อุดมการณ์ธุรกิจ “บุญ” คือ เครื่องชำระสันดานโดยอาศัยบุญกิริยาวัตถุ 3

อนิวัช แก้วจำนงค์ (2553) กล่าวถึง ความหมายของ “ธุรกิจ” ว่าหมายถึง การดำเนินกิจกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อก่อให้เกิดสินค้าหรือบริการ โดยมีการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายสินค้าและบริการนั้นไปยังบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่น ส่งผลให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้รับประโยชน์จากการดำเนินกิจการ แม้ว่า กิจกรรมนั้นจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นก็ตาม โดยวัตถุประสงค์ลำดับแรกของการประกอบธุรกิจก็คือ การแสวงหาผลกำไรที่อาจอยู่ในรูปของตัวเงินหรือผลตอบแทนจากการลงทุน

นอกจากนี้ สิริวุฒิ บูรณพิร (2557) กล่าวถึง “ธุรกิจ” ว่าหมายถึง องค์การที่มุ่งแสวงกำไรจากผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยการมุ่งแสวงกำไรเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ธุรกิจแตกต่างจากองค์การอื่น ๆ

ความหมายของ “ธุรกิจ” ดังที่ได้กล่าวมาสอดคล้องกับความหมายของ “ธุรกิจ” ตามพจนานุกรมศัพท์บริหารธุรกิจ ฉบับราชบัณฑิตยสภา (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2559) ความว่า “กิจการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการซื้อขายสินค้าและบริการ หรือเป็นระบบเศรษฐกิจหรืออาชีพเพื่อหวังผลกำไร”

กล่าวโดยสรุป “ธุรกิจ” เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อหวังผลตอบแทนหรือกำไร ถือเป็นกิจกรรมการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนและเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของธุรกิจ ดังนั้น อุดมการณ์ธุรกิจ หมายถึง ระบบความคิดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อหวังผลตอบแทน ให้ความสำคัญกับการลงทุน โดยมีการบริหารจัดการการลงทุนที่มุ่งเน้นการทำกำไรเป็นหลัก และมีกำไรซึ่งในที่นี้ ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทองและความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรม

จากการศึกษาวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะเผยให้เห็นอุดามการณ์ธุรกิจที่แฝงมากับวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ โดยกล่าวถึงบุญและการทำบุญว่าเป็นวัตถุ/สินค้า รวมถึงเป็นการลงทุนที่ต้องบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์หรือได้รับผลประโยชน์สูงสุด คือ ได้กำไรจากการลงทุนนั้น

อุดมการณ์ธุรกิจนั้น นำเสนอผ่านความคิดการทำบุญเป็นการทำธุรกิจ ความคิดดังกล่าวปรากฏร่วมกันในสื่อสาธารณะ 2 ประเภท ได้แก่ หนังสือธรรมะและเว็บไซต์ โดยวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือธรรมะและเว็บไซต์นั้นมีลักษณะร่วมกันบางประการ กล่าวคือ ผู้ผลิตวาทกรรมวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือธรรมะและเว็บไซต์มีทั้งพระสงฆ์ บุคคลทั่วไปที่ศึกษาธรรมะมาเป็นอย่างดีรวมถึงหน่วยงานหรือองค์กรทางศาสนา อีกทั้งวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในเว็บไซต์ยังมีการเผยแพร่เนื้อหาจากหนังสือธรรมะ อาทิ เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์เสบียงบุญที่จัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือธรรมะในระบบออนไลน์ ทำให้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับบุญบางประการมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือธรรมะและเว็บไซต์ผลิตขึ้นในบริบทสังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและแข่งขันในสภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคือง คนในสังคมต้องบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในชีวิต สืบเนื่องจากบริบททางสังคมดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตวาทกรรมเกี่ยวกับบุญหนังสือธรรมะและเว็บไซต์นำวิธีคิดและการใช้ชีวิตในสังคมยุคปัจจุบันมานำเสนอความคิดเรื่องบุญไปด้วย โดยกล่าวถึงการทำบุญที่ให้ผลอย่างรวดเร็วและต้องบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์หรือได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นไปตามวิธีคิดและการใช้ชีวิตของคนในสังคม สะท้อนให้เห็นความคิดและมุมมองเชิงธุรกิจในการทำบุญ ส่งผลให้วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะทั้ง 2 ประเภทมีการนำเสนอความคิดเกี่ยวกับบุญว่าเป็นการทำธุรกิจเหมือนกัน

ในขณะที่วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือเรียนซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้และเป็นเครื่องมือในการปลูกฝังคุณลักษณะบางประการที่เห็นว่า ดีงามและปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียน มุ่งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับบุญตามหลักของพระพุทธศาสนาแก่นักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติในการพัฒนาตนเองและอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องในฐานะที่เป็นพุทธศาสนาให้ผู้เรียนนำไปปฏิบัติและใช้เป็นแนวทางในการทำงาน การประกอบอาชีพ และการแก้ปัญหาชีวิตต่อไปในอนาคต ส่วนวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือพิมพ์นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอเหตุการณ์ คือ รายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความคิดเรื่องบุญให้ผู้อ่านรับรู้ ซึ่งโดยมากมักเป็นข่าวที่เกิดขึ้นบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลที่สำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ หรือวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ หรือเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ด้วยเหตุนี้จึงไม่ปรากฏการนำเสนอความคิดเชิงธุรกิจในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว

อุดมการณ์ธุรกิจที่ปรากฏในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะผ่านหนังสือธรรมะและเว็บไซต์นั้นประกอบสร้างความคิดใหม่เกี่ยวกับบุญที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยแสดงให้เห็นความคิดเกี่ยวกับ “บุญ” ว่า บุญนั้นเป็นสินค้าที่มีมูลค่า สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน และเป็นสิ่งที่สามารถลงทุนแล้วจะได้รับกำไรหรือผลตอบแทน ดังนั้น การบริหารจัดการบุญจะทำให้ได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า สะท้อนให้เห็นความคิดเกี่ยวกับบุญและการทะบุญที่เป็นไปตามวิธีคิดเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีการลงทุน ซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้กำไรหรือผลตอบแทนเป็นทรัพย์สินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน เน้นผลประโยชน์และการทำกำไรเป็นหลัก โดยมีกำไรเป็นเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งในที่นี้กำไรที่เป็นเป้าหมายจากการทำบุญก็คือ ทรัพย์สินเงินตรา ความมั่งคั่งร่ำรวย การที่จะได้ผลต่าง ๆ เหล่านี้มานั้น ผู้ทำบุญต้องบริหารจัดการ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการกระทำหรือลงทุนด้วยเวลาหรือปัจจัยที่มีอยู่อย่างจำกัด

การนำเสนออุดมการณ์ธุรกิจผ่านวาทกรรมเกี่ยวกับบุญของคนในสังคมวงกว้าง เนื่องจากผู้ผลิตวาทกรรมมีทั้งพระสงฆ์ กลุ่มผู้เขียนที่เป็นบุคคลทั่วไปที่ศึกษาและมีความรู้เรื่องธรรมะเป็นอย่างดี และหน่วยงานและองค์กรทางศาสนาซึ่งถือว่า เป็นกลุ่มที่มีอำนาจและมีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธ อีกทั้งสื่อทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวสามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย รวมถึงบุคคลที่มีการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเชื่อและสนใจเกี่ยวกับเรื่องบุญ โดยสามารถหาซื้อหนังสือธรรมะได้จากร้านขายหนังสือขนาดใหญ่ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ หรือสามารถเลือกรับข้อมูลได้ตามความสนใจในช่วงเวลาต่าง ๆ ผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่มีการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงสามารถถ่ายทอดความคิด ค่านิยม และอุดมการณ์ต่าง ๆ ไปสู่ผู้บริโภคได้ง่าย โดยสามารถโน้มน้าวใจให้ผู้อ่านทำบุญ เพราะแสดงให้เห็นว่า การทำบุญนั้นทำได้ง่ายสามารถบริหารจัดการเองได้ และมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าเป็นความมั่งคั่งง่าย คนในสังคมจึงหมั่นทำบุญเพื่อสะสมบุญไว้เป็นทุน โดยหวังให้บุญที่สะสมไว้นั้นให้ผลตอบแทนดังที่ได้กล่าวมา

อนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับบุญว่า “บุญ” คือ เครื่องชำระสันดานโดยอาศัยบุญกิริยาวัตถุ 3 ซึ่งเป็นทางแห่งการทำความดี เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญช่วยชำระล้างใจให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยบุญกิริยาวัตถุ 3 ประกอบด้วย ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ เป็นการทำบุญด้วยการให้ศีลมัยบุญกิริยาวัตถุ เป็นการทำบุญด้วยการรักษาศีล ควบคุมความประพฤติให้เป็นปกติ งดเว้นจากการเบียดเบียนกันและกันให้เดือดร้อน และภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ เป็นการทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจให้เจริญปัญญา การทำบุญทั้ง 3 วิธีดังกล่าวนี้จะชำระล้างอกุศลมูล อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายหรือบาป

อย่างไรก็ตาม ความคิดและการกระทำเกี่ยวกับบุญที่ปรากฏผ่านอุดมการณ์ธุรกิจนั้นแสดงให้เห็นการทำบุญด้วยจิตที่มีกิเลส ติดอยู่ในโลภะคือ ความโลภ หวังโชคลาภ เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดเกลาจิตใจให้ปราศจากกิเลสหรือลดกิเลสและความเห็นแก่ตัวลง หากแต่เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรจากการลงทุนซึ่งก็คือ ความร่ำรวย ซึ่งเป็นการทำบุญลักษณะเดียวกับการทำบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกาย ที่สุนทรี โชติดิลก (2561) พบว่า การทำบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกายจะมุ่งเน้นการอธิษฐานขออานิสงส์จากบุญเพื่อขอให้ตนเองได้รับสิ่งที่ปรารถนา และเชื่อว่า บุญมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์สามารถดลบันดาลผลที่ปรารถนาได้ เพียงแต่การทำบุญตามแนวทางของวัดธรรมกายนั้นจะปลูกฝังให้ทำบุญกับวัดธรรมกายเท่านั้น จึงจะได้บุญคุ้มค่า ในขณะที่การทำบุญที่นำเสนอผ่านสื่อสาธารณะนั้น มุ่งให้ผู้อ่านทำบุญเพื่อสะสมบุญให้มากขึ้น โดยไม่ได้เจาะจงว่า ต้องทำบุญแบบไหน หรือทำบุญกับใคร

จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า อุดมการณ์ธุรกิจที่ปรากฏในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะสื่อความคิดให้ผู้บริโภควาทกรรมเกิดการทำบุญเพื่อสะสมบุญ ทำให้เกิดความโลภและหวังให้บุญที่สะสมไว้นั้นให้ผลตอบแทน เป็นความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งไม่ถือเป็นการทำบุญตามหลักพุทธศาสนา เนื่องจาก การทำบุญดังกล่าวมิได้มีจุดมุ่งหมายของการทำบุญเพื่อลดกิเลส ชำระล้างอกุศลมูล อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะตามแนวคิดในพระพุทธศาสนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *