ปัจจัยที่ส่งผลกระทบสุขภาพชายวัยทอง

“ชายวัยทอง” หมายถึง กลุ่มเพศชายที่มีอายุในช่วง 40 – 59 ปี เป็นวัยที่เชื่อมต่อระหว่างวัยผู้ใหญ่ตอนปลายและวัยสูงอายุ ซึ่งร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเพศชาย เริ่มลดลงเมื่อายุย่างเข้า 40 ปีขึ้นไป ระดับฮอร์โมนเทสเตอโรนในเพศชายจะลดลงร้อยละ 1 ต่อปี พบว่า มีภาวะพร่องฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายลดลง ร้อยละ 76 จากการที่มีฮอร์โมนเพศชายลดลงส่งผลต่อร่างกายทำให้มีอาการร้อนวูบวาบตามตัวกล้ามเนื้อลีบเล็กลง หมดเรี่ยวแรง ปวดเมื่อยตามร่างกายมีปัญหาเรื่องข้อและกระดูกพรุนร้อยละ 32

ในชายวัยทองยังมีปัญหาต่อมลูกหมากโตถึงร้อยละ 33 ในการประเมินภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ทำให้มีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้อวัยวะสืบพันธุ์เล็กลง เกิดภาวะต่อมลูกหมากโต ชายวัยทองมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับน้ำหนักเกินหรือท้วม ร้อยละ 28 อ้วนร้อยละ 4 ด้านสุขภาพเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและอารมณ์ อาทิเช่น อาการหงุดหงิดง่าย ความจำเสื่อม สมาธิหรือความสนใจในสิ่งใด สิ่งหนึ่งลดลง ในบางรายมีอาการซึมเศร้า กลัวหรือตื่น ตกใจง่าย ทำอะไรมักขาดความเป็นเหตุเป็นผล อีกทั้งนี้ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะกระดูกพรุน และกระดูกข้ออักเสบ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบสุขภาพชายวัยทอง

ชายวัยทองมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพจากภาวะที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลงลงในร่างกาย ในบางรายมีอาการที่ส่งผลด้านร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม บางรายส่งผลกระทบด้านจิตใจ บางครั้งทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันและการปรับตัวทางสังคม ซึ่งสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของชายวัยทอง สามารถจำแนกได้ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบสุขภาพชายวัยทองด้านร่างกาย

เพศชาย เมื่ออายุย่างเข้าสู่ในช่วงอายุ 40 – 59 ปี หรือเรียกว่า “ชายวัยทอง” นั้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในด้านร่างกาย โดยที่การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจากลูกอัณฑะ ผลิตฮอร์โมนลดลง โดยพบว่า ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงร้อยละ 30 หรือระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดต่ำลงในอัตราร้อยละ 1 – 2 ต่อปี

ชายที่เข้าสู่วัยทองส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศชายในร่างกายลดลง ก่อให้เกิดการพร่องของฮอร์โมนในเพศชายก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภาวะอ้วนลงพุง การเสื่อมแข็งของหลอดเลือดในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ ในด้านกล้ามเนื้อและกระดูกนั้น เป็นทราบกันว่า เมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายสร้างน้อยลง จะส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกพรุน จากการที่กระดูกสูญเสียแคลเซียมในการสร้างกระดูก ทำให้เกิดปัญหาหลังโก้งหรือไขสันหลังทรุดตัวลง

2. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบสุขภาพชายวัยทองด้านสังคม

ชายวัยทองถึงแม้จะเป็นวัยที่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งงานหน้าที่การงานที่มั่นคง บางรายมีฐานะทางสังคมที่ดี เป็นนักบริหารในหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง ย่อมส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในการดำเนินชีวิต เมื่อฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพศชาย ทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อลีบความรู้สึกทางเพศลดลง จึงส่งผลถึงความมั่นใจ เชื่อมั่นในตนเองในการเข้าสู่สังคม ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในการทำงาน บางครั้งก่อให้เกิดความไม่ราบรื่นหรือสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น นอกจากเกิดปัญหาในด้านสังคมภายนอกบ้านแล้ว สังคมภายในบ้านก็อาจได้รับกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหากับคู่รัก เนื่องจาก เมื่อเกิดความไม่สนใจทางเพศ อารมณ์หรือความรู้สึกเบื่อหน่าย ซึ่งสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ลดลง ทำให้เกิดความเครียดทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในด้านภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ บริหารจัดการ ความเป็นผู้นำในครอบครัวและทางสังคม สิ่งเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของชายวัยทอง ประกอบกับ พฤติกรรมทางด้านสุขภาพในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน อาทิเช่น งานพบปะสังสรรค์ทางสังคม การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ร่วมกับขาดการออกกำลังกาย

3. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบสุขภาพชายวัยทองด้านจิตใจ

ชายวัยทองเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ได้ง่าย ด้วยภาระหน้าที่ต่าง ๆ ในสังคมที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเป็นผู้นำในองค์กรร่วมกับมีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงก่อให้เกิดความเครียดวิตกกังวลหรือโดดเดี่ยวเป็นบางครั้ง ซึ่งชายวัยทองมีพฤติกรรมในเชิงลบ เช่น การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย สูญเสียความมั่นใจในตนเอง และความเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ ได้แก่ ซึมเศร้า เครียด หากมีอาการในระยะเวลานาน จะขาดการเอาใจใส่สุขภาพของตนเอง ชายเมื่อเข้าสู่วัยนี้ มักมีผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิต ไม่แตกต่างในกลุ่มวัยทองในเพศหญิง

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบสุขภาพชายวัยทองด้านอารมณ์และเชาว์ปัญญา

ชายวัยทองจะแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างจากภาวะ ความจำเสื่อม หลงลืมง่ายไม่มีสมาธิ ขาดความเชื่อมั่น และริเริ่มสร้างสรรค์ ซึมเศร้า กระวนกระวาย มีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด มีปัญหาในพฤติกรรมในการนอนหลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

5. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบสุขภาพชายวัยทองด้านอาการทางเพศ

ลักษณะอาการทางเพศ คือ ความสนใจทางเพศลดลง  รวมทั้งความสามารถในการทำกิจกรรม การสูญเสียหน้าที่ในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ และประสิทธิภาพในการมีเพศสัมพันธ์ลดลง ส่งผลในการหลั่งอสุจิ ขณะมีเพศสัมพันธ์น้อยลง ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ชายวัยทองขาดความสนใจทางเพศ ในบางรายไม่สนใจเรื่องเพศ อาจส่งผลต่อปัญหาครอบครัวได้ รวมทั้งวัยนี้ยังมีพฤติกรรมทางสุขภาพในเชิงลบ ได้แก่ พฤติกรรมการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ชายวัยทองมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *