แนวคิดเรื่อง “บุญ” ในพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาถือเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญยิ่งในสังคมไทย โดยศาสนาพุทธนั้น เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ดังที่ วัชระ งามจิตรเจริญ (2561) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่า พุทธศาสนาเถรวาทเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว ในสมัยที่ดินแดนแถบนี้เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” อันเป็นที่อยู่ของพวกมอญและละว้า เชื่อกันว่า พระโสณะและพระอุตตระผู้เป็นสมณทูตรที่พระอโศกมหาราชส่งมาเผยแผ่พุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ 3 นั้นได้เดินทางมาที่สุวรรณภูมิ (พิทยลา พฤฒิยากร, 2517) หรือบริเวณที่เป็นจังหวัดนครปฐมในปัจจุบันนี้ เพราะปรากฏหลักฐานหลายอย่าง เช่น ซากสถูปรูปทรงกลมซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์รูปวงล้อแห่งจักรวาลเหมือนสถูปที่สาญจีและภารหุตในอินเดีย (สนอดกราส, 2537) อยู่จำนวนมากรวมทั้งศิลารูปธรรมจักร ช่วงเวลาที่พุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาประเทศไทยหรือสุวรรณภูมิในขณะนั้นจนสามารถตั้งมั่นได้น่าจะอยู่ในสมัยก่อนหน้าสมัยทวารวดีซึ่งอาจเรียกว่า “สมัยสุวรรณภูมิ” จนถึงสมัยทรารวดี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า พระพุทธศาสนาน่าจะมาประดิษฐานในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 500 และนับถือกันสืบมาตั้งแต่ครั้งนั้น

ในสังคมไทยปัจจุบันพบว่า คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยประชากรร้อยละ 94.60 ของประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2558) ทั้งนี้ แนวคิดของศาสนาพุทธที่สำคัญประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิด วิถีชีวิตและการกระทำของคนไทยก็คือ แนวคิดเรื่อง “บุญ”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (ม.ป.ป.: 2 – 5) อธิบายถึง ความเชื่อเรื่อง “บุญ” ไว้ว่า คำว่า “บุญ” แปลตามศัพท์หรือพยัญชนะว่า ชำระ ฟอก ล้าง โดยย่อหมายถึง บุญส่วนเหตุ 1 บุญส่วนผล 1 บุญส่วนเหตุนั้น หมายถึง ศึกษา คือ ฟัง เรียนรู้ให้รู้ และดำรงมั่น เสพปฏิบัติเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย โดยทั่วไปได้แก่ กุศลเจตนา ส่วนบุญส่วนผลนั้น หมายถึง ผลวิบากของบุญส่วนเหตุ ได้แก่ ความสุขที่น่าปรารถนา

พระเมธีธรรมาภรณ์ (2537) กล่าวถึง “บุญ” สรุปได้ว่า กรรมดีหรือกุศลกรรมมีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า “บุญ” หมายถึง การกระทำที่ดีด้วยกุศลเจตนา เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ซึ่งมีผลเป็นความสุขกายสุขใจทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎก (2538) ให้ความหมายของ “บุญ” ว่าหมายถึง “เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกายวาจา และใจ กุศลธรรม”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความคำว่า “บุญ” ไว้ว่า “น. ความสุข เช่น หน้าตาอิ่มบุญ การกระทำความดี ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เช่น ไปทำบุญที่วัด ความดี เช่น ปล่อยนกปล่อยปลาเอาบุญ คุณงามความดี เช่น เขาทำบุญช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เช่น คนใจบุญ ผลของการทำความดีจากชาติปางก่อน เช่น เขามีบุญจึงเกิดมาบนกองเงินกองทอง (ราชบัณฑิตยสถาน, 2556)

จากที่กล่าวมาจะพบว่า ความหมายของคำว่า “บุญ” นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นการกระทำ ซึ่งหมายถึง การทำความดี มุ่งเน้นการขัดเกลาและชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ และส่วนที่เป็นผลของการกระทำ ซึ่งหมายถึง ผลจากการทำความดี อันได้แก่ ความสุข

ความหมายของคำว่า “บุญ” ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น สอดคล้องกับแนวคิดเกี่ยวกับบุญที่กล่าวถึง ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เป็นแหล่งรวบรวมพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้กล่าวถึง “บุญ” โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. บุญส่วนที่เหตุ หมายถึง บุญในฐานะที่เป็นการกระทำ เรียกว่า “การทำบุญ” ได้แก่ การกระทำทีดี่เป็นกุศลเจตนา
  2. บุญส่วนที่เป็นผล หมายถึง บุญในฐานะที่เป็นผลจากการกระทำ เรียกว่า “ผลหรืออานิสงส์ของบุญ” ได้แก่ ความสุข

บุญทั้ง 2 ส่วนข้างต้นตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *