บุญส่วนที่เป็นผลในฐานะที่เป็นผลจากการกระทำ

บุญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลของการกระทำนั้นกล่าวถึงบุญในฐานะผลจากการกระทำของบุคคลซึ่งก็คือ ความสุข ดังปรากฏในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เมตตสูตร ความว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่า “บุญ” นี้เป็นชื่อของความสุข เราย่อมรู้ชัดว่า บุญที่เราทำแล้วตลอดกาลนาน มีผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ อันเราเสวยมาแล้วตลอดกาลนาน (อง.สตฺตก. 23/62/120)

ในพระสุตตันปิฎก ขุททกนิกาย บาปวรรค อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ ก็ได้กล่าวถึงผลของการทำบุญว่าทำให้เกิดความสุข ดังปรากฏข้อความว่า

นอกจากนี้ จากการศึกษาแนวคิดเรื่อง “บุญ” ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาในงานวิจัยเรื่อง “บุญ: ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกาย” ของสุนทรี โชติดิลก” (2560) แสดงให้เห็นว่าในพระไตรปิฎกและอรรถกถากล่าวถึง “บุญ” และ “ผลของการทำบุญ” ว่าทำให้เกิดความสุข ดังปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ส่วนตติยวรรค ปุญญสูตร และอรรถกถาปุญญสูตร ดังข้อความต่อไปนี้

สุโข ปุญญสส อุจจโย การสั่งสมบุญนำมาซึ่งความสุข (ขุ.ธ. เล่ม 25 ข้อ 19)

สุโข วิปาโก ปุญญานํ วิบากแห่งบุญทั้งหลายเป็นความสุข (ม.ม. เล่ม 13 ข้อ 99)

อนึ่ง ความสุขในทางพระพุทธศาสนานั้น มีระดับที่แตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่ความสุขขั้นต่ำไปสู่ความสุขขั้นสูง ความสุขที่สูงขึ้นจะบรรลุได้ยากขึ้นและต้องอาศัยการบำเพ็ญภาวนาทางจิตเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ความสุขสามารถออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ โลกียสุขและโลกุตตรสุข (พระครูวิมลธรรมรังสี และคณะ, 2560) โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. โลกียสุข หมายถึง ความสุขอันเป็นวิสัยของโลก หรือเป็นความสุขที่เกี่ยวข้องกับภพและภูมิ โดยภพในที่นี้ หมายถึง แดนอันเป็นที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย จำแนกได้เป็น กามภพ รูปภพ และอรูปภพ โลกียสุขหรือสุขที่อิงอามิสนี้จัดเป็นความสุขทางกายที่คฤหัสถ์มุ่งแสวงหา ถือเป็นความสุขระดับต้น เป็นความสุขที่เกิดจากกามซึ่งมี 2 อย่าง คือ วัตถุกามและกิเลสกาม นอกจากนี้ ยังรวมถึงสุขในรูปฌาน 4 และสุขในอรูปฌาน 4
  2. โลกุตตรสุข เป็นความสุขที่เนื่องด้วยมรรค ผล นิพพาน เกิดจากการดับกองทุกข์และกิเลสทั้งปวง โลกุตตรสุขถือเป็นสุงที่สูงกว่าโลกียสุข ประกอบด้วย สุขในรูปฌาน 4 สุขในอรูปฌาน 4 และสุขในสัญญาเวทยิตนิดรธสมาบัติ

อย่างไรก็ตาม สุขในรูปฌาน 4 สุขในอรูปฌาน 4 เป็นได้ทั้งโลกียสุขและโลกุตตรสุข ทั้งนี้ เพราะฌานเป็นเจตสิก คือ สิ่งที่มีลักษณะประกอบด้วยจิต เมื่อจิตของบุคคลเป็นโลกียะ ฌานก็เป็นโลกียฌาน ความสุขที่ได้จึงเป็นโลกียสุข แต่ถ้าจิตของบุคคลเป็นโลกียะ ฌานก็เป็นโลกียฌาน ความสุขที่ได้จึงเป็นโลกียสุข แต่ถ้าจิตของบุคคลเป็นโลกุตตระ ฌานก็เป็นโลกุตตรฌาน ความสุขที่ได้ก็เป็นโลกุตตรสุข

แม้ว่า โลกียสุขและโลกุตตรสุขจะประกอบไปด้วยความสุขเหมือนกัน แต่เป็นความสุขในระดับที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โลกียสุขเป็นความสุขระดับต้น ผู้ใดยึดถือความสุขระดับนี้จะรู้สึกถึงความอึดอัด ความถูกรบกวน ความไม่ปลอดโปร่ง สาเหตุที่ทำให้มีความรู้สึกเช่นนี้เป็นเพราะโลกียสุขเป็นความสุขที่ยังเคลือบแฝงด้วยกามสุขซึ่งมี 2 อย่าง คือ วัตถุกามและกิเลสกามดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ส่วนโลกุตตรสุขหรือนิพพานสุขนั้นเป็นความสุขที่ประณีตกว่า เป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม ไม่ต้องพึ่งสิ่งเสพเสวยจากภายนอก ผู้ที่เข้าถึงความสุขระดับนี้ จะอยู่ในภาวะโปร่งโล่งเป็นอิสระเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ไม่มีอะไรรบกวนบีบคั้น และรู้สึกเบื่อในกามสุข แม้เห็นบุคคลมีความสุขพรั่งพร้อมบริบูรณ์กำลังเสพเสวยความสุขก็จะไม่อิจฉาบุคคลนั้นหรืออยากมีความสุขนั้นเลย

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า นิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายระดับสูงสุดอันเป็นอุดมคติตามแนวคิดพระพุทธศาสนานั้นจัดอยู่ในโลกุตตรสุข เป็นความสุขที่พ้นจากความทุกข์โดยเด็ดขาด ตัดความอยากความยึดติดได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นความสุขที่ไม่มีการเสพเสวยใด ๆ ความสุขที่ว่านี้ ก็คือ นิพพานสุข

นิพพานสุขนี้มีอธิบายไว้ในนิพพานสูตร (อง.นวก.23/34/500-503) ความว่า ความสุขในกามคุณและความสุขในฌานเป็นความสุขที่ประณีตขึ้นเป็นลำดับตามระดับของความละเอียดของสัญญา ซึ่งจะเบาบางลงไปเรื่อยจนถึงสัญญาเวทยิตนิดรธสมาบัติและนิพพานที่ไม่มีสัญญาเหลืออยู่ พระสารีบุตรอธิบายว่า นิพพานที่ไม่มีเวทนานั่นแลเป็นสุข โดยแสดงให้เห็นความทุกข์ คือ ความกดดัน (อาพาธ) หรือความบีบคั้น (ปีฬนะ) ที่ความสุขระดับต่าง ๆ มีอยู่ ไล่จากกามสุขไปจนถึงความสุขในเนวสัญญายตนฌาน โดยเกิดมาจากอารมณ์ที่หยาบกว่าซึ่งยังสามารถปรากฏขึ้นมารบกวน เช่น ความสุขในปฐมฌานยังถูกสัญญามนสิการที่ประกอบด้วย กามฟุ้งขึ้นมารบกวน และความสุขในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ถูกสัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานรบกวน จนเมื่อเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธและอาสวะดับหมดจึงเป็นสุขอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือภาวะที่ไม่มีสัญญาและเวทนาเหลืออยู่ จึงไม่มีสัญญามนสิการอะไรมารบกวนได้ (วัชระ งามจิตรเจริญ, 2561)

ด้วยความสุขอันเป็นผลจากการทำความดี ซึ่งจัดเป็นบุญส่วนที่เป็นผลในฐานะที่เป็นผลจากการกระทำตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ถือเป็นความสุขทางจิตใจ กล่าวคือ เป็นความสุขที่เกิดจากความบริสุทธิ์ใจ คือ ใจที่สะอาดปราศจากอกุศลมูล อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ความสุขดังกล่าวเกิดจากการทำบุญกิริยาวัตถุ ซึ่งประกอบด้วยทาน คือ การให้ การแบ่งปัน การสละเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ศีล คือ ความประพฤติสุจริต งดเว้นจากการเบียดเบียนกันและกัน และภาวนา คือ การอบรมจิตใจให้ตั้งมั่น พัฒนาจิตใจ (จิตภาวนา) ให้เจริญงอกงามด้วยคุณสมบัติที่ดีงาม เป็นสุข สดใส เบิกบานและสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิจนถึงขั้นฌานต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) ให้เห็นแจ้งความจริง หยั่งถึงไตรลักษณ์ จนมีจิตใจเป็นอิสระไม่หวั่นไหวหรือถูกครอบงำด้วยโลกธรรม และรู้จักมนสิการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การทำบุญในขั้นสูงที่เกิดจากการภาวนาด้านจิต (จิตภาวนา) แม้ว่าจะทำให้ได้สมาธิประณีต แต่ก็ไปได้ไกลสุด คือ ฌานสมบัติและโลกียอภิญญาเท่านั้น กล่าวได้ว่า ความสุขที่เกิดจากการทำบุญนั้นไม่ทำให้เกิดความสุขถึงขั้นนิพพานสุขซึ่งเป็นเป้าหมายหรืออุดมคติของชีวิตในพระพุทธศาสนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *