ความเบ่งบานของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในประเทศไทย

หลังจากการจากไปของพุทธทาสภิกขุ เราเห็นรูปแบบต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมได้เกิดขึ้น งานเขียนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อ.อ.ปยุตโต) พระไพศาล วิสาโล พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี มักถูกพิจารณาว่า เป็นงานระดับคลาสสิกที่ต้องการสื่อสารกับยุคสมัยใหม่ และในหลายกรณีโต้แย้งกับแนวคิดที่มีต้นกำเนิดจากจารีตของยุคเรืองปัญญา (the Age of Enlishtenment) ของโลกตะวันตก

ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ แนวคิดประชาสังคมเชิงพุทธที่เสนอโดยพระไพศาลวิสาโล ซึ่งหมายถึง สังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างสูงในกิจการสาธารณะในระดับต่าง ๆ โดยมีการรวมตัวหรือกระทำผ่านองค์กรต่าง ๆ ด้วยความสมัครใจอย่างเป็นอิสระจากรัฐและทุนในทัศนะของพระไพศาล พระพุทธศาสนามีหลักธรรมหลายประการที่สอดคล้องกับแนวคิดประชาสังคม คุณธรรมพลเมือง เช่น การมีระเบียบวินัย การเห็นแก่ส่วนรวม ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการให้อภัยสามารถเข้ากันได้กับหลักธรรมหมวดต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนา เช่น สังคหวัตถุ 4 ฆราวาสธรรม 4 บุญกิริยาวัตถุ 10

ศาสตราจารย์เดวิด แอล แม็กมาอัน (David L McMahan) เห็นว่า พุทธศาสนาเพื่อสังคม (socially engaged buddhism) เป็นขบวนการในระดับโลกที่เริ่มขึ้นในยุคทศวรรษที่ 1960 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเวียดนาม และได้ขยายเป็นพลังทางสังคมในทศวรรษต่อมา มันเป็นโครงการกิจกรรมทางสังคมและการเมืองที่มุ่งลดความทุกข์ยากที่มิใช่แค่ในระดับบุคคล แต่มันทำงานเพื่อตอบสนองในระดับระบบสังคมที่ใหญ่ และใช้ภาษาของทฤษฎีทางสังคมและการเมืองสมัยใหม่ เช่น สิทธิมนุษยชน ลัทธิความเท่าเทียมกัน อิสรภาพของปัจเจก ประชาธิปไตย รวมไปถึงเทคนิคที่นำมาใช้ในการต่อต้านที่ไม่ใช้ความรุนแรงและการประท้วงด้วยความสงบ ซึ่งมีรากในยุคสมัยใหม่ นอกจากนั้น ยังมีวาทกรรมในระดับโลกของชาวพุทธเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ใช้แนวคิดเรื่องการพึ่งพิงกัน (interdependence) และความกรุณา (compassion) ของมนุษย์และสรรพสิ่งที่มีความรู้สึกและนึกคิดได้ต่อประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมสมัย

พัฒนาการเหล่านี้เป็นรูปแบบที่ผสมผสานของพระพุทธศาสนาที่มีแนวคิดเรื่องความเป็นยุคสมัยใหม่ของโลกตะวันตก แต่พัฒนาการเหล่านี้มิควรถูกเข้าใจว่า เป็นการปรับตัวของพุทธศาสนาให้เป็นตะวันตก แต่เป็นการรับแนวคิดบางประการของตะวันตก และใช้แนวคิดนั้นเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์บางมิติ/เรื่องของยุคสมัยใหม่ เช่น ลัทธิจักรวรรดินิยม วัตถุนิยม เป็นต้น

ในบริบทของไทย เราคงเห็นตัวอย่างที่ชัด เช่น พุทธทาสภิกขุ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) พระไพศาล วิสาโล พระมหาวุฒิชัย วิชรเมธีได้ลุกขึ้นมาวิจารณ์ภัยร้ายของลัทธิบริโภคนิยม ลัทธิวัตถุนิยม ลัทธิจักรวรรดินิยม เป็นต้น พระเหล่านี้ได้ตั้งข้อสันนิษฐานมากมายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะการตั้งคำถามว่า ระบบการศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร กฎหมายที่ดีควรเป็นอย่างไร ความจริงใจของมหาอำนาจ ตลอดจนความกังวลใจเกี่ยวกับค่านิยมและความเชื่อที่ทะลักไหลเข้ามาในประเทศไทยที่มาพร้อมกับการทะยานขึ้นของจักรวรรดินิยมอเมริกัน หรือที่รู้จักกันในนามสันติภาพอเมริกัน (Pax Americana)

พระพุทธศาสนาเพื่อสังคมจึงมิควรถูกพิจารณาแค่ในมิติของโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่พระในพระพุทธศาสนาต้องการทำให้แก่สังคม แต่ต้องพิจารณามิติของอุดมการณ์ที่มักแสดงในงานเขียน การเทศนาของพระภิกษุด้วย แนวคิดว่า ด้วยความเท่าเทียมกันทางสังคม ความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดของสิทธิมนุษยชนที่ได้มีผลต่อปัญญาชนไทยในยุคสันติภาพอเมริกันต่างมีอิทธิพลต่อพระสงฆ์ด้วยเช่นกัน

ที่มาบทความ ความเป็นยุคสมัยใหม่ของพระพุทธศาสนาไทย : พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม โดยภาณุทัต ยอดแก้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *