ความสำคัญของ “กรรม” และ “วิบาก” กรรมมีอยู่จริง

หลักคำสอนเรื่อง “กรรม” และ “วิบาก” ของพระพุทธศาสนา นับว่า เป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาที่ทำให้พระพุทธศาสนาแตกต่างไปจากลัทธิศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะศาสนาประเภทเทวนิยม ที่สอนว่า ความเป็นไปของชีวิตจะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก หรือพระเจ้าซึ่งเป็นผู้ลิขิตชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งปวง อย่างที่เรียกว่า “พรหมลิขิต” เป็นต้น

แต่ในทางพระพุทธศาสนากลับปฏิเสธอำนาจของสิ่งภายนอกทั้งหมด แต่สอนให้เชื่อในอำนาจของผลกรรมของตนเองว่า เป็นผู้สร้างและจำแนกสรรพสัตว์ให้แตกต่างกัน อย่างที่เรียกว่า “กรรมลิขิต” คำสอนเรื่อง “กรรม” เป็นเรื่อง กฎของเหตุและผล ที่สามารถอธิบายความเป็นไปในทั้งหมดของชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเจริญหรือความเสื่อม ดังพุทธพจน์ที่คุ้นกันดีที่ว่า “กมฺมุ นา วตฺตตี โลโก” ซึ่งแปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อเรื่องกรรมและวิบากหรือผลของกรรม ยังมีปรากฏเป็นสำคัญในหลักคำสอนเรื่อง “ศรัทธา ๔” ซึ่งบุคคลผู้เป็นพุทธศาสนิกชนพึงมี ดังนี้

  1. กัมมสัทธา คือ เชื่อเรื่องกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่า “กรรมมีอยู่จริง” คือ เชื่อว่า เมื่อกระทำสิ่งใด โดยมีเจตนาหรือจงใจแล้ว ย่อมเป็นกรรม นั่นคือ ไม่ว่าจะเป็นการทำดีหรือชั่ว ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลที่ดีหรือร้ายสืบเนื่องไป
  2. วิปากสัทธา เชื่อเรื่องวิบากหรือผลของกรรมว่ามีอยู่จริง คือ เชื่อว่า กรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอ และผลย่อมเกิดจากเหตุ ผลดีย่อมเกิดจากกรรมดี ผลชั่วย่อมเกิดจากกรรมชั่ว
  3. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่า สัตว์มีกรรมเป็นของตน คือ เชื่อว่า ผลกรรมหรือวิบากที่เราได้รับ เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
  4. คถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยประปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ

แสดงให้เห็นว่า เรื่องกรรมและวิบากเป็นคำสอนหลักเบื้องต้นที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพุทธศาสนิกชน และถือเป็นสัมมาทิฐิที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ทุกคน ที่จะต้องตระหนัก ส่วนความไม่เชื่อเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนไม่ควรรับเข้ามาในความคิด มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด มี 10 ประการ ดังนี้

  1. เห็นว่า ทานที่ถวานไม่มีผล
  2. เห็นว่า การบูชาไม่มีผล
  3. เห็นว่า การสักการะไม่มีผล
  4. เห็นว่า ไม่มีผลแห่งกรรมดีกรรมชั่ว
  5. เห็นว่า ไม่มีโลกนี้ หมายถึงว่า โลกที่เราอยู่ปัจจุบันนี้ไม่ได้แตกต่างจากโลกอื่นหรือชาติหน้าอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องสมมติว่า มีโลกนี้
  6. เห็นว่า ไม่มีโลกอื่นหรือชาติหน้า นั่นคือ เกิดหนเดียวตายหนเดียว
  7. เห็นว่า มารดาไม่มี หมายถึง พระคุณของมารดาไม่มี
  8. เห็นว่า บิดาไม่มี นั่นคือ พระคุณของบิดาไม่มี ท่านเลี้ยงเราไปตามหน้าที่เท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องกตัญญูรู้คุณ
  9. เห็นว่า ไม่มีสัตว์ที่จะผุดเกิด คือ เชื่อว่า ตายแล้วสูญ
  10. เห็นว่า ไม่มีสมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยะ

จะเห็นได้ว่า ความเห็นผิดโดยเฉพาข้อ 4 ที่ว่า ไม่มีผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วนั้น สำคัญมาก เพราะหากคนในสังคมไม่ตระหนักหรือไม่เชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว และการส่งผลของกรรมแล้ว คนเหล่านั้นจะประกอบกรรมทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ จะมีการดำเนินชีวิตที่มุ่งแต่หาความสุขสบายส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิดใด ๆ ลักษณะเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมือง สังคมอย่างแน่นอน

กรรมและวิบากหรือผลแห่งกรรม ถือว่า เป็นกฎธรรมชาติ ที่ดำเนินไปด้วยเหตุแลผลอย่างสอดคล้องกลมกลืน ตามหลักการง่าย ๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้รับผลอย่างนั้น ทำดีก็จะได้รับผลที่ดี ทำชั่วก็จะได้ผลที่ชั่ว อย่างไรก็ตาม การส่งผลของกรรมเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและบางทีมีระยะเวลาการส่งผลที่ยาวนาน จนผู้คนมักสับสนและไม่เข้าพาลคิดไปว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป การศึกษาเรื่องกรรมให้เข้าใจอย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญที่จะทำให้เข้าใจในภาวะความเป็นมาในชีวิต เข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ไม่ว่าจะเป็น ดีหรือชั่ว รวยหรือจน สุขหรือทุกข์ ล้วนเป็นผลจากการกระทำในอดีตของตนแล้ว ผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมและวิบากจะสามารถกำหนดความเป็นไปของชีวิตตนเองในภายภาคหน้าได้อีกด้วย ทั้งนี้ เพราะการกระทำในปัจจุบันของเรานั่นเองที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคตสืบเนื่องกันไปตามกฎของเหตุและผลเช่นกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *