ทำความเข้าใจ เรื่อง “บาป” บาปกรรมแบบที่ไม่ต้องรอการพิพากษา

หลายคนอาจสงสัยว่า “บาป” หน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งหากจะให้นำบาปมาแสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรม หรือแสดงถึงหน้าตาของมันอาจไม่ชัดเจนเหมือนการยกเอาอากาศมาแสดงให้เห็น แต่บาปนั้นมีลักษณะที่ชัดเจนเหมือนการยกเอาอากาศมาแสดงให้เห็น แต่บาปนั้นมีลักษณะที่ชัดเจน หมายถึง “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้จิตใจเสีย” คือ สิ่งที่ทำให้คุณภาพจิตใจต่ำลงเสียลง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหนก็เรียกว่า “บาป” ทั้งสิ้นในเบื้องต้น

บาปนั้นยังส่งผลของมันในเบื้องปลายก็คือ ทำแล้วจะทำให้พบกับสิ่งที่แย่ เดือดร้อน ทำให้เกิดทุกข์ทั้งทางกายและจิตใจ มากบ้างน้อยบ้าง ตามลำดับของความหนักเบา

สิ่งที่จะเรียกว่า เป็น “บาป” ได้นั้นต้องประกอบด้วย “เจตนา” คือ ถ้าทำการใด ๆ ที่ประกอบด้วยเจตนาที่ไม่ดี ปรารถนาให้สิ่งนั้นสำเร็จผลเพื่อให้ตนเองได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องก็เรียกได้ว่า เป็น บาปในทางพระพุทธศาสนา สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาปเรียกว่า “อกุศลกรรมบบถ 10” แบ่งเป็นสามหมวด ได้แก่

  1. หมวดทางกาย คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
  2. หมวดทางวาจา คือ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
  3. หมวดทางใจหรือทางจิต คือ การคิดโลภมาก อยากได้ของคนอื่นอันไม่สมควร คิดพยาบาทมาดร้ายต่อคนอื่น อยากให้เขาพินาศ อิจฉาริษยา และการมีความเห็นผิด เห็นว่า ความชั่วเป็นสิ่งที่ควรทำ ทำชั่วแล้วจะเจริญก้าวหน้า ชีวิตจะรุ่งเรือง

บาปแบบที่ไม่ต้องรอการพิพากษา

บาปกรรมชนิดนี้เรียกได้ว่า เป็นบาปกรรมหนักที่ไม่ต้องรอการสะสม ไม่ต้องรอเวลามาก ทำแล้วได้รับผลทันทีหรือแทบจะทันที ได้รับความทุกข์ ความทรมานสนองกลับแบบทันตาเห็น พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการทำบาปกรรมที่หนักหนาเป็นเหตุให้สัตว์ไปเกิดในอบายหรือนรกไว้ โดยทรงลำดับตาม “ความรุนแรงแห่งการให้ผล” ไว้ดังนี้

1. การมีความเห็นผิด

การมีความเห็นผิดนั้น ยังแบ่งออกได้เป็นข้อย่อย 3 ประการได้แก่

  • “นัตถิกทิฐิ” คือ การมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่จะได้รับความดี ความชั่วที่จะได้มีความสุขหรือความทุกข์ ฯลฯ ในภพข้างหน้านั้น ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องไปจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาปของตนเองที่ทำไว้ในชีวิตปัจจุบัน
  • “อเหตุกทิฐิ” คือ การที่มีความเห็นว่า ความดี ความสุข ความชั่ว ความทุกข์ ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ในชีวิตในปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำอันเป็นบุญหรือจะเป็นบาปของตนเองในภพก่อน
  • “อกิริยาทิฐิ” คือ มีความเห็นว่า การกระทำของสัตว์ทั้งหลาย ถึงแม้ว่า จะทำดีก็ไม่เชื่อว่า เป็นบุญ ถึงแม้กระทำชั่วก็ไม่เชื่อว่า เป็นบาป แต่เชื่อว่า การกระทำไม่ว่าดีหรือไม่ดีก็แค่เป็นไปตามธรรมดา

การเห็นผิดว่า การไม่มีอยู่ของบุญและบาป การที่เห็นผิดไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อในกฎของธรรมชาติ ไม่เชื่อในเรื่องการทำดี ไม่เชื่อว่า ทำชั่วแล้วจะต้องได้รับผลกรรมชั่วนั้น

การไม่เชื่อในสิ่งที่ถูกต้องย่อมนำมาสู่การคิดผิด การกระทำก็จะนำไปสู่ความผิดบาปได้มาก เช่น เมื่อไม่เชื่อบุญก็เลยไม่ทำบุญ ไม่เชื่อว่า ผลบาปมีจริงก็เลยสามารถทำบาปได้แบบไม่กลัวว่าบาปจะให้ผล

เมื่อคิดว่า ไม่ว่าทำอะไรก็ต้องสูญไป การทำบาปได้แบบง่าย ๆ ก็ย่อมสามารถนำไปสู่บาปที่หนักที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงแบ่งไปได้อีกว่า บาปที่ทำแล้วส่งผลให้ไม่ได้ผุดได้เกิด เจอแต่ความทุกข์ทั้งภพนี้ และภพหน้า คือ

  • “การทำสังฆเภทกรรม” หมายถึง การยุยงให้พระสงฆ์แตกหมู่แตกคณะกัน เหมือนกันกับเป็นการขัดขวางไม่ให้พระสั่งสอนผู้เป็นปุถุชนไปสู่ทางแห่งแสงสว่างของชีวิต การยุยงไม่ให้คนทำความดี จะเรียกว่า เป็นมารศาสนาอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าเป็น บาปกรรมที่หนักที่สุดอย่างจะหาที่เปรียบไม่ได้
  • “ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต” (โลหิตุปบาทกรรม) การที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติบาปกรรมนี้ไว้ว่า หนักหนามากก็เพราะเป็นผู้ที่มีเมตตาสูงสุด เป็นผู้รู้และผู้มีคุณแก่ชาวโลกและเป็นผู้มีคุณงามความดีมากมายมหาศาลอย่างกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หากใครยังมีใจบาปหยาบช้าจะไปทำร้ายให้บาดเจ็บได้ ก็ย่อมจะทำบาปกับผู้อื่นได้แบบไม่ยกเว้น
  • “ฆ่าพระอรหันต์” (อรหันตฆาตกรรม) คำว่า “พระ” นั้นแปลว่า “ผู้ที่เห็นภัยจากวัฏสงสาร” ท่านจึงออกบวชเป็นพระ ยิ่งเป็นระดับที่สามารถหมดกิเลสเป็นผู้ไม่มีเวรแก่ผู้อื่น เป็นผู้ที่ไม่มีพิษภัยใด ๆ กับคนอื่นแม้แต่น้อย หากใครที่ยังไปแกล้งไปจงใจฆ่าท่านได้ก็ถือว่า เป็นบาปกรรมที่หนักหนาสาหัสเลยทีเดียว
  • “ฆ่ามารดาบิดาของตนเอง” (มาตุฆาตหรือปิตุฆาต) บิดามารดานั้นเรียกได้ว่า เป็นผู้ที่มีบุญคุณสูงสุดของตนเอง เป็นผู้ที่ทำให้เรามีชีวิตขึ้นมาบนโลกนี้ ท่านทั้งสองจึงถือเป็นผู้ที่มีบุญคุณสูงที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมีได้ หากผู้ใดที่ได้ทำการสังหารบิดามารดาที่เป็นผู้มีบุญคุณสูงสุดอย่างนี้ ได้ทำการ “อกตัญญู” ต่อผู้มีคุณที่สุดในชีวิตของตนเช่นนี้ จึงเรียกได้ว่า เป็นการสร้างอนันตริยกรรมที่หนักหนาสาหัสเอาไว้และไม่มีทางแก้ไขอะไรได้เลย

การกระทำบาปทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะไม่สามารถอโหสิกรรม แม้จะพยายามพากเพียรไปขอยกโทษเพียงใดก็ไม่เป็นผลเพราะเป็นบาปกรรมที่ต้องได้รับการชดใช้แม้ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม รวมถึงในชาติปัจจุบันก็ไม่อาจจะหลีกหนีบาปกรรมนั้นได้

พระเดชพระคุณ พระธรรมสิงหบุราจารย์ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม พระอริยสงฆ์แห่งวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรีก็เคยยกตัวอย่างเอาไว้ในหนังสือธรรมะของท่านถึงผลแห่งการบาปหนักที่เป็นอนันตริยกรรมไว้ว่า “เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคนหนึ่งมาหาอาตมาโดยที่ตนเองฆ่าพ่อตาย แล้วแม่เกิดสงสารจึงพามาเจริญกรรมฐานหวังจะแก้ไขกรรม แต่พอเข้าวัดมันกลับร้อนไปหมด ปวดหัวเข้ากรรมฐานไม่ได้ นี่เรียกว่า “เวรกรรม” ตามสนอง ปิตุฆาต มาตุฆาต ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ทำกรรมฐานไม่ได้แน่นอน ถึงกับต้องหันรถเลี้ยวกลับออกไปเลย ช่วยเหลือไม่ได้”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *