วิธีการแก้กรรม “กรรมเก่า” วิบากกรรมชั่ว (ผลของกรรมชั่ว) ที่ปรากฏในสังคมไทย

วิธีการแก้กรรมของสำนักต่าง ๆ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ วิธีการที่สอดคล้องกับหลักพุทธปรัชญาและวิธีการแก้กรรมที่มีลักษณะเฉพาะตามแต่ละสำนัก รวม 13 วิธี ดังนี้

วิธีการแก้กรรมที่สอดคล้องกับหลักพุทธปรัชญา

  1. การทำบุญด้วยการให้ทาน (อามิสทาน) เป็นวิธีแก้กรรมด้วยการให้ทานที่เป็นวัตถุในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การใส่บาตร ถวายสังฆทาน ถวายดอกไม้ธูปเทียน ปล่อยนก ปล่อยปลา ไถ่ชีวิต โคกระบือ  ทำบุญโลงศพ ปิดทองพระปฏิมา สงเคราะห์ผู้ยากไร้ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก บริจาคทรัพย์เพื่อการกุศลต่าง ๆ พิมพ์หนังสือธรรมะแจก ฯลฯ
  2. ทำบุญด้วยการออกแรงช่วยเหลือผู้อื่นในเรื่องต่าง ๆ เช่น เป็นเจ้าภาพร่วมงานบวช งานศพ งานบุญ งานกุศลอื่น ๆ หรือช่วยกันสร้างพระประธาน สร้างโบสถ์ สร้างสะพาน เป็นต้น
  3. การถือศีล โดยให้ผู้ศรัทธาสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 และรักษาศีลอย่างเคร่งครัด
  4. การงดรับประทานเนื้อสัตว์ต่าง ๆ
  5. เข้าวัดปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาว บวชชีพราหมณ์ หรือบวชพระ
  6. การสวดมนต์ ไหว้พระ และแผ่ส่วนกุศล
  7. ปฏิบัติกรรมฐาน นั่งสมาธิภาวนา

วิธีการแก้กรรมที่มีลักษณะเฉพาะตามแต่ละสำนัก

  1. ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกรรมเก่า วิธีนี้มีอยู่ว่า เมื่อผู้ศรัทธาได้รับการพยากรณ์ “กรรมเก่า” ซึ่งเป็นกรรมชั่วที่เขาเคยทำไว้ในอดีตชาติ เจ้าสำนักจะชี้เฉพาะเจาะจงว่า ปัญหาชีวิตของผู้ศรัทธาเกิดจากวิบากกรรมชั่ว (ผลของกรรมชั่ว) ที่ตามมาให้ผลในชาติปัจจุบัน หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ ผู้ศรัทธารู้ตัวเองดีว่า เคยทำกรรมชั่วอะไรไว้บ้างในชาติปัจจุบัน เช่น ทำแท้ง ทรมานสัตว์ และเมื่อทราบเหตุแห่งกรรมเก่าแล้ว เจ้าสำนักก็จะแนะนำให้ผู้ศรัทธาทำอะไรก็ได้ที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับกรรมเก่านั้น เช่น ชาตินี้อาภัพคู่ ร้างคู่ มีสาเหตุมาจากกรรมเก่าที่เคยผิดลูกผิดเมียเขาในชาติก่อน ต้องแก้กรรมโดยเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานคู่บ่าวสาว ปลูกต้นรักถวายวัด ถวายของเป็นคู่ เช่น แจกันคู่ เชิงเทียนคู่ หมอนคู่ เป็นต้น
  2. สวดมนต์ด้วยคาถาพิเศษต่าง ๆ ทั้งคาถาภาษาบาลีและภาษาอื่น ๆ ซึ่งสำนักแก้กรรม มักจะอ้างว่า เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้สวดจะต้องตั้งใจหรือตั้งสมาธิในการสวดอย่างจริงจัง และต้องสวดเท่านั้นเท่านี้รอบคาถาถึงจะสัมฤทธิ์ผล วิธีแก้กรรมโดยใช้การสวดมนต์คาถาพิเศษนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
    • คาถาที่เฉพาะเจาะจงลงไปเป็นเรื่อง ๆ เช่น คาถาเงินล้าน คาถาเมตตามหานิยม คาถาแก้กรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมจากการทำแท้ง อาภัพคู่ครอง หรือมีคดีความต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
    • คาถาบูชาเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ เช่น คาถาบูชาพระราหู คาถาบูชาพระศิวะ คาถาบูชาพระอุมาเทวี
    • คาถาขอขมาแก้กรรมกับเจ้ากรรมนายเวรโดยตรง
  3. นั่งสมาธิแล้วส่งจิตติดต่อกับเจ้ากรรมนายเวร โดยเมื่อผู้ศรัทธาประสบเคราะห์กรรมหรือปัญหาชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต เจ้าสำนักก็มักพยากรณ์ว่า เพราะชาติก่อน (หรือชาตินี้) เคยฆ่าหรือทำร้ายคน วิญญาณของผู้ที่ถูกฆ่าหรือทำร้ายจึงกลับมาจองเวรให้ผู้ศรัทธาได้รับความทุกข์ทรมาน หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ชาติก่อน (หรือชาตินี้) เคยทำแท้ง วิญญาณของเด็กที่ถูกทำแท้งจึงตามมาจองเวรให้ได้รับความทุกข์หรือมีอุปสรรคในชีวิตเสมอ เมื่อผู้ศรัทธาทราบจากเจ้าสำนักแล้วว่า เจ้ากรรมนายเวรของตนเป็นใคร จึงเริ่มขั้นตอนแก้กรรมด้วยการนั่งสมาธิ โดยให้ตั้งจิตระลึกถึงเจ้ากรรมนายเวร แล้วขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวร ขอให้เจ้ากรรมนายเวรอย่าได้จองเวรต่อกันและกันอีกต่อไป
  4. สัมผัสองค์พระ (มีในบางสำนัก) สำนักแก้กรรมที่เจ้าสำนักอ้างว่า เป็นร่างประทับของเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ อาจจะใช้วิธีให้ผู้ศรัทธาสัมผัสกับรูปเคารพของเทพเจ้าองค์นั้น ๆ แล้วส่งผ่านจิตไปบอกเจ้ากรรมนายเวรให้เลิกจองเวรต่อกัน
  5. เขียนใบแก้กรรม ใบขอขมากรรม หรือใบจดกรรม โดยเขียนบอกเล่าถึงกรรมชั่วที่ตนเองเคยทำไว้ในชาติปัจจุบัน บางกรณีเจ้าสำนักอาจจะพยากรณ์กรรมเก่าในอดีตชาติ แล้วให้ผู้ศรัทธาเขียนยอมรับกรรมชั่วนั้น ๆ ลงในใบแก้กรรม เขียนโทษของกรรมชั่วนั้น ๆ อีก จากนั้น จึงเอาใบแก้กรรมไปมอบให้เจ้าสำนักเพื่อนำไปประกอบพิธีต่อไป บางสำนักก็ให้ผู้ศรัทธาเผาใบแก้กรรมนั้น ๆ ด้วยตนเอง
  6. ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เจ้ากรรมนายเวรอย่าจองเวร ในกรณีนี้เจ้าสำนักก็มักจะแนะนำวิธีแก้กรรมโดยให้ทำบุญในรูปแบบต่าง ๆ เสร็จแล้วก็จะให้ผู้ศรัทธาพนมมือ (จะสวดถาคาแก้กรรมด้วยหรือไม่ก็ได้) แล้วตั้งจิตอธิษฐานให้เจ้ากรรมนายเวรอย่าได้จองเวรต่อกันอีกต่อไป

นอกจากนี้ วิธีการแก้กรรมทั้ง 13 วิธีที่กล่าวไว้ข้างต้น วิธีการแก้กรรมยังปรากฏอยู่ในรูปแบบของประเพณีหรือพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ของคนไทยสมัยโบราณและยังคงยึดถือสืบทอดต่อ ๆ กันมาถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อว่า หากกระทำถูกต้องแล้วจะนำความสุข และความเป็นสิริมงคลมาให้แก่ตนเอง ครอบครัว และวงศ์ตระกูล ซึ่งมีวิธีการเหล่านี้นั้นในสมัยโบราณทำกันมาหลายแบบหลายวิธี เช่น

  1. “พิธีบังสุกุลเป็น” เมื่อมีคนป่วยหนัก ท่าทางจะไม่รอด ญาติพี่น้องจะนิมนต์พระมาทำพิธีบังสุกุลเป็น ตามปกติพระจะบังสุกุลคนตายเท่านั้น แต่ในกรณีนี้ท่านจะบังสุกุลคนเป็น จึงเรียกพิธีนี้ว่า “บังสุกุลเป็น” บทสวดก็มีต่างหาก ไม่เหมือนบังสุกุลทั่วไป โดยเชื่อกันว่า ผู้ป่วยจะหายวันหายคืน
  2. นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ให้ผู้ป่วยฟัง ส่วนมากพระจะสวด “โพชฌงคปริตร” เนื่องจาก มีเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล มีพระสาวกผู้ใหญ่ คือ พระมหากัสสปะ พระโมลคัลลานะ เกิดป่วยหนัก พระพุทธองค์จึงทรงมีบัญชาให้พระสาวกสวดบทโพชฌงคปริตรให้พระทั้งสองฟังแล้วก็หายป่วย คราวหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงพระประชวร จึงรับสั่งให้พระสงฆ์สาวกสวดโพชฌงคปริตรถวาย พระองค์ทรงสดับแล้วพระองค์ก็หายพระประชวร

ประเพณีเหล่านี้ บางอย่างเป็นความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น บางอย่างเป็นความเชื่อเนื่องมาจาก หลักการปฏิบัติทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู อย่างพิธีกรรมที่ได้กล่าวไปข้างต้น ที่ส่วนหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากโหราศาสตร์เป็นประเพณีที่สำคัญของแต่ละภาคที่เกี่ยวข้องกับการแก้กรรม เช่น พิธีบูชาเทวดานพเคราะห์ คือ ปรารถนาให้เทพเทวดา ผู้มีฤทธิ์อำนาจ ช่วยเหลือป้องกันและปลดเปลื้องทุกข์ภัยพิบัติ ยังความเกษมสวัสดิ์ให้บังเกิดมี ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *