“แก้กรรมด้วยวิธีง่าย ๆ แต่ไม่สมเหตุสมผล” (ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกรรมเก่า)

หลักการสำคัญของวิธีแก้กรรมแบบนี้มาจากสมมุติฐานที่ว่า การที่ชีวิตในชาติปัจจุบันประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นเพราะเคยทำกรรมอย่างนี้อย่างนั้นในอดีตชาติ และวิธีแก้กรรมที่สอนกันนั้น ก็ช่างเป็นเรื่องที่ง่ายดายเสียเหลือเกิน ขอเพียงแค่ทำอะไรก็ได้ให้ตรงกันข้ามกับกรรมเก่าในอดีตชาติ เช่น แก้กรรมไร้คู่ครองก็ให้ถวายสิ่งของเป็นคู่ ๆ แก้กรรมเกี่ยวกับโรคตาก็ให้นำไฟฉายไปถวายวัด แก้กรรมโรคปวดหัวไมเกรนก็ให้ปล่อยปลาช่อน (เพราะชาติที่แล้วเคยทุบหัวปลาช่อน) แก้กรรมไร้ชื่อเสียงเกียรติยศก็ให้ทำบุญสร้างระฆังในโบสถ์ แก้กรรมเรียนหนังสือไม่เก่งก็ให้ฟังเทศน์หรืออ่านหนังสือธรรมะ เพราะชาติก่อนไม่ยอมฟังเทศน์ ชาตินี้เลยเกิดมาโง่และเรียนหนังสือไม่เก่ง

เมื่อพิจารณาเฉพาะแค่ “วิธีแก้กรรม” ตามที่ได้ยกตัวอย่างมา จะเห็นว่า ถึงแม้จะเป็นการทำความดีที่ได้กุศลผลบุญจริง ๆ แต่วิธีแก้กรรมเหล่านั้นก็เป็นการสรุป หรือทึกทักเอาอย่างง่าย ๆ แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ว่า เคยทำบาปมาอย่างไรก็ให้ทำบุญในลักษณะที่ตรงกันข้ามเท่านี้ก็สามารถแก้กรรมได้แล้ว ทั้ง ๆ ที่กรรมบางอย่าง แทนที่จะแก้ไขที่ตัวเองก่อน กลับไปแก้กรรมในอดีตชาติที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่า เคยทำกรรมเช่นนั้นจริงหรือไม่

ตัวอย่างเช่น เรียนหนังสือไม่เก่ง แทนที่จะแก้ไขโดยพิจารณาตัวเองว่า ถนัดในวิชาที่เรียนหรือไม่? ตั้งใจเรียนเต็มที่แล้วหรือยัง? แต่สำนักแก้กรรมกลับบอกให้แก้กรรมด้วยการอ่านหนังสือธรรมะ อันที่จริง การอ่านหนังสือธรรมะย่อมเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คือ วิธีการเช่นนั้น มันไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องเรียนหนังสือไม่เก่งแต่อย่างใด

ที่มาของความเชื่อในวิธีแก้กรรมแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” นี้สันนิษฐานได้ว่า มีมูลเหตุมาจากการตีดความหมายของพุทธปรัชญาอย่างผิด ๆ แล้วก็เชื่อสืบต่อกันเรื่อยมา ซึ่งมี 2 ส่วน คือ

(1) เข้าใจคลอดเคลื่อนในเรื่อง “กรรมและผลของกรรมที่สอดรับกันเป็นคู่ ๆ”

ความคลาดเคลื่อนนี้ เกิดจากการตีความหมายของ “จูฬกัมมวิภังคสูตร” แบบผิด ๆ พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายเรื่องกรรมและผลของกรรมที่สอดรับกันเป็นคู่ ๆ ทั้งหมด 7 คู่ ได้แก่ กรรมที่ทำแล้วส่งผลให้ อายุสั้น – อายุยืน มีโรคมาก – มีโรคน้อย ผิวพรรณทราม – ผิวพรรณงาม มีอำนาจน้อย – มีอำนาจมาก มีสมบัติน้อย – มีสมบัติมาก เกิดในสกุลต่ำ – เกิดในสกุลสูง มีปัญญาน้อย – มีปัญญามาก

ความเข้าใจผิดเรื่องกรรมและผลของกรรมที่เป็นคู่ ๆ นี้เอง ทำให้สำนักแก้กรรมทั้งหลายทึกทักเอาเองว่า เมื่อกรรมและผลของกรรมสอดรับกันเป็นคู่ ๆ วิธีแก้กรรมก็คือ ทำกรรมที่ตรงข้ามกันนั่นเอง เช่น กรรมที่เจ็บป่วยบ่อย มีโรครุมเร้ามาก ต้องแก้ด้วยการทำบุญกับสัตว์อนาถาหรือปล่อยนกปล่อยปลา

(2) เข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่อง “อานิสงส์ของทาน”

เรื่องอานิสงส์ของทานนี้มีเนื้อหาอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งส่วนหนึ่งกล่าวถึง อานิสงส์หรือผลบุญที่ได้จากการทำบุญทำทาน เช่น อานิสงส์ที่ได้จากการถวายอาหาร อานิสงส์ที่ได้จากการสร้างศาลาโรงฉัน อานิสงส์ที่ได้จากการถวายดอกไม้บูชา อานิสงส์ที่ได้จากการสร้างพุทธเจดีย์

อานิสงส์ที่ได้จากการทำบุญในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ จะถูกกล่าวถึงแบบรวม ๆ และคล้าย ๆ กัน คือ ได้รับผลบุญที่เป็นมนุษยสมบัติ (สมบัติที่มนุษย์พึงประสงค์) ทิพยสมบัติ หรือสวรรคสมบัติ (สมบัติที่ได้อยู่ในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ) แต่ก็มีบางส่วนที่กล่าวถึง ผลบุญที่ได้รับเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น ผลบุญของพระเถระรูปหนึ่งที่ได้จากการถวายน้ำดื่ม ทำให้ไม่เคยขาดน้ำดื่มเลย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ที่กันดารสักเพียงใด หรือผลบุญของพระเถระรูปหนึ่งที่ได้จากการถวายดวงประทีป (ตะเกียง) ทำให้มีดวงตาดั่งตาทิพย์ มองเห็นได้ไกลเป็นร้อยโยชน์

อานิสงส์ที่ได้รับเป็นกรณีพิเศษตามตัวอย่างทั้งสองนี้ อาจจะทำให้เกิดการตีความที่คลาดเคลื่อนได้ว่า เมื่อถวายสิ่งของนั้น ๆ แล้วจะได้รับผลบุญเป็นของวิเศษตามสิ่งที่ถวายไป เช่น ถวายน้ำดื่มก็จะไม่ขาดแคลน น้ำดื่ม ถวายดวงประทีปก็จะได้ดวงตาเป็นทิพย์ ถ้าหากตีความเช่นนี้ก็จะสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องการแก้กรรมโดยทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกรรมเก่า เช่น กรรมเกี่ยวกับโรคตาต้องแก้ด้วยการถวายไฟฉาย

จะอย่างไรก็ตาม ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงอานิสงส์ที่ได้จากการทำบุญอย่างรวม ๆ ว่า ทำบุญด้วยอะไรก็ย่อมได้รับผลดีทั้งสิ้น แม้จะมีกรณีของผลบุญเฉพาะที่ได้จากการถวายน้ำดื่มหรือดวงประทีปตามที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น แต่ก็ยังมีอีกหลายพระสูตรที่กล่าวถึงการถวายน้ำดื่มหรือดวงประทีปแล้วได้รับผลบุญเป็นมนุษยสมบัติหรือทิพยสมบัติทั่ว ๆ ไป โดยไม่ได้ระบุว่า จะได้รับสิ่งใดเป็นการเฉพาะเจาะจง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *