โลกของชายวัยทอง อาการชายวัยทอง การเปลี่ยนแปลงที่พบในชายวัยทอง

จากการที่ประชากรผู้สูงอายุมีการเพิ่มขึ้น ตลอดจนการแพทย์มีการพัฒนาอยางรวดเร็ว เป็นผลให้สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุกับประชากรเด็ก เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มจะทำให้เกิดปัญหาในการดูแลรักษาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้น ปัญหาในวัยทองโดยเฉพาะชายวัยทองจึงได้รับความสนใจมากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลก ได้ทำนายว่าใน ค.ศ. 2052 จะเป็นปีแรกที่เกิดอุบัติการณ์ณืครั้งแรกในโลกว่า ประชากรผู้สูงอายุจะเท่ากับประชากรเด็ก

ปัญหาเรื่องสตรีวัยทองเป็นที่รู้จักกันอย่างดี แต่จะใครคาดคิดว่า ผู้ชายก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ผู้ชายวัยทองเป็นวัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลาย ๆ อย่างที่จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะการลดลงของฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะเริ่มลดลงเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป โดยระดับฮอร์โมนเพศชายจะลดลงประมาณปีละร้อยละ 1 และพบว่า ในผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป ระดับฮอร์โมนเพศชายจะต่ำกว่าในวัยหนุ่มถึงร้อยละ 30 ซึ่งเมื่อระดับฮอรโมนต่ำ อาการของผู้ชายวัยทองที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องมีอาการคล้าย ๆ กับของสตรีวัยทอง กล่าวคือ อาการจะมีตั้งแต่ระยะสั้นและระยะยาว

อาการชายวัยทองระยะสั้น

อาการในร่างกายจะไม่มีเรี่ยวแรง นอนไม่ค่อยหลับ หรือตื่นนอนกลางคืนแล้วหลับยาก มีอาการเบื่ออาหาร อาจมีอาการปวดเมื่อยตามกระดูและข้อ ปวดหลังโดยไม่มีสาเหตุ มีอาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย มีเหงื่อออกมากในเวลากลางวัน และหรือกลางคืน หัวใจเต้นเร็วหรือใจสั่น สำหรับอาการทางจิต หลงลืมมากขึ้นไม่มีสมาธิ กลัว ตกใจอย่างไม่มีเหตุผล กระวนกระวาย วิตกกังวลหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย มีความเครียดอยู่เสมอ เป็นอาการที่พบบ่อยมากจากการดูแลที่คลินิกชายวัยทอง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม มีปัญหากับคนรอบข้างซึมเศร้า ไม่กระฉับกระเฉง อาการทางเพศ พบได้ตั้งแต่อาการน้อย เริ่มจากขาดความสนใจทางเพศ ขาดความตื่นเต้นทางเพศ องคชาติไม่แข็งตัว ขณะตื่นนอนเช้า ล้มเหลวในกิจกรรมทางเพศ องคชาติอ่อนตัว ขณะมีเพศสัมพันธ์อาการระยะสั้นดังกล่าว และมักจะเป็นอาการทำให้ผู้ชายมาพบแพทย์ อาการระยะสั้นนี้ ทางร่างกายจิตใจและอาการทางเพศในชายวัยทองนั้น คล้ายกับหญิงวัยทองมาก แต่มักจะไม่เด่นชัดเหมือนกับหญิงวัยทอง หญิงวัยทองเมื่อเริ่มจะหมดระดู จะมีอาการต่าง ๆ นี้มากและมักจะดีขึ้นเมื่อได้รับฮอร์โมนเสริม หรืออาจหายไปเมื่อหมดระดูไปนาน ๆ อาการระยะสั้นนี้มักจะเป็นอาการที่ทำให้ชาย – หญิงวัยทองมาพบแพทย์แต่การดูแลในทางการแพทย์นั้น หวังการดูแลสร้างเสริมสุขภาพในระยะยาวมากกว่า

อาการชายวัยทองระยะยาว

 การเปลี่ยนแปลงที่พบในชายวัยทอง

1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

ในชายวัยทอง ผลจากการที่ลูกอัณฑะผลิตฮอร์โมนเพศชายลดลง จะส่งผลถึง การทำงานของอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ที่ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเพศชาย

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เห็นได้ชัดเจน คือ “การลงพุง” หรือที่มักเรียกว่า “หุ่นอาเสี่ย” เนื่องจาก การเผาผลาญไขมันลดลงทำให้มีไขมันส่วนเกินสะสม โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องและลำตัว กล้ามเนื้อลีบเล็กลงแข็งแรงน้อยลง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทและการไหลเวียนโลหิต เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออกตามมือ ร้อนวูบวาบตามร่างกาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด หัวใจ จากการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในกระแสเลือด ทำให้ผนังเส้นเลือดแดงแข็งตัว มีการตีบตัน ถ้าเกิดที่หัวใจก็จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ สูญเสียเนื้อกระดูก เกิดภาวะกระดูกพรุนซึ่งขณะนี้พบมากในราวร้อยละ 20 – 30 ในชายวัยทอง กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะที่กระดูกต้นขา หรือกระดูกปลายแขนเมื่อเวลาหกล้ม ความสูงจะลดลงหลังโกง เนื่องจาก กระดูกสันหลังบางมากจนเกิดการหักทรุด

2. การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ

ชายวัยทองจะมีอาการซึมเศร้า ห่อเหี่ยว หลงลืมมากขึ้น ไม่มีสมาธิ กลัว ตกใจอย่างไม่มีเหตุผล หงุดหงิด ขาดความสนใจในสิ่งแวดล้อม ขาดความกระฉับกระเฉง ไม่กระตือรือร้น นอนไม่หลับ

3. การเปลี่ยนแปลงทางเพศ

ผู้ชายวัยทองจะขาดความสนใจทางเพศ ไม่มีความต้องการทางเพศ มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แม้ว่า ปัญหานี้จะมีความสัมพันธ์กับการขาดฮอร์โมน แต่ก็มีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเพศดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกันปัจจุบันพบภาวะการขาดฮอร์โมนเพศชายในชายและสตรีที่อายุไม่มาก อาจมีสาเหตุมาจากมลภาวะของสิ่งแวดล้อม ภาวะเครียดทั้งจากการทำงานต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในชายวัยทองจะมีความกดดันทางสังคมที่กำหนดให้ชายต้องเป็นผู้นำในครอบครัว ผู้นำในสังคม มุ่งการทำงานโดยลืมถึงการดูแลตัวเองการทำงานหนัก โดยพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ภาวะทุโภชนา การขาดการออกกำลังกาย สิ่งต่าง ๆ นี้เนื่องจาก การขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจ และไม่มีหน่วยบริการนี้เพียงพอในการดูแล

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อาการต่าง ๆ ความสนใจทางเพศ กิจกรรมทางเพศ หรือฮอร์โมนเพศชาย ไม่ได้ลดลงเฉียบพลันหรือหยุดทันที ซึ่งแตกต่างจากสตรีในวัยหมดระดูผู้เชี่ยวชาญหลายท่านจึงใช้คำว่า PADAM (Partial Androgen Deficiency in Aging Male) คือ ภาวะการพร่องหรือลดของฮอร์โมนเพศชายในชายวัยทอง

เนื่องจาก อาการทางเพศต่าง ๆ ในเพศชายไม่ค่อยเด่นชัด บางคนอาจไม่ปรากฏอาการ จึงไม่ตระหนักถึงความสำคัญของวัยนี้ แต่ขณะเดียวกัน หลายคนก็มีอาการซึ่งส่งผลให้มีการกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการทำงานการรู้จักดูแลสุขภาพ และมีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอาการต่าง ๆ ในวัยนี้จะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอย่างจริงจัง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะชะลอความเสื่อมถอยของร่างกายส่วนต่าง ๆ ก่อนที่จะย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น และยังคงสามารถทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้

สำหรับประเทศไทยได้เริ่มเปิดบริการคลินิกวัยทอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของชายวัยทอง และให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลส่งเสริมสุขภาพให้บริการตรวจสุขภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง รวมทั้งให้การปรึกษาในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งการดำเนินงานประสบความสำเร็จเป็นอย่างด

ดังนั้น คลินิกชายวัยทองพบผู้ป่วยจำนวนมากที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และมีภาวะกระดูกพรุน จนขณะนี้มีผู้มารับบริการที่คลินิกชายวัยทองเป็นจำนวนมากส่งผลให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงได้ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ในการสร้างเสริมสุขภาพวัยทองนี้ จะมีเนื้อหาครอบคลุมถึงการให้การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพของวัยทองในทุก ๆ ด้าน อันจะส่งผลให้ลดการเจ็บป่วยให้ชาย – หญิงวัยทองและภาระในการดูแลของครอบครัวและสังคม รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริการทางสาธารณะสุขของประชาชนกลุ่มดังกล่าวซึ่งจะมีสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต

ปัญหาของวัยทองนั้น มีตั้งแต่เรื่องของนโบายของชาติ เช่น นโยบายการดูแลผู้สูงอายุ ปัญหาทางอายุรกรรม ที่พบบ่อย เช่น ภาวะไขมันบกพร่อง ภาวการณ์เสื่อมของสมอง เบาหวานกับความดันโลหิตสูง ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การดูแลการปวดกล้ามเนื้อ และกระดูกในผู้สูงอายุ ภาวะกระดูกพรุน และเรื่องภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในชาย ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในหญิงวัยหมดระดู

มีคลินิกหญิงวัยทองอยู่ทั่วไป ซึ่งขณะนี้สตรีวัยทอง ได้รับการดูแลตั้งแต่ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ตรวจภายในดูมะเร็งรังไข่ และตรวจความหนาแน่นของกระดูก ในขณะที่ชายวัยทองยังไม่มีความรู้และข่าวสารในเรื่องชายวัยทองเท่าที่ควร ถึงเวลาแล้วที่ชายวัยทองหรือสุภาพบุรุษวัยทอง ควรจะดูแลสุขภาพที่เรียกว่า สุขภาพผู้ชาย และในทางกลับกันผู้ชายจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ Men for Health ด้วย เพื่อเพิ่มสีสันให้กับชีวิตอันจะทำให้ชายวัยทองและสตรีวัยทองเดินไปเคียงคู่กันอย่างสง่างาม เพื่อที่จะได้เป็นกำลังที่สำคัญของชาติ เป็นที่พึ่งพาของลูกหลาน ซึ่งจะทำให้สังคมเข้มแข็งและมีดุลยภาพ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนตลอดไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *