หมดปัญหา ถ้ารู้ทัน และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การมองเห็นคุณค่าตนเองเปลี่ยนไป การมีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ ส่งผลให้เรามองกิจกรรมทางเพศเป็นเพียง “การแลกเปลี่ยน” อารมณ์และวัตถุทางเพศ ยิ่งเมื่อมีบ่อยครั้งขึ้นการเคารพ และเห็นคุณค่าตนเองก็จะยิ่งน้อยลง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์ อาจเรียกว่า “กามโรค” หรือ “วีดี” เกิดจาก การติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก กับผู้ที่มีเชื้อ ปัจจุบัน ใช้คำว่า “การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์” เพื่อให้มีความหมายกว้างขึ้น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นโรคที่สามารถเป็นได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบได้มากในหมู่กลุ่มวัยรุ่น เนื่องจาก วัยรุ่นปัจจุบัน นิยมที่จะมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน โดยจะขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันตัวเอง รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ในปัจจุบันนี้ คู่แต่งงานมีอัตราในการหย่าร้างสูงขึ้น ทำให้คนมีสามี และหรือภรรยาหลายคน จึงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น

สิ่งที่เป็นอันตรายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ เมื่อเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว มักจะไม่เกิดอาการ ในบางคนจึงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้วโดยไม่รู้ตัว และเป็นปัญหามากในการจัดการทางระบบสาธารณสุข และสิ่งที่สำคัญ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้ สามารถจะติดต่อไปยังทารกในครรภ์ได้

สาเหตุของการเป็น “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์”

สาเหตุการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  1. เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดไม่มียารักษา และบางชนิดยังสามารถฝังตัวอยู่ และกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ เริมที่อวัยวะเพศ หูดหงอนไก่ ไวรัส ตับอักเสบบี ฯลฯ
  2. เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส ท่อปัสสาวะอักเสบ หนองในเทียม ช่องคลอดอักเสบ ฯลฯ
  3. เกิดจากเชื้ออื่น ๆ เช่น พยาธิ สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • คนที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่คนใหม่ ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใน 1 ปีที่ผ่านมา
  • ผู้ที่อยู่ไกลกับคู่รักระหว่างที่อยู่ห่างกันต่างฝ่ายอาจจะมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญ ได้แก่

  1. โรคเอดส์ (AIDS)
    • เชื้อ Human immunodeficiency virus หรือ HIV เข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ที่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรคและติดเชื้อฉวยโอกาสจนเสียชีวิต
  2. หนองใน (Gonorrhoea)
    • ระคายเคืองในท่อปัสสาวะ แสบขัดเวลาปัสสาวะ และมีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ อาจจะทำให้เกิดการอักเสบในช่องท้อง หรือเป็นหมัน หากไม่ได้รับการรักษา
  3. หนองในเทียม (Non – gonococcal Cervicitis / Non – gonococcal urethritis)
    • มีอาการแสบปลายท่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัด และมีหนองไหล และมีมูกออกเล็กน้อยโดยเฉพาะในช่วงเช้า ส่วนผู้หญิงอาจมีอาการตกขาวผิดปกติ
  4. แผลริมอ่อน (Chancroid)
    • เกิดแผลที่อวัยวะเพศ บวมและเจ็บ บางคนมีต่อมน้ำเหลือที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียกไข่ดันบวม หากไม่รักษาหนองจะแตกออกจากต่อมน้ำเหลือง บางรายต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวม และเป็นฝี
  5. เริมที่อวัยวะเพศ (Genita Herpes Simplex Virus Infection)
    • ปวดแสบในบริเวณขา ก้น และอวัยวะเพศ แล้วก็ตามด้วยผื่นเป็นตุ่มน้ำใส ซึ่งแผลจะหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ แต่เชื้อจะยังอยู่ในร่างกาย เมื่อร่างกายเริ่มอ่อนแอเชื้อก็จะกลับเป็นใหม่
  6. หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)
    • ถ้าใช้เข็มสะกิดตรงกลางแล้วบีบดูจะได้เนื้อหูดสีขาว ๆ คล้ายข้าวสุก มักเป็นที่บริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศภายนอก และโคนขาด้านใน
  7. หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)
    • ในผู้ชายพบบริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ตลอดทั้งบริเวณรอบรอยเปิดขอบ ท่อปัสสาวะ และอัณฑะ ส่วนผู้หญิงจะพบที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวารหนัก และฝีเย็บ
  8. หิด (Scabies)
    • มีตุ่มน้ำใส และตุ่มหนองคันขึ้นกระจายทั้ง 2 ข้างของร่างกาย มักพบตามง่ามนิ้วมือ ข้อศอก รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ฯลฯ ผู้ป่วยมักมีอาการคันมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน
  9. ซิฟิลิส (Syphilis)
    • เริ่มแรกจะเป็นก้อนแข็ง แต่ไม่เจ็บที่บริเวณอวัยวะเพศ หากไม่รักษาจะกลายเป็นระยะที่สองที่เรียกว่า เข้าข้อ หรือออกดอก จึงถือซิฟิลิสเป็นโรคอันตราย มีอาการเรื้อรัง สามารถติดต่อยาวนานกว่า 2 ปี
  10. โลน (Pediculosis Pubis)
    • อาศัยอยู่ที่ขนหัวเหน่า ชอบไชตามรากขนอ่อน และดูดเลือดคนเป็นอาหาร ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการคัน เมื่อเกาจะทำให้เจ้าตัวเชื้อแพร่ไปยังบริเวณอื่นได้
  11. พยาธิช่องคลอด (Vaginal Trichomoniasis)
    • มีอาการเหมือนตกขาวผิดปกติ จะมีสีเขียวขุ่น หรือสีเหลืองเข้ม มีฟองอากาศ และจะมีกลิ่นเหม็น เกิดอาการระคายเคืองที่บริเวณอวัยวะเพศ จะเจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์ คัน และแสบที่ปากช่องคลอด
  12. เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis)
    • มีอาการระคายเคืองบริเวณช่องคลอด มีการตกขาวขุ่นจับเป็นก้อน อาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด เจ็บขณะร่วมเพศ
  13. อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Diseases, PID) หรือโรคปีกมดลูกอักเสบ
    • เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อของมดลูก รังไข่ หรือท่อรังไข่ อาจเสียชีวิตให้หากติดเชื้อรุนแรง และหากไม่รักษา อาจเกิดโรคแทรกซ้อน จนเป็นหมัน หรือเสียชีวิตได้

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ

  1. ใช้ถุงยางอนามัย หากจะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่แน่ใจว่า มีเชื้อหรือไม่
  2. รักษาความสะอาดของร่างกาย และอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
  3. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่ของตัวเอง
  4. ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเน้นการตรวจกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  5. เรียนรู้ ศึกษาอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  6. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
  7. การมีเพศสัมพันธ์ในคู่รักเพศเดียวกัน ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  8. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย

วิธีปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  1. ต้องรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค
  2. บอกคู่นอนอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  3. รักษาอาการ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบมากขึ้น
  5. งดดื่มเครื่องดื่มมึนเมา เพราะอาจลืมป้องกัน หรือร่วมเพศโดยขาดสติ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  6. เมื่อรู้ว่า ติดเชื้อ ไม่ควรซื้อยามารักษาเอง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *