้องมากขึ้น จะได้บรรลุมรรคผลตามบุญวาสนาบารมีของแต่ละบุคคล และจะเป็นผู้ที่มีความเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนตามสภาวธรรมตามความเป็นจริงแล้วจะพัฒนาความคิดความเชื่อของตนเองจนเกิดเป็นปัญญาอันสูงสุดได้

ธรรมเนียม จารีตประเพณี และศาสนาที่ปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวันของบุคคลและสังคมไทยที่มีในปัจจุบัน ถึงแม้ว่า จะมีความคิดความเชื่อที่เข้าใจต่างกัน แต่ก็มีการพัฒนาของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย พัฒนาหลักพิธีกรรม การจัดระเบียบองค์กรของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม ถึงจะอย่างไรก็ต้องเน้นบทบาทความคิดความเชื่อแบบพุทธเข้าไปในสถาบันต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อองค์กรทางสังคม โดยเน้นวัฒนธรรมไทย เอกลักษณ์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ศรัทธาที่พึงประสงค์ในพระพุทธศาสนา จึงเป็นความคิดความเชื่อ ความเลื่อมใสที่มีปัญญามารองรับ คือ สัทธาญาณสัมปยุต ซึ่งเป็นศรัทธาที่มีกระบวนการพัฒนาทางปัญญา และเมื่อพัฒนาได้ถึงขั้นสูงสุดแล้ว ก็จะเป็นศรัทธาที่มีลักษณะตรงกันข้าม คือ “อัสสัทธา” ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์

“อัสสัทธา” คือ ความไม่เชื่อ หมายถึง ไม่เชื่อถือผู้อื่น ซึ่งเป็นคุณลักษณะ คุณสมบัติของพระอรหันต์ เพราะว่า พระอรหันต์จะมีคุณลักษณะที่เป็นอัสสัทธา ทั้งนี้ เพราะพระอรหันต์ได้รู้ได้เห็นประจักษ์แล้วจึงไม่ต้องเชื่อใคร ๆ หรือต่อเหตุผลใด ๆ อีก อย่างไรก็ตาม ศรัทธาก็ยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ศรัทธาเป็นพลังที่สามารถยึดเหนี่ยวบุคคลไว้ ไม่ให้ลู่ไหลไปตามกระแส ไม่ให้คล้อยตามไปกับสิ่งจูงใจอื่น ๆ

“ศรัทธา” เป็นพลังผลักดันให้กระแสความคิดของมนุษย์เป็นไปตามกระบวนทัศน์ที่ดีตามแนวทางที่ศรัทธาได้ตระเตรียมไว้ ทำให้มนุษย์มีแนวความคิดความเชื่อที่ถูกต้องตามศีลธรรม สำหรับปุถุชนสามัญโดยทั่วไปแล้ว ศีลธรรมที่จะดำรงอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยศรัทธาโดยเริ่มต้นด้วยกระบวนทัศน์ ที่การฝึกอบรมศีลธรรมด้วยแนวความคิดความเชื่อในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสียก่อน เช่น การฝึกอบรมด้วยการอาศัยคำแนะนำสั่งสอนจากผู้อื่น ทำให้บุคคลนั้นได้รับความพอใจในเหตุผลเบื้องต้น แล้วจึงเชื่อในความมีเหตุผลนั้น หรือลักษณะอันสมควรแก่เหตุผลที่ถูกต้องได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธาออกบวชจากเรือน เป็นบรรพชิตอุทิศเฉพาะเรา ยังกุลบุตรเหล่านั้นให้ถือตามและยังประชุมชนเหล่านั้นให้ปฏิบัติตามแบบอย่างของเรา

นอกจากนี้ ศรัทธายังมีมาในหัวข้อธรรมอื่น ๆ เพื่อควบคุมศรัทธาให้อยู่ในความหมายที่ถูกต้อง ถ้าที่ใดมีธรรมข้อที่ว่าด้วยศรัทธาก็จะต้องมีธรรมข้อที่ว่าด้วยปัญญาอยู่ด้วยเสมอ เช่น

  1. ในสัมปรายิกัตถธรรม คือ สัททาสัมปทา สีลสัมปทา จาคสัมปทา และปัญญาสัมปทา
  2. ในสมชีวิธรรม คือ สัทธา สีละ จาคะ และปัญญา
  3. ในเวสารัชชกรณธรรม คือ สัทธา สีละ พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ และปัญญา
  4. ในอริยทรัพย์ คือ สัทธา สีละ หิริ โอตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และปัญญา

ตามปกติแล้ว ศรัทธา ย่อมจะมาเป็นข้อที่หนึ่ง และปัญญาจะมาเป็นข้อสุดท้าย แต่ถ้าในกรณีใดที่กล่าวถึงปัญญาแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศรัทธาอีก จะเห็นได้ว่า ปัญญานั้นสำคัญกว่าศรัทธาโดยทั่วไปปัญญาอยู่ในฐานะเป็นตัวควบคุม และอยู่ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

ครั้งหนึ่ง พระโมคัลลานะได้กล่าวกับ พระสารีบุตรตอนหนึ่งว่า “ท่านผู้มีอายุกุลบุตรเหล่าใด เป็นผู้ที่มีศรัทธาออกบวชจากเรือนเป็นบรรพชิต จะเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่หลอกลวง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก จะคุ้มครองอินทรีย์ทั้งหลาย ได้รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรอยู่เป็นนิตย์ มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา ไม่เป็นคนมักมาก มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่น มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่ มีปัญญา และฟังธรรมของท่านพระสารีบุตรแล้ว จะเป็นเหมือนได้ดื่มกลืนไว้ด้วยใจ พระสารีบุตรเป็นเพื่อนพรหมจรรย์ที่ทำให้กุลบุตรออกจาก “อกุศล และให้ตั้งอยู่ในกุศล”

ตามความหมายนี้ ศรัทธาจึงเป็นคุณสมบัติที่จะนำไปสู่คุณความดี เป็นองค์ธรรมกระตุ้นให้บุคคลมีความใฝ่ดี ถ้าบุคคลเมื่อไม่มีศรัทธาแล้ว ก็จะเป็นคนที่ไม่สนใจออกบวชไม่ศึกษาธรรมจะเป็นคนโอ้อวด ไม่มีมารยาท หลอกลวง ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอก ปากกล้า ไม่คุ้มครองอินทรีย์ทั้งหลายไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่มีความเคารพในสิกขา เป็นคนมักมากและย่อหย่อนเกียจคร้าน มีสติสัมปชัญญะฟั่นเฟือน มีจิตใจฟุ้งซ่าน มีปัญญาทรามและเป็นดังคนใบ้

ศรัทธา มีกำลังได้โอกาสแล้ว เพราะในเวลานี้ไม่มีเหตุเครื่องกังวล คือ วิตก วิจารณ์ แม้สมาธิก็ปรากฏได้ เพราะได้สหาย คือ ศรัทธาเป็นกำลัง ฉะนั้น พึงทราบว่า ทุติยฌานนี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสไว้อย่างนี้ฯ แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงสัมปสาทนสัทธา คือ ความเชื่อถือ ความปลงใจเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่งแล้ว

จะเห็นได้ว่า มนุษย์ที่มีศรัทธานั้น สามารถที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นศรัทธาที่ขาดปัญญา (สัทธาญาณวิปปยุต) คือ ศรัทธาที่ขาดปัญญาพิจารณา ไม่รู้ไม่เข้าใจในเหตุและผลว่าที่ทำไปแล้วจะเป็นประโยชน์อย่างไรหรือไม่ ผู้ที่มีศรัทธาก็ไม่ทันได้พิจารณา ก็ให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ชีวิตเลือดเนื้อของตัวเองก็ยังสามารถที่จะให้ได้ ผู้ที่มีศรัทธาก็ต้องพิจารณาเหมือนกัน ถ้าผู้ที่มีศรัทธายังไม่ทันพิจารณา ศรัทธาถ้าขาดปัญญาแล้วก็เป็นศรัทธาที่มีโทษได้ เช่น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นมีอยู่ เขาสามารถที่จะสละเลือดเนื้อของตนถวายพระก็ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้พิจารณาไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน รูปนั้นต้องอาบัติทุกกฎ” ความเชื่อของคนไทยเรา ส่วนใหญ่แล้วได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาลัทธิพราหมณ์ และอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ตลอดถึงความเชื่อความรู้จากนักคิดของคนไทยสมัยโบราณ โดยได้ปฏิบัติสืบ ๆ กันมา จนกลายเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมและประเพณีจนทุกวันนี้

สังคมของคนไทย ได้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีสถาบันวัดและพระสงฆ์ที่มีบทบาทเกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย วัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม พระสงฆ์ได้มีอิทธิพลต่อสังคมคนไทยเป็นอย่างมาก โดยความเป็นผู้นำทางจิตใจและเป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อความเลื่อมใส ทำให้คนไทยได้เคารพนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ชาวพุทธไทยทั้งที่เจริญแล้วและยังไม่เจริญก็ย่อมจะมีความเชื่อแตกต่างกันไป ผู้ที่มีความเชื่อไสยศาสตร์ก็มีมากและจะแตกต่างกันก็แต่ว่าใครจะมีความเชื่อมาก หรือใครจะมีความเชื่อน้อยกว่ากันเท่านั้นความเชื่อนี้ไม่ใช่ว่า จะมีอยู่แต่ในหมู่ชุมชนที่เรียกกันว่า ชาวบ้านท่านั้น แม้แต่ในชุมชนที่เรียกตัวเองว่าปัญญาชนแล้ว ก็ยังปรากฏว่ามีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์อยู่เหมือนกัน

เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า เดิมทีเดียวนั้นมนุษย์ได้นับถือไสยศาสตร์กันมาก่อน ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวไทยเราเท่านั้น แม้ว่า จะเป็นจีน แขก ฝรั่งหรือชนชาติใดภาษาใดในโลกนี้ก็นับผีเป็นสรณะกันมาก่อนด้วยกันทั้งนั้น ตลอดจนถือเครื่องรางของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์และถือโชคลางด้วย ในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการนับถือไสยศาสตร์กันอยู่จะต่างกันก็แต่ระหว่างชนชาติหรือผู้ที่นับถือนั้นว่า จะมีลักษณะที่ประณีต หรือหยาบกว่ากัน อันเป็นเรื่องปลีกย่อยเท่านั้นเอง หาใช่ต่างกันด้วยมูลฐานแห่งความเชื่อไม่ดังมีคำกล่าวของคนไทยอยู่บทหนึ่งว่า พุทธกับไสยย่อมอาศัยกัน พุทธในที่นี้หมายถึง พระพุทธศาสนาส่วนคำว่าไสยในที่นี้ ก็หมายถึงลัทธิอื่น ๆ อันเนื่องด้วยเวทมนตร์คาถานี้ก็จะเรียกว่า “ไสยศาสตร์” ซึ่งหมายถึง ความเชื่อและความรู้อันเนื่องด้วยสิ่งลึกลับที่เข้าใจว่าอยู่เหนือธรรมชาติ ที่ไม่สามารถจะทราบหรือพิสูจน์ได้ ด้วยเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ เช่น เรื่องผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลังรวมทั้งเรื่องโชคลาภ และเคราะห์กรรมด้วย

สรุปได้ว่า สังคมไทยมีศาสนาพุทธเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาแต่อดีต และเป็นศาสนาที่คนไทยนับถือมากที่สุด หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิต เป็นสิ่งที่ช่วยอบรมขัดเกลา ให้ชาวไทยมีเมตตา อ่อนน้อม จิตใจดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งนี้ หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนสอนให้พุทธศาสนิกชนเป็นคนดี มีศีลธรรมยึดหลักเหตุผล และความเป็นจริง นอกจากหลักคำสอนแล้ว ยังมีประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนไทยได้ประกอบพิธีกรรม เพื่อกุศล และเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เช่น ประเพณีทอดกฐิน แห่เทียนพรรษา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้มีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *