การแก้กรรม หนทางแห่งการดับกรรม

สำหรับการแก้กรรมที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น ไม่มีปรากฏในหลักฐานชั้นต้น คือ “พระไตรปิฎก” แต่กลับมีปรากฏในอรรถกถาธรรมบท โดยปรากฏการแก้กรรมใน 3 ลักษณะ ได้แก่

1.การกระทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วผลของความดีนั้นปิดโอกาสในการให้ผลกรรมชั่ว

ในกรณีแรกนี้ จะเห็นจากเรื่องของ “องคุลีมาล” ซึ่งเดิมนั้นมีชื่อเดิมว่า “อหิงสกะ” แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน องคุลีมาลเป็นลูกของปุโรหิตในพระราชสำนักเมืองสาวัตถี ซึ่งเหตุที่ตั้งชื่อนี้ ก็เนื่องจาก ตัวอหิงสกะนั้นได้เกิดในวันฤกษ์ดาวโจร และเมื่ออหิงสกะเติบใหญ่ขึ้นก็ได้เดินทางไปศึกษาวิชาที่สำนัก “ตักสิลา” ด้วยความเฉลียวฉลาดของอหิงสกะจึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ และจึงเป็นที่อิจฉาของบรรดาศิษย์ร่วมสำนักด้วย ทำให้บรรดาศิษย์เหล่านั้นได้วางแผนยุยงอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ของอหิงสกะก็ได้หลงเชื่อ และได้ออกอุบายว่า หากอหิงสกะอยากเรียนวิชาสุดท้ายนั้นจะต้องนำนิ้วมือของคนมามอบให้อาจารย์ 1,000 นิ้ว อาจารย์จึงจะถ่ายทอดวิชาให้ อหิงสกะก็เชื่อในคำพูดของอาจารย์จึงเริ่มต้นฆ่าคนเพื่อจะนำนิ้วมาให้อาจารย์จนถึงนิ้วที่ 999 นิ้ว อหิงสกะนำมาทำเป็นมาลัยแขวนไว้ที่คอ ชาวบ้านต่างพากันเรียกว่า “องคุลีมาล”

ขณะนั้นแม่ขององคุลีมาลได้ทราบจากสามีของตนว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สั่งให้จับองคุลีมาลมาประหาร จึงต้องการไปเตือนลูกให้หนีไปเสีย ขณะนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นว่า องคุลีมาลเป็นผู้มีอุปนิสัยพอที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผลได้ และทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าพระองค์มิได้เสด็จไปโปรด องคุลีมาลก็ฆ่ามารดาของตนเสีย จะเป็นผู้กระทำอนันตริยกรรมไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินี้ แม้จะได้ฟังธรรมโดยตรงจากพระพุทธองค์ พระองค์จึงเสด็จจาริกมุ่งตรงไปยังป่าชาลิวัน เพื่อสกัดองคุลีมาลไว้มิให้ทันได้ฆ่ามารดา องคุลีมาลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลจึงตัดสินใจจะฆ่าเพื่อตัดนิ้วที่ 1,000 คิดแล้วจึงออกไล่ตามพระพุทธเจ้า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ในลักษณะที่องคุลีมาลจะวิ่งจนสุดกำลังก็ไม่อาจทันพระผู้มีพระภาค ผู้เสด็จไปตามปกติได้ จึงหยุดยืนกล่าวกับพระผู้มีพระภาคว่า จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราหยุดแล้ว เราได้หยุด คือ เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว องคุลีมาลท่านเล่าจงหยุดเถิด องคุลีมาลได้ยินพระสุรเสียงอันแจ่มใส พระดำรัสที่คมคายเช่นนั้น ก็เกิดใจอ่อน รู้สึกสำนึกผิดได้ทันทีแล้ววางดาบ ทิ้งธนู สลัดแล่งโยนทิ้งลงเหวที่หุบเขา เข้าไปถวายบังคมที่พระบาทของพระพุทธองค์ ทูลขอบวชในพุทธศาสนา แต่ในช่วงแรกที่ท่านบวชนั้น เวลาที่ออกบิณฑบาตมักจะถูกชาวบ้านเอาสิ่งของขว้างปาได้รับบาดเจ็บตามร่างกายอยู่เป็นประจำ แต่ท่านวางเฉยไม่ตอบได้ ภายหลังชาวบ้านก็เริ่มยอมรับในตัวท่าน และหลังจากการปฏิบัติธรรมอย่างมุ่งมั่นก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตามหลักกฎแห่งกรรมท่านจะต้องรับผลกรรมจากการฆ่าคนทั้งหมด แต่จากการที่ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงทำให้ท่านได้รับเพียงเศษของผลกรรมในปัจจุบันชาติเท่านั้น ส่วนผลกรรมที่รอให้ผลในชาติต่อไปนั้น ไม่มีโอกาสในผลอีกต่อไป

2. ผลกรรมของการกระทำความดีที่มีกำลังมากจนสามารถบรรเทาผลของกรรมเก่าให้น้อยลงจากเดิม

ในกรณีที่สองนี้เห็นได้จากเรื่องของ “พระนางสามาวดี” ในตอนที่ว่าด้วย “โฆสกเศรษฐี” ในเรื่องนี้ได้กล่าวถึงนายโกตุลิตะที่ได้พาภรรยาชื่อนางกาลีกับลูกพากันอพยพออกจากเมืองที่เกิดโรคอหิวาต์ระบาด ขณะที่เดินทางผ่านทะเลทรายนั้นก็เกิดความเหนื่อยล้า นายโกตลิตะจึงคุยกับนางกาลีว่า ให้ทิ้งลูกแต่นางกาลีผู้เป็นภรรยาไม่ยินยอม บอกนายโกตุลิตะว่า จะให้ผลัดกันอุ้มลูกแล้วเดินทางต่อ แต่เมื่อถึงคราวที่จะเปลี่ยนผลัดอุ้มลูกเขาก็ได้แอบทิ้งลูกไว้ เมื่อนางกาลีภรรยารู้เข้าก็อ้อนวอนให้กลับไปรับลูก แต่เมื่อกลับไปก็พบว่า ลูกของพวกเขาได้เสียชีวิตแล้ว ทั้งสองคนจึงเดินทางต่อจนพ้นทะเลทราย เมื่อไปถึงเมืองและได้พักอยู่กับบ้านตระกูลของคนเลี้ยงโค ในขณะที่กำลังกินอาหาร นางกาลีก็ได้แบ่งอาหารส่วนของตนให้สามี เพราะเห็นว่า สามีนั้นหิวมาก ฝ่ายสามีขณะที่กำลังจะกินนั้นก็ได้เห็นนายโคบาลนำอาหารไปเลี้ยงสุนัข ในใจก็เกิดความคิดว่า สุนัขตัวนี้ช่างโชคดีที่ได้กินแต่อาหารดี ๆ คืนนั้นนายโกตุลิตะเกิดมีอาการอาหารไม่ย่อยจนตาย และก็ได้เกิดเป็นสุนัขในชาติต่อมา

เมื่อเกิดมาเป็นสุนัขนั้นก็ได้คอยทำหน้าที่นำทางพระปัจเจกพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งเวลาบิณฑบาต ขณะนำทางก็จะคอยเห่าไล่สัตว์ร้ายออกไปให้พ้นทาง เมื่อตายลงก็ได้เกิดเป็นมนุษย์และถูกผู้อื่นทิ้งเพื่อให้ตายถึง 7 ครั้ง แต่เมื่อถูกคนผ่านมาพบก็มักจะเกิดความรักเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

การที่ต้องถูกคนอื่นทิ้งนั้น เกิดมาจากผลกรรมที่ได้ทิ้งลูกให้ตายในชาติที่เกิดเป็นนายโกตุลิตะ แต่เมื่อถูกทิ้งทุกครั้งจะมีคนมาพบและเกิดความรักใคร่ เป็นผลมาจากรรมในชาติที่เกิดเป็นสุนัขค่อนนำทางให้ปัจเจกพระพุทธเจ้า หากไม่มีผลกรรมเมื่อตอนเกิดเป็นสุนัขเมื่อถูกทิ้งอาจถึงแก่ความตายตั้งแต่ครั้งแรก

3. ผลของการกระทำในปัจจุบันมีกำลังมากจนสามารถลบล้างหรือให้ผลทดแทนของกรรมชั่วที่กำลังจะให้ผล

ในกรณีที่สามนี้จะเห็นได้จากเรื่องของ “อายุวัฒนกุมาร” ในเรื่องเล่าถึง พราหมณ์คนหนึ่งได้สึกออกไปเป็นฆราวาส และได้แต่งงานมีครอบครัว หลังจากภรรยาของพราหมณ์ผู้นี้คลอดบุตรออกมาเป็นผู้ชายแล้ว พราหมณ์ก็ได้พาภรรยากับบุตรไปเยี่ยมพราหมณ์ที่ยังบวชบำเพ็ญตบะอยู่นั้น  เมื่อสองสามีภรรยาทำความเคารพ พราหมณ์นักบวชได้กล่าวว่า “ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน” แต่พอตอนที่สองสามีภรรยาให้บุตรชายทำความเคารพ พราหมณ์นั้นกลับนิ่ง ไม่พูดอะไร พราหมณ์ที่สึกออกไปมีครอบครัวเกิดความสงสัย จึงได้สอบถามถึงเหตุผลที่เงียบนั้น พราหมณ์จึงบอกว่า ทารกคนนี้จะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งตนก็ไม่ทราบวิธีป้องกันการเสียชีวิตของทารกนี้ และได้แนะนำให้ไปทูลถามพระพุทธเจ้า

เมื่อคนทั้งสองได้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน” แต่พอพาเด็กเข้าไปมนัสการ พระศาสดากลับทรงนิ่งเสีย และได้ทรงพยากรณ์ว่า เด็กคนนี้จะเสียชีวิตภายใน 7 วันเหมือนกัน เนื่องจาก มีอวรุทธกยักษ์ตนหนึ่งรับใช้ท้าวเวสวัณถึง 12 ปีจึงได้พรจากสำนักท้าวเวสวัณว่า 7 วันหลังจากนี้สามารถจับเด็กทารกผู้ชายดังกล่าวกินเป็นอาหารได้ แต่พระศาสดาได้ตรัสบอกวิธีที่จะป้องกันทารกจากการเสียชีวิต โดยให้สร้างมณฑปไว้ที่ประตูเรือนของพราหมณ์ แล้วนำเด็กขึ้นไปนอนบนมณฑปนั้น จากนั้นก็ให้นิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์สวดพระปริตรเป็นเวลา 7 วัน ในวันสุดท้ายพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเป็นประธานในการทำพิธี หลังจากพราหมณ์และภรรยาได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำเป็นผลให้เด็กน้อยมีอายุยาวนานถึง 120 ปี และได้ชื่อว่า อายุวัฒนกุมาร

การนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์สวดพระปริตร 7 วัน และในวันที่ 7 พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเป็นประธานในการทำพิธีนั้นเป็นกุศโลบายของพระพุทธเจ้าโดยอาศัยกุศลจากการสวดพระปริตรตลอด 7 วัน ทำให้เหล่าเทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่มารวมตัวกัน อวรุทธกยักษ์จึงหมดโอกาสที่จะจับทารกกิน เนื่องจาก อวรุทธกยักษ์เป็นเทาวดาที่มีศักดิ์ต่ำเมื่อมีเทวดาที่มีศักดิ์มากกว่ามารวมกันก็ทำให้อวรุทธกยักษ์จำเป็นต้องหลีกทางให้เทวดาเหล่านั้น เมื่อเลยกำหนดเวลาจึงไม่สามารถกินทารกนั้นได้

จะเห็นได้ว่า ในพุทธปรัชญามีการกล่าวถึง แนวคิดและวิธีการในการแก้กรรมไว้แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การแก้ไขผลของกรรมและการตัดผลของกรรม โดยการแก้ไขผลกรรมนั้น อาศัยกำลังของกรรมดีที่เราได้กระทำในปัจจุบันในการแก้ไขผลของกรรม แต่การแก้ผลกรรมนั้นจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการให้ผลของกรรม และกำลังของกรรมดีที่ทำ

ส่วนการตัดกรรมนั้นมีพื้นฐาน คือ การทำกรรมดีเพื่อลดความโลภ ความโกรธ ความหลงในตัวผู้กระทำลง เนื่องจาก กรรมและวิบากกรรมที่มนุษย์ได้รับนั้นมีสาเหตุมาจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อมนุษย์สามารถขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง และในทางพุทธปรัชญาเรียกว่า “กิริยา”

เมื่อพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก พระองค์ทรงเน้นการตัดกรรมมากกว่าการแก้ไขผลของกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว เพราะในการแก้ไขผลของกรรมนั้นเน้นในส่วนการกระทำมากกว่าการขัดเกลาจิตใจและความคิด ส่วนการตัดกรรมนั้น เน้นการขัดเกลาจิตใจและความคิด เนื่องจาก ทรงสอนว่า การกระทำที่แสดงออกทางกาย ทางวาจา ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจากเจตนา การที่มนุษย์เน้นแก้ไขแค่การกระทำ แต่ไม่ได้พัฒนาที่จิตใจ มนุษย์ก็อาจกระทำกรรมชั่วได้อีก เพราะแรงผลักดันจากกิเลสในจิตใจ จะเห็นได้จากวิธีการที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เป็นทางดับกรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *