เพศศึกษา SEX วัยรุ่นเลือกได้

วัยรุ่นช่วงอายุระหว่าง 8 – 18 ปี เป็นวัยที่ร่างกายเปลี่ยนจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ เรียกว่า วัยรุ่นหรือวัยเจริญพันธุ์ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยมีฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้น การที่จะบอกให้แน่ชัดลงไปว่า เด็กชายและเด็กหญิงเข้าสู่วัยรุ่นเมื่อใดนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะเด็กทั้งสองเพศนอกจากจะแตกเนื้อหนุ่มสาวไม่พร้อมกันแล้ว คนแต่ละคนในเพศเดียวกัน ก็ยังแตกเนื้อหนุ่มสาวไม่พร้อมกันอีกด้วย แต่พอจะกล่าวโดยทั่วไปได้ว่า เด็กหญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นในอายุระหว่าง 13 – 15 ปี และเด็กชายจะเริ่มเมื่ออายุ 15 ปี โดยเด็กหญิงจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายในช่วงนี้เร็วกว่าเด็กชายประมาณ 1 – 2 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะ หรือแบบแผนการเจริญเติบโตของแต่ละคน

ฮอร์โมนเพศหญิงและชายเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ต่อมไฮโปเตลามัส (Hypothalamus) ซึ่งเป็นต่อมเล็ก ๆ ในสมอง เริ่มส่งสัญญาณผ่านต่อมใต้สมองพิทูอิตารี (Pituitary gland หรือ Master gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อที่สำคัญที่สุดของร่างกาย เพราะมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่แตกต่างกัน เพื่อไปกระตุ้นและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงอวัยวะที่เกี่ยวกับเพศ คือ รังไข่สำหรับผู้หญิงในการผลิตฮอร์โมนเพศ เอสโทรเจน (Estrogen) และลูกอัณฑะสำหรับผู้ชายผลิตฮอร์โมนเพศ เทสทอสเทอโรน (Testosterone) ฮฮร์โมนเอสโทรเจน และฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศนี้ ทำให้ร่างกายวัยรุ่นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีไขมัน และกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ตัวสูงขึ้น มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศรักแร้ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีกลิ่นตัว มีสิว ผู้หญิงจะมีสะโพกผาย ต้นขา หน้าอก และก้นใหญ่ขึ้น และมีประจำเดือน ส่วนผู้ชาย เสียงจะแตกห้าวฝันเปียก และทั้งหญิงชาย จะเริ่มมีความรู้สึกต้องการทางเพศ หรือมีอารมณ์เพศ

จู๋ อวัยวะเพศชาย

อวัยวะเพศชาย ประกอบด้วย ลูกอัณฑะ ท่อน้ำอสุจิ ต่อมสร้างน้ำเลี้ยง อสุจิ ต่อมลูกหมาก และองคชาติ ลูกอัณฑะของวัยรุ่นชายเริ่มเจริญเติบโตเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 10 – 13 ปีครึ่ง และใช้เวลา 2 – 4 ปี กว่าจะเติบโต และทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เมื่ออายุ 14 – 16 ปี ลูกอัณฑะเจริญเติบโต และทำงานได้เต็มที่ บางคนเริ่มฝันเปียก และเข้าใจผิดคิดว่า “ฝันเปียก” คือ การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง กลัวความผิด กลัวเพื่อนล้อ บางรายวิตกกังวล เพราะมักฝันถึงเพศตรงข้าม ซึ่งทั้งหมดไม่ถือว่า เป็นเรื่องผิดปกติอย่างใด

จู๋สะอาดปราศจากโรค

  1. ทำความสะอาดทุกวัน เช้า และเย็นด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน ไม่ระคายผิว แล้วซับให้แห้งไม่ปล่อยให้อับชื้น
  2. ในกรณีที่ไม่ได้ตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เมื่อจะทำความสะอาดควรดึงหนังหุ้มปลายให้ร่นขึ้นมาถึงคอคอด เพื่อล้างเหงื่อไคล และคราบน้ำปัสสาวะที่หมักหมม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะเพศชาย หรือมะเร็งที่ปากมดลูกผู้หญิงได้ หากมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่ตัดหนังหุ้มปลาย หรือขลิบอวัยวะเพศออกจะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายและไม่เกิดการหมักหมม
  3. หมั่นสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ผื่นคัน ตุ่ม ไฝ แผลบวม แสบขัดท่อปัสสาวะ มีหนองหรือเลือดไหลเวลาปัสสาวะ
  4. ปัสสาวะจนสุด อย่าให้เหลือค้างท่อปัสสาวะ ซึ่งอาจจะหยดและหมักหมมอยู่ที่กางเกงใน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้
  5. หลังมีเพศสัมพันธ์ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้ง ในกรณีที่ใช้ถุงยางอนามัย และ/หรือเจลหล่อลื่นควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่ฤทธิ์อ่อน ๆ จนสะอาด
  6. เปลี่ยนกางเกงในทุกวัน โดยเฉพาะกางเกงในที่อับชื้นหรือเปียกปัสสาวะ ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ

จิ๋ม อวัยวะเพศหญิง

อวัยวะเพศหญิง ช่วงอายุ 11 – 13 ปี วัยรุ่นหญิงส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเป็นสาวเต็มตัว เต้านมเริ่มขยาย เริ่มมีรอบเดือน ซึ่งจิ๋มจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในช่วง 1 ปี ก่อนมีประจำเดือน นั่นแสดงว่า มดลูก และช่องคลอดเจริญเติบโตเต็มที่ ในระยะ 1 – 2 ปี แรกของการมีประจำเดือนจะไม่มีไข่ตก และจะมาไม่สม่ำเสมอ เมื่อมีประจำเดือนแล้ว จะยังสูงต่อไปอีกเล็กน้อย และจะเติบโตเต็มที่ประมาณอายุ 15 – 17 ปี เป็นช่วงที่กำลังสนใจเรื่องรูปร่าง หน้าตา และมักจะส่องกระจกเพื่อสำรวจรูปร่าง หรืออวัยวะต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดปกติ

จิ๋มสะอาดปราศจากโรค

  1. ทำความสะอาดบริเวณภายนอกทุกวันด้วยน้ำ และสบู่แล้วซับให้แห้ง
  2. ไม่สวนล้างช่องคลอด ไม่ว่าจะด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เพราะจะทำให้ระคายเคือง
  3. ไม่ถอนขนอ่อน โกน หรือย้อมสี หากยาวเกินไปสามารถเล็มหรือตัดแต่งได้
  4. เมื่อมีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ (ทุก ๆ 4 ชั่วโมง) แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดแล้ว ซับให้แห้งทุกครั้ง
  5. ไม่ใช้แผ่นอนามัยขนาดเล็กติดต่อกันทุกวัน เพราะจะทำให้เกิดความชื้นสะสม
  6. ใช้กางเกงในที่มีเนื้อผ้าบางเบา ไม่คับ หรือหลวมเกินไป
  7. ไม่ใช้กางเกงในร่วมกับผู้อื่น และควรซักตามให้แห้ง เพื่อป้องกันเชื้อรา
  8. หลังถ่ายอุจจาระควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วซับให้แห้ง โดยเช็คจากอวัยวะเพศไปหาทวารหนัก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคจากทวารหนักติดมายังช่องคลอด
  9. ควรปัสสาวะก่อน และหลังมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง

อสุจิ

น้ำอสุจิของผู้ชาย จำนวน 1 มิลลิลิตร จะมีตัวอสุจิอยู่ประมาณ 20 ล้านตัว โดยอสุจิผลิตมาจากอัณฑะ ซึ่งประกอบด้วย ลูกอัณฑะ ถุงอัณฑะ และก้านอัณฑะ จากนั้น จึงส่งผ่านท่อนำอสุจิ ต่อมสร้างน้ำเลี้ยง ต่อมลูกหมาก และต่อมขับเมือก จนกระทั่ง ไหลออกจากอวัยวะเพศ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์แต่ละครั้ง เมื่อผู้ชายถึงจุดสุดยอด จะหลั่งน้ำอสุจิได้สูงสุดถึง 11 มิลลิลิตร เท่ากับว่า จะมีตัวอสุจิวิ่งเข้าสู่รังไข่ของผู้หญิงประมาณ 200 ล้านตัว โดยการตั้งท้องของผู้หญิงจะอาศัยอสุจิ แค่เพียง 1 ตัวเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จึงมีโอกาสตั้งท้องสูงมาก

ประจำเดือน

เมื่อโตเป็นสาวแล้ว พบว่า มีเลือดไหลออกทางจิ๋มก็ไม่ต้องตกใจ นั่นคือ “สัญญาณของความสาว” ที่เรียกกันว่า “ประจำเดือน” เกิดจากการที่ร่างกายของเราไม่เกิดการปฏิสนธิ หรือพูดง่าย ๆ คือ ไม่มีอสุจิมาฝังตัวกับไข่ มีวงจรแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะมีประจำเดือน (3 – 5 วันแรกของรอบเดือน) นานประมาณ 3 – 7 วัน แล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคน ระยะก่อนไข่ตก (วันที่ 6 – 13 ของรอบเดือน) ระยะไข่ตก (14 วันก่อนถึงรอบเดือนถัดไป) และระยะก่อนมีประจำเดือน นอกจากประจำเดือน เพื่อนผู้หญิงส่วนใหญ่ยังมีตกขาวไหลจากช่องคลอดด้วย ลักษณะเป็นมูกใส หรือขาวขุ่น แต่ก็ไม่ต้องตกใจหรือรังเกียจเพื่อน เพราะตกขาวบ่งบอกถึงสภาวะสมดุลของจิ๋ม และแสดงว่า ร่างกายของเรายังสามารถกำจัดเชื้อโรคได้

การปฏิสนธิ

เริ่มจากไข่ที่ประกอบด้วย เซลล์หลายชั้นและอสุจิหลายตัวที่เจาะผ่านเข้าไปได้ แต่เมื่อผ่านเข้าไปแล้ว จะเจอบริเวณภายในของไข่ มีเซลล์บาง ๆ และชั้นของเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งห่อหุ้มอยู่ ถือเป็นเขตหวงห้าม มีเพียงอสุจิที่เร็ว และแข็งแรงที่สุด เพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ทะลุเข้าไปผสมกับไข่ได้ เมื่ออสุจิที่แข็งแรงที่สุดแหวกว่ายไปถึงไข่ ส่วนหัวของอสุจิจะมีเอนไซม์ย่อยสลายเยื่อหุ้มไข่ และเมื่ออสุจิแทรกตัวเข้าไปแล้ว ส่วนหางของอสุจิจะทำหน้าที่ปิดช่องทางไม่ให้อสุจิตัวอื่นเข้ามาได้อีก หลังจากปฏิสนธิ เซลล์จะแบ่งตามกลไกธรรมชาติที่จัดสรรไว้อย่างลงตัว ตามข้อมูลพันธุกรรมที่บรรจุไว้เรียบร้อย แล้วในไข่และอสุจิของพ่อแม่ โดยในหัวอสุจิมีข้อมูลทางพันธุกรรมหรือโครโมโซม 23 แท่งของผู้ชาย จับคู่เข้าหาโครโมโซมของไข่อีก 23 แท่งของผู้หญิง ทำให้เกิดเซลล์ใหม่ที่มีโครโมโซม 46 แท่ง ซึ่งในกระบวนการนี้ ไข่และอสุจิอย่างละหนึ่งจะกลายเป็นเซลล์เดียวกัน แล้วมีการแบ่งตัวทวีคูณอย่างรวดเร็วเกิดเป็นตัวอ่อน จนกระทั่ง เติบโตเป็นทารกบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงให้หนาและนุ่มขึ้น เพื่อเตรียมรับตัวอ่อน นอกจากนี้ ยังยืดขยายออกเมื่อตัวอ่อนตัวโตขึ้น รวมทั้งมูกบริเวณปากมดลูกจะข้นเหนียวตอนปิดปากทางป้องกันเชื้อโรค เมื่อไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว 4 สัปดาห์ตัวอ่อน จะเติบโตพร้อมกับการเกิดรกซึ่งนำเลือดและอาหารของแม่ผ่านมาถึงตัวลูก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *