ชาวพุทธต้องมีความกตัญญู “ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ให้ความหมายคำว่า “กตัญญู” ไว้ว่า “รู้คุณท่าน” และคำว่า “กตเวที” แปลความหมายว่า “ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน” เมื่อรวมกันเป็นคำว่า “กตัญญูกตเวที” หมายถึง “ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน” โดยความกตัญญูกตเวที แยกได้เป็น 2 ระดับ คือ  1) การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นการส่วนตัว และ 2) การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม (พระธรรมปิฎก, 2538)

“ความกตัญญู” ที่กล่าวถึงในที่นี้จะหมายความรวมทั้ง “กตัญญู” คือ การรู้สึกสำนึกในคุณ แล้วแสดง “กตเวที” คือ การตอบแทนคุณด้วยวิธีการต่าง ๆ ความกตัญญูนี้ถือเป็นเครื่องหมายของคนดี ทั้งนี้ในสังคมไทยได้รับการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีเรื่องความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการอบรมเลี้ยงดูจากบุคคลในครอบครัว รวมถึงการสั่งสอนผ่านระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น

วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะได้นำเสนอให้เห็นว่า “ชาวพุทธต้องมีความกตัญญู” ซึ่งความกตัญญูนั้นเป็นคุณลักษณะที่กลุ่มชาวพุทธให้ความสำคัญและเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ดี โดยนำเสนอผ่านความคิดการทำบุญเป็นการแสดงความกตัญญู ความคิดดังกล่าวปรากฏร่วมกันในสื่อสาธารณะ 3 ประเภท ได้แก่ หนังสือเรียนรายวิชาพระพุทธศาสนา หนังสือธรรมะ และหนังสือพิมพ์เป็นการตอกย้ำและผลิตซ้ำค่านิยมหรือบรรทัดฐานของการเป็นคนดี โดยแสดงให้เห็นว่า ชาวพุทธที่ดีนั้นต้องมีความกตัญญู

ความกตัญญูนั้นถือเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทำให้มีความสัมพันธ์กันในสังคมมนุษย์ และเป็นบ่อเกิดแห่งความรับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องทำลายความเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดความสุขุม รอบคอบ ความสำนึกในหน้าที่ และความรับผิดชอบ (พระมหาบุญกองคุณาธโร, 2548) ความกตัญญูจะทำให้มนุษย์มีความรักใคร่ปรองดองกัน มีความเมตตา และปรารถนาดีต่อกัน จึงไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

ในทางพุทธศาสนานอกจากจะมีหลักคำสอนที่มุ่งสอนให้บุคคลเป็นคนดี มีศีลธรรม ละเว้นจากการกระทำสิ่งที่ไม่ดีอันจะได้รับผลที่เป็นความทุกข์ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรมแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นคนดีตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั่นคือ การเป็นคนที่มีความกตัญญูกตเวที (จริยา วีระพันธ์เทพ, 2552)

พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต สมจิตตวรรค กล่าวถึง ความกตัญญูเป็นสิ่งที่สัตบุรุษสรรเสริญ ความว่า

การทำตอบแทนแก่ท่านทั้งสองเราจะไม่กล่าวว่า เป็นการทำได้โดยง่ายและท่านทั้งสองคือใคร คือ มารดาและบิดา ถึงบุตรจะมีอายุ 100 ปี และมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี ประคับประคองมารดาไว้ด้วยบ่าข้างหนึ่ง ประคับประคองบิดาไว้ด้วยบ่าอีกข้างหนึ่ง ต้องปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการบีบนวด และแม้ว่า ท่านทั้งสองนั้นจะถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะลงบนบ่าท่านทั้งสองของเขานั่นแล การกระทำอย่างนั้นจะยังไม่เชื่อว่า อันบุตรนี้ได้ทำ หรือได้ทำตอบแทนแก่มารดา และบิดาเลย ถึงแม้บุตรจะสถาปนามารดา และบิดาด้วยไว้ในราชสมบัติ ซึ่งเป็นถึงเจ้าเหนือหัวแห่งแผ่นดินใหญ่ที่มีรัตนะทั้ง 7 ประการมากมายนี้ การกระทำอย่างนั้นยังไม่ได้ชื่อว่า อันบุตรได้กระทำ หรือทำตอบแทนแก่มารดาและบิดาเลย และในข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะด้วยมารดาและบิดานั้นมีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นชื่อว่า อันบุตรได้ทำและทำตอบแทนแก่มารดาและบิดา (องฺ.ทุก.20/33-34/77-78)

จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า คนที่เป็นสัตบุรุษนั้นต้องมีความกตัญญูกตเวที โดยเฉพาะกับมารดาและบิดาที่ถือว่า เป็นผู้มีอุปการคุณอย่างมาก บุตรต้องเลี้ยงดูและตอบแทนท่านด้วยวิธีการต่าง ๆ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ หากบุตรช่วยมารดาบิดาที่ไม่มีศรัทธานพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ให้กลายเป็นผู้ที่มีศรัทธาอย่างถูกต้อง ช่วยมารดาบิดาที่ไม่ตระหนี่ให้กลายเป็นผู้ที่เสียสละ และช่วยมารดาบิดาที่ไม่มีปัญญาให้กลายเป็นผู้มีปัญญา การกระทำแบบนี้ถึงจะถือได้ว่า สามารถตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดาได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ พระมหาบุญกอง คุณธโร (2548) ยังได้กล่าวว่า ในพระไตรปิฎกได้ยกย่องบุคคลที่มีความกตัญญูไว้ ดังนี้

  1. สัตบุรุษ ได้แก่ คนดี มีคุณธรรม เป็นบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนาเพราะความกตัญญูกตเวทีเป็นภูมิของสัตบุรุษ
  2. เป็นบุคคลที่หาได้ยาก เพราะบุคคลที่มีความกตัญญูกตเวทีต้องฝึกฝนตนมาดีสามารถยกจิตใจของตนให้สูงส่งได้ ซึ่งมิใช่จะเกิดขึ้นกับทุกคนได้
  3. ประสบแต่ความสุข เนื่องจาก ประเพณีตนถูกต้อง ชีวิตจึงมีแต่ความเจริญ และยังนำความสุขมาให้แก่บุคคลอื่น ๆ ด้วย
  4. ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เพราะเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง ประกอบด้วย คุณธรรมอันดีและเป็นแบบอย่างแก่คนอื่น ๆ ได้ จึงสมควรได้รับการยกย่องชมเชย
  5. ประพฤติสิ่งที่เป็นอุดมมงคงแก่ชีวิต เพราะความกตัญญูเป็นข้อปฏิบัติที่ก่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ชีวิต เป็นอุดมมงคลในชีวิต

อนึ่ง ความกตัญญูจัดเป็นคุณธรรมที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญในมงคล 38 ประการ คือ หลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีอันเป็นเหตุแห่งคสวามสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิชนได้พึงปฏิบัติ โดยนำมาจากมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาแก่เทวดา ซึ่งความกตัญญูนั้นจัดเป็นมงคลประการที่ 25 ในมงคล 38 ประการ หมายถึง การมีความกตัญญู คือ การรู้คุณ รำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เรา แล้วตอบแทนท่าน การกระทำดังกล่าวจะทำให้ชีวิตดำเนินไปสู่ทางแห่งความเจริญได้ (พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่มที่1, 2537)

นอกจากที่ได้กล่าวมา ในพระพุทธศาสนายังปรากฏพุทธศาสนสุภาษิต “นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญญูกตเวทิตา” หมายความว่า “ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นคนดีตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนา

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า อุดมการณ์ชาวพุทธที่กล่าวถึง ชาวพุทธว่า ต้องมีความกตัญญูนั้น สอดคล้องกับค่านิยมเรื่องความกตัญญูของชาวพุทธตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนา โดยการนำเสนอดังกล่าวถือเป็นการผลิตซ้ำความคิดเกี่ยวกับความกตัญญูของคนในสังคมซึ่งช่วยตอกย้ำให้คนในสังคมให้คุณค่าและเห็นความสำคัญของการแสดงความกตัญญูในฐานะที่เป็นคุณสมบัติของการเป็นคนดี ในขณะเดียวกันก็ได้ประกอบสร้างความคิดให้แก่ผู้บริโภควาทกรรมว่า ชาวพุทธสามารถแสดงความกตัญญูได้ด้วยการทำบุญ ดังนั้น ชาวพุทธจึงต้องทำบุญเพื่อจะได้มีคุณสมบัติของการเป็นคนดีและเป็นชาวพุทธที่ดี

การนำเสนออุดมการณ์ชาวพุทธที่แสดงให้เห็นว่า “ชาวพุทธต้องทำบุญ” และ “ชาวพุทธต้องมีความกตัญญู” ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นมีส่วนสำคัญในการกำหนดบทบาท พฤติกรรม และคุณลักษณะของสมาชิกในกลุ่มสังคมชาวพุทธ ตั้งแต่ระดับเด็กและเยาวชน ได้แก่ เด็กนักเรียน ไปจนถึงผู้ใหญ่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพที่บริโภควาทกรรมเกี่ยวกับบุญผ่านสื่อสาธารณะประเภทต่าง ๆ ทั้งหนังสือเรียนราชวิชาพระพุทธศาสนา หนังสือธรรมะ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ แสดงให้เห็นกลไกการใช้อำนาจของผู้ผลิตวาทกรรมเกี่ยวกับบุญไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้มีอำนาจ และผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมในการกำหนดคุณสมบัติที่พึงประสงค์ทำให้เป็นสมาชิกที่ดีในกลุ่มสังคมชาวพุทธ นั่นคือ การรู้จักทำบุญตามแนวคิดในพระพุทธศาสนา รวมถึงการเป็นคนที่ต้องมีความกตัญญูโดยนอกจากจะถือว่า เป็นคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกที่ดีในกลุ่มสังคมชาวพุทธแล้ว ยังถือเป็นคุณสมบัติของการเป็นคนดีในฐานะที่เป็นสมาชิกหนึ่งของสังคมอีกด้วย หากผู้บริโภควาทกรรมปฏิบัติตนตามคุณลักษณะดังกล่าวก็อาจส่งผลให้คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม ลดความเห็นแก่ตัวลง และอยู่รวมกันอย่างสงบสุข

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *