อุดมการณ์ชาวพุทธ” ชาวพุทธต้องทำบุญ

ความคิดเกี่ยวกับบุญที่สื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะเผยให้เห็นความเชื่อ และอุดมการณ์บางประการซึ่งมีส่วนในการกำหนดรวมถึงครอบงำพฤติกรรม และการกระทำของสมาชิกในสังคม อุดมการณ์ที่สื่อผ่านความคิดเกี่ยวกับบุญที่ปรากฏผ่านสื่อสาธารณทั้งสาธารณะทั้งสิ้น 4 อุดมการณ์ ได้แก่ อุดมการณ์ชาวพุทธ อุดมการณ์ธุรกิจ อุดมการณ์ความสุข และอุดมการณ์โชคชะตา อุดมการณ์แต่ละอุดมการณ์ที่สื่อผ่านความคิดเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

อุดมการณ์ชาวพุทธ

ในสังคมไทยประกอบด้วยกลุ่มทางสังคมที่หลากหลาย โดยกลุ่มทางสังคมนั้น หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกัน หรือมีความสำนึกว่า เป็นสมาชิกในกลุ่มเดียวกัน แยกออกได้จากกลุ่มอื่น ๆ มีการกระทำระหว่างกันตามเป้าหมายร่วมกัน มีแบบแผนพฤติกรรมของกลุ่มโดยการตกลงร่วมกัน

“ชาวพุทธ” หมายถึง กลุ่มบุคคลที่นับถือศาสนาพุทธ เคารพเลื่อมใส และศรัทธาในพระรัตนตรัย มีหน้าที่ในการศึกษา และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เอาใจใส่ทำนุบำรุง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อวัด และพระสงฆ์ โดยคำว่า “ชาวพุทธ” แปลมาจากคำภาษาบาลีว่า “พุทธฺมามก” ตามรูปศัพท์ แปลว่า “ผู้นับถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นของเรา” คือ นับถือพระพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่งของเรา นอกจากนี้ ยังมีคำที่ถือความหมายได้ว่า “ชาวพุทธ” อีก ได้แก่ “พุทธศาสนิก” ที่หมายถึง “ผู้เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า” คือ เลื่อมใส และปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน และคำว่า “อุบาสก” “อุบาสิกา” ซึ่งแปลว่า ผู้อยู่ใกล้พระรัตนตรัย (ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549) ทั้งนี้ ชาวพุทธถือเป็นกลุ่มทางสังคมขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งในสังคมไทย โดยจากการสำรวจสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทย พ.ศ. 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรร้อยละ 94.60 ของประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2558)

อุดมการณ์ชาวพุทธซึ่งเป็นชุดความคิดที่นำเสนอภาพของชาวพุทธด้านต่าง ๆ โดยกล่าวถึง การกระทำ หรือพฤติกรรมที่ผ่านการประเมินค่า และตัดสินแล้วว่า เป็นสิ่งที่ดีและควรกระทำ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางให้ผู้บริโภควาทกรรมปฏิบัติตามในฐานะที่เป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์อันนำไปสู่การเป็นชาวพุทธที่ดี ทั้งนี้ ผู้ผลิตวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในฐานะผู้รับผิดชอบผลิตหนังสือเรียนรายวิชาพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ บุคคลที่ศึกษาธรรมะ หน่วยงานหรือองค์ทางศาสนาที่ผลิตหนังสือธรรมะ และเว็บไซต์เกี่ยวกับบุญ รวมถึงผู้ผลิตสื่อที่มีอิทธิพลอย่างหนังสือพิมพ์พยายามนำเสนอคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของกลุ่มสังคมชาวพุทธ ได้แก่ สิ่งที่ชาวพุทธต้องปฏิบัติหากต้องการเป็นชาวพุทธที่ดี เพื่อเป็นยการตีกรอบ และกำหนดพฤติกรรมของชาวพุทธให้เป็นไปตามคุณสมบัติของชาวพุทธที่ดี ปฏิบัติตนถูกต้องในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน และในฐานะที่เป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม โดยอุดมการณ์ชาวพุทธดังกล่าวนำเสนอผ่านความคิดเกี่ยวกับบุญ 2 ประการ คือ 1. การทำบุญเป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงกระทำ และ 2. การทำบุญเป็นการแสดงความกตัญญู

อุดมการณ์ชาวพุทธที่สื่อผ่านความคิดการทำบุญเป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงกระทำกำหนดให้ผู้บริโภควาทกรรมเห็นว่าการกระทำสำคัญในการแสดงออกถึงการเป็นชาวพุทธที่ดีนั่นคือ ชาวพุทธต้องทำบุญ สำหรับอุดมการณ์ชาวพุทธที่สื่อผ่านความคิดการทำบุญเป็นการแสดงความกตัญญูนั้น กำหนดพฤติกรรมของการเป็นชาวพุทธที่ดีนั่นคือ ชาวพุทธต้องมีความกตัญญู ทั้งนี้ “การทำบุญ” และ “การมีความกตัญญู” ถือเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของการเป็นชาวพุทธที่ดี โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชาวพุทธต้องทำบุญ

วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะเผยให้เห็นสิ่งที่ชาวพุทธต้องปฏิบัติ นั่น คือ “การทำบุญ” เพื่อนำไปสู่การเป็นชาวพุทธที่ดีตามที่ผู้ผลิตวาทกรรมต้องการ โดยนำเสนอผ่านความคิดการทำบุญเป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงกระทำ ทั้งนี้ ความคิดดังกล่าวปรากฏร่วมกันในสื่อสาธารณะทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ หนังสือเรียนรายวิชาพระพุทธศาสนา หนังสือธรรมะ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ แสดงให้เห็นความสำคัญของการทำบุญตามแนวคิดในพระพุทธศาสนา วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะจึงพยายามนำเสนอให้เห็นว่า ชาวพุทธนั้นต้องทำบุญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนากล่าวได้ว่า  วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะมีส่วนร่วมในการชี้นำให้ผู้บริโภควาทกรรมเกิดการทำบุญ

อนึ่งในทางพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงลักษณะการเป็นชาวพุทธ โดยปรากฏใน “พุทธธรรมในพระไตรปิฎก” สรุปได้ว่า การเป็นชาวพุทธเป็นได้ 2 ลักษณะคือ (ภาควิชาภาษษตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

  1. เป็นโดยชาติกำเนิด คือ เกิดในประเทศ ถิ่นฐาน หรือครอบครัวที่เป็นชาวพุทธ และระบุในสำมะโนประชากรว่าเป็นชาวพุทธ
  2. เป็นด้วยใจ คือ มีใจเลื่อมใสในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

เมื่อมีใจเลื่อมใสพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์แล้ว ชาวพุทธต้องมีการกระทำและคำพูดที่สอดคล้องกับใจที่เลื่อมใสศรัทธา โดยกำหนดให้การกระทำและคำพูดที่สอดคล้องกับใจที่เลื่อมใสศรัทธานั้นเป็นวิธีประกาศตัวเป็นชาวพุทธซึ่งมี 4 วิธี ได้แก่

  1. การประกาศตัวแบบมอบตัว หมายถึง ประกาศมอบกายถวายตัวแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
  2. การประกาศตัวแบบขอถือพระรัตนตรัยเป็นผู้นำทาง หมายถึง ประกาศเทิดทูน พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นผู้นำทางชีวิต
  3. การประกาศตัวแบบแสดงตัวเป็นศิษย์ หมายถึง ประกาศตัวให้อยู่ในการดูแลของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
  4. การประกาศตัวแบบแสดงความเคารพ หมายถึง การประกาศตัวด้วยการแสดงความเคารพต่าง ๆ เช่น การไหว้

วิธีการประกาศตัวเป็นชาวพุทธทั้ง 4 วิธีดังกล่าวข้างต้นนั้นเน้นที่การกระทำความเคารพและการเปล่งวาจาอันสอดคล้องกับใจที่เลื่อมใส ทั้งนี้ การประกาศตัวนับถือพระพุทธเจ้าโดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ถือว่า สำเร็จความเป็นชาวพุทธเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากประกาศตัวแล้ว ความเป็นชาวพุทธยังให้พิจารณาวิถีชีวิตอันประกอบด้วย ศีล อาชีพ และสมบัติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. ศีล คือ การทำดีเป็นปกตินิสัย มี 5 ประการ ประกอบด้วย
    • ไม่ฆ่าสัตว์
    • ไม่ลักทรัพย์
    • ไม่ประพฤติผิดในกาม
    • ไม่พูดเท็จ
    • ไม่ดื่มสุราและเมรัย รวมทั้งไม่เสพของมึนเมาอันเป็นฐานให้เกิดการขาดสติ
      • ในศีล 5 ยังมีธรรม หรือความดีที่เป็นส่วนสนับสนุนให้ไม่ให้ศีลขาดไว้ 5 ประกอบด้วย
        • เมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดี
        • จาคะ คือ การเสียสละ
        • กามสังวร คือ การสำรวมระวังในกาม
        • สัจจะ คือ การพูดคำจริง
        • สติ คือ การมีความรู้สึกควบคุมความคิด การกระทำ และการพูด
      • ศีลและธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เบญจศีล – เบญจธรรม” ซึ่งต่างเกื้อหนุนกัน ทั้งนี้ ชาวพุทธที่แท้จริงย่อมมีศีล 5 นี้เป็นวิถีชีวิต
  2. อาชีพ คือ การทำมาหากินอย่างถูกต้องทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม มี 5 ประการ ประกอบด้วย
    • ไม่ขายอาวุธ
    • ไม่ขายสัตว์
    • ไม่ขายเนื้อสัตว์
    • ไม่ขายของมึนเมา
    • ไม่ขายยาพิษ รวมทั้งของเป็นพิษ
  3. สมบัติ คือ ความพร้อมทางด้านคุณธรรมอื่น ๆ อันเป็นคุณสมบัติประกอบ มี 5 ประการ ประกอบด้วย
    • มีศรัทธา คือ มีความเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    • มีศีล คือ การทำความดีเป็นปกติ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อันแสดงให้เห็นถึงการเคารพตนเองโดยไม่ดื่มสุรา หรือเสพของมึนเมา และแสดงให้เห็นถึงการเคารพสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน คู่ครอง และความเสียประโยชน์ของผู้อื่น ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม และไม่พูดโกหก
    • ไม่ถือมงคลตื่นข่าว แต่เชื่อกรรม คือ เชื่อว่า กรรมดีกรรมชั่วมีจริง ผลของกรรมดีกรรมชั่วมีจริง สัตว์ต้องได้รับผลกรรมจริง
    • ไม่ขวนขวายหาผู้รับทักษิณานอกพระพุทธศาสนา คือ ไม่ทำบุญนอกศาสนา โดยคิดว่า ในพระพุทธศาสนาไม่มีผู้รับทักษิณาที่เหมาะสม
    • ทำบุญในพระพุทธศาสนา คือ ทำความดีต่าง ๆ ตามที่พระพุทธศาสนาสอน อันจะสะท้อนให้เห็นความเป็นวิถีชีวิตแบบพุทธ

วิถีชีวิตทั้ง 3 ประการ ได้แก่ ศีล อาชีพ และสมบัติ ถือได้ว่า เป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธที่แท้จริง โดย “ศีล” เป็นสิ่งที่กำกับควบคุม “อาชีพ” ให้เกิดการกระทำที่ดีประกอบอาชีพที่ถูกต้องและเป็นส่วนหนึ่งใน “สมบัติ” ทำให้เกิดการทำความดีเป็นปกติ

จากที่กล่าวมาเราจะเห็นได้ว่า อุดมการณ์ของชาวพุทธที่กล่าวถึง คุณลักษณะของชาวพุทธที่ดีที่ว่า “ชาวพุทธต้องทำบุญ” นั้นจะสอดคล้องกับ “สมบัติ” ใน “วิถีชีวิต” ของชาวพุทธที่จะกล่าวถึงคุณสมบัติประการหนึ่งของชาวพุทธ นั่นคือ “ทำบุญในพระพุทธศาสนา คือ การทำความดีต่าง ๆ ตามที่พระพุทธศาสนาได้สอนไว้ อันจะสะท้อนให้เห็นความเป็นของวิถีชีวิตแบบพุทธ” ซึ่งจะมีส่วนทำให้ชาวพุทธที่ปฏิบัติตามที่มีลักษณะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง

อนึ่ง วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะนั้น มุ่งนำเสนอการทำบุญด้วยการให้ทานที่เป็นวัตถุ่ (วัตถุทาน) คือ การให้หรือสละทรัพย์สิน สิ่งของและวัตถุเป็นสำคัญ แม้ว่า ทานจะมีหลายระดับตามแนวคิดของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการทำบุญด้วยการให้ทานที่เป็นวัตถุนั้น เป็นการกระทำที่มองเห็นเป็นรูปธรรมได้ง่าย และถือเป็นทานในระดับต้นที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วซึ่งเหมาะกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน การนำเสนอดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทำบุญนั้นสามารถทำได้ด้วยการให้ทานเท่านั้น ดังที่กาญจนา นาคสกุล (2555) กล่าวว่า “คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การทำบุญมีวิธีเดียว คือ การให้ทานหรือถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้น” ทั้งที่ ในความเป็นจริงแล้วการทำบุญในพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้นสามารถทำได้ด้วย การกระทำตามบุญกิริยาวัตถุ 3 ซึ่งประกอบด้วย ทาน ศีล และภาวนา อันนำไปสู่การชำระ และขัดเกลาจิตใจให้สะอาดปราศจากอกุศลมูลทั้งปวง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *