ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้กรรม เคราะห์กรรม กรรมเก่า เจ้ากรรมนายเวร

“ปัญหาบางอย่างไม่ใช่ปัญหา หรือไม่ใช่เคราะห์กรรมที่จะต้องแก้”

ในบรรดาปัญหาชีวิตที่ผู้ศรัทธาเข้าใจว่า เป็นผลของกรรมชั่ว และทำให้ได้ผลที่ไม่พึงประสงค์นั้น บางอย่างไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง (หรือไม่เป็นปัญหาด้วยซ้ำ) แต่ก็กลายเป็นปัญหาจนได้ เพราะผู้ศรัทธาตีค่าความไม่สมประสงค์ของตนเองให้เป็นปัญหา เช่น

  • เป็นคนโสด หาคู่ไม่ได้ : การไม่มีคู่ครองนั้นไม่ใช่ปัญหา ถ้าใครคิดว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาก็แสดงว่า เป็นผู้ที่มีทัศนคติคับแคบ ยังมีคนบนโลกอีกมากมายที่เลือกจะใช้ชีวิตเป็นคนโสด คนเหล่านั้น เป็นผู้มีความสุขตามอัตภาพ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะการไม่มีคู่ แถมในบั้นปลายชีวิตก็ยังสามารถแสวงหาสัจธรรมอันสูงสุด หรือความสุขที่แท้จริงได้โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
  • ไม่รวย ไม่โด่งดัง ไม่มีชื่อเสียง : ถ้าใครให้คุณค่าแก่ชีวิตแค่การมีฐานะร่ำรวย หรือมีชื่อเสียงโด่งดังก็แสดงว่า คนผู้นั้นกำลังลุ่มหลงอยู่ในโลกธรรมทั้งแปด หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ลุ่มหลงในวัตถุ ลุ่มหลงในลาภยศ ลุ่มหลงในการหลอกลวง ทั้งหลอกลวงตัวเอง และหลอกลวงผู้อื่น ซึ่งยากที่จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง
  • ถูกนินทาว่าร้ายลับหลัง : นี่ก็ไม่ใช่ผลของกรรมที่จะต้องแก้ เพราะการนินทาว่าร้ายเป็นปกติวิสัยของคนทั่วไป แทนที่จะโกรธแค้นหรือเสียใจ สิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือ พิจารณาว่า ตัวเราเป็นอย่างที่เรานินทาหรือไม่ ถ้าไม่ได้เป็นก็ไม่ต้องใส่ใจ ถ้าเป็นจริงอย่างที่เขานินทาก็ปรับปรุงตัวเท่านั้นเอง

“กล่าวโทษหรือโยนความผิดทั้งหมดให้กรรมเก่า”

โดยไม่พิจารณาถึงกรรมในปัจจุบัน สำนักแก้กรรมต่าง ๆ มักจะพยากรณ์ (สแกนกรรม) ของผู้ศรัทธาว่า ความทุกข์ที่เขากำลังประสบอยู่ในปัจจุบันเกิดจากกรรมเก่าอะไรในอดีตชาติ แล้วก็ดำเนินการแก้กรรมเก่านั้น ๆ โดยไม่พูดถึงความสำคัญของ “ปัจจุบันกรรม”

ตัวอย่างเช่น : ป่วยเป็นโรคมะเร็ง

  • พยากรณ์ว่า เกิดจากกรรมเก่าในอดีตชาติ เช่น เคยทำแท้ง ทารุณกรรมต่อสัตว์
  • วิธีแก้กรรม เช่น บวชพระ สร้างโบสถ์ ทำบุญให้เจ้ากรรมนายเวร

จะเห็นว่า เจ้าสำนักแก้กรรมมุ่งพยากรณ์แต่กรรมเก่าในอดีตชาติ โดยไม่พิจารณาถึงกรรมที่ทำไว้ในชาติปัจจุบันเลย สมมุติว่า ในกรณีนี้ ผู้ศรัทธาเป็นมะเร็งตับ เจ้าสำนักก็สแกนกรรมว่า เกิดจากกรรมเก่าที่เคยทรมานสัตว์ จึงเป็นมะเร็งในชาตินี้ โดยไม่พิจารณาเลยว่า ผู้ศรัทธาคนนี้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร แท้จริงแล้ว เขาอาจจะเป็นคนที่ติดสุราอย่างหนัก เมื่อติดสุราอย่างหนักก็ย่อมมีโอกาสที่จะเป็นโรคตับแข็ง แล้วพัฒนาเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น สาเหตุที่เขาเป็นโรคมะเร็งก็เพราะ “กรรม (การกระทำ) ในปัจจุบัน” ของเขานั่นเอง เขาทำตัวของเขาเอง ไม่ใช่เป็นเพราะกรรมในอดีตชาติแต่อย่างใด แต่เจ้าสำนักแก้กรรมกลับไปโทษกรรมเก่าโดยไม่พิจารณาที่กรรมในปัจจุบัน

“สามารถติดต่อเจ้ากรรมนายเวรได้”

ไม่มีใครรู้ที่มาของคำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” ได้อย่างแน่ชัดและคำคำนี้ก็ไม่เคยปรากฏในพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์อรรถกถา (คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก) ชั้นใดเลย ส่วนในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของ “เจ้ากรรมนายเวร” ว่าหมายถึง “ผู้เคยมีกรรมมีเวรต่อกันมาแต่ชาติก่อน”

ทุกวันนี้ คำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” ถูกใช้ในสำนักแก้กรรมต่าง ๆ อย่างฟุ่มเฟือย และไม่มีความหมายที่ชัดเจนนัก สำนักแก้กรรมเหล่านั้น มักจะให้ควาหมายของ “เจ้ากรรมนายเวร” ดังต่อไปนี้

  1. เจ้ากรรมนายเวร หมายถึง “ผี” หรือ “วิญญาณของคู่เวร” ที่เราเคยทำกรรมชั่วกับเขาไว้เมื่อชาติก่อน แล้วก็ตายจากกันไปในชาตินั้น โดยที่ยังไม่ได้อโหสิกรรมให้แก่กัน เมื่อเขาผู้นั้นตายแล้ว จึงกลายเป็นวิญญาณที่ยังมีความอาฆาตพยาบาทติดค้างอยู่ในใจ และตามจองเวรกลั่นแกล้งเรา แม้เราจะเกิดใหม่ในชาติปัจจุบันแล้ว วิญญาณนั้นก็ยังตามจองเวรอยู่
  2. เจ้ากรรมนายเวร หมายถึง “ผี” หรือ “วิญญาณของคู่เวร” ที่เราเคยทำกรรมชั่วกับเขาไว้ในชาติปัจจุบันนี้เอง เมื่อเตาตายแล้วจึงกลายเป็นวิญญาณพยาบาทที่ตามจองเวรเราต่าง ๆ นานา กรณีที่ถูกสำนักแก้กรรมต่าง ๆ อ้างถึงอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ กรรมเกี่ยวกับการทำแท้ง เจ้าสำนักแก้กรรมบางสำนักอ้างถึงขนาดที่ว่า ตนเองสามารถเห็นวิญญาณของเด็กที่ถูกทำแท้งคอยติดตามผู้เป็นแม่ (ผู้ศรัทธา) ที่เป็นคนทำแท้ง
  3. เจ้ากรรมนายเวร หมายถึง “ภูต” “ยมทูต” หมายถึง “เทพเจ้า” ผู้มีหน้าที่จดบันทึกรรมต่าง ๆ ที่เราทำไว้ แล้วมีอำนาจบังคับให้ผลของกรรมนั้น ๆ ตามสนองต่อเรา เจ้ากรรมนายเวรในความหมายนี้ ค่อนข้างลึกลับ ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิญญาณของมนุษย์ และไม่ใช่คู่เวรโดยตรงของเรา แต่ก็มีตัวมีตนที่ชัดเจน มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ และมีอำนาจเหนือกว่าคู่เวรของเราด้วย และด้วยเหตุที่เจ้ากรรมนายเวรประเภทนี้มีอำนาจเหนือคู่เวร สำนักแก้กรรมบางสำนักจึงอ้างว่า ถ้าสามารถติดต่อกับเจ้ากรรมนายเวรประเภทนี้ได้ก็จะแก้กรรมได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าเจ้ากรรมนายเวรจะถูกตีความหมายอย่างไรก็ตาม ข้ออ้างสำคัญที่สำนักแก้กรรมต่าง ๆ กล่าวอ้างก็คือ พวกเขาสามารถติดต่อกับเจ้ากรรมนายเวรได้ วิธีการติดต่อนี้อาจจะทำผ่านเจ้าสำนักผู้มีญาณทิพย์ หรือพิธีกรรมบางอย่าง โดยมีหลักการ คือ จะต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวรเสียก่อน แล้วจึงติดต่อกับเจ้ากรรมนายเวร เพื่อบอกว่า ตนเองได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แล้ว ขอให้เจ้ากรรมนายเวรร่วมอนุโมทนาผลบุญเหล่านั้นด้วย และจะเป็นการดีมาก ถ้าหากเจ้ากรรมนายเวรยอมอโหสิกรรมให้

ปัญหาทั้งเรื่องที่ว่า “เจ้ากรรมนายเวร คือ อะไรกันแน่? และ “การติดต่อกับเจ้ากรรมนายเวรทำได้จริงหรือไม่? ออกไปก่อน แล้วมาพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ว่า “ในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้ล่วงลับนั้นจะได้รับผลบุญหรือไม่? ประเด็นนี้พุทธศาสนาให้คำอธิบายว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับผลบุญที่เราอุทิศให้ก็ต่อเมื่อไปเกิดในภพภูมิของเปรตที่เรียกว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” เท่านั้น ถ้าหากไปเกิดในภพภูมิอื่น ๆ ไม่ว่าจะสูง หรือต่ำเพียงใด ผู้ล่วงลับจะไม่ได้รับผลบุญที่เราอุทิศให้เลย (แต่ผลบุญก็ไม่ได้หายไปไหน เราเป็นผู้ทำบุญ เราก็เป็นผู้ได้รับผลบุญนั้น ๆ)

เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ข้ออ้างของสำนักแก้กรรมต่าง ๆ ที่ว่า สามารถอุทิศส่วนบุญไปให้เจ้ากรรมนายเวรได้ทุกกรณี จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย ซ้ำยังขัดแย้งกับเนื้อหาในพระไตรปิฎกอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *