การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุชายวัยทอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชายวัยทอง

ความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุชายวัยทอง

ประชากรวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ เมื่อมีอายุประมาณ 40 ปี ก่อนย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ คือ ช่วงที่มีอายุระหว่าง 40 -59 ปี ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของภาวะร่างกายมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาการลดลงของฮอร์โมนเพศ ช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยสำคัญ เรียกว่า “วัยทอง”

“วัยทอง” เป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของประเทศ ประชากรวัยทองจัดเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติ เนื่องจาก อยู่ในช่วงวัยที่เป็นกำลังการผลิตและจากการที่เป็นวัยที่ผ่านชีวิต สะสมประสบการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตไว้มากมาย จึงทำให้ประชากรวัยนี้สามารถทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ ประชากรวัยทองบางคน โดยเฉพาะผู้ชายวัยทอง ส่วนใหญ่มีตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับสูง บางคนเป็นผู้บริหารขององค์กร

นอกจากบทบาทด้านการเป็นกำลังสำคัญทางการผลิตแล้ว ประชากรวัยทองยังมีบทบาทเป็นพึ่งพิงของประชากรวัยเด็ก และวัยสูงอายุโดยเฉพาะวัยสูงอายุที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากพัฒนาการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้คนเสียชีวิตลดลง อายุยืนยาวมากขึ้น คาดว่า อีกไม่เกิน 3 – 4 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่ภาวะ “สังคมผู้สูงอายุ” หรือ “Aging society” และคาดว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนผู้สูงอายุเป็น 2 เท่าของผู้สูงอายุในปัจจุบัน และเป็นอัตราส่วนร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด นับเป็นภาระหนักที่ต้องให้การเกื้อหนุนดูแล

ประชากรวัยทอง เป็นช่วงวัยที่กำลังก้าวไปเป็นผู้สูงอายุ การที่คนอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวขึ้น โอกาสเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากการเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น จากพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพที่สั่งสมมานาน ปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ทำให้ผู้มีอายุมากป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมองตีบ – ตัน แตก โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่รักษาไม่หายขาด เสียค่าใช้จ่ายมาก คุณภาพชีวิตลดลง และมีผลกระทบไปถึงครอบครัวและสังคม จึงเป็นความจำเป็นที่ประชากรวัยทอง ต้องดูแลสร้างเสริมสุขภาพตนเอง ทั้งในขณะที่เป็นวัยทองและวัยสูงอายุ เพื่อมิให้เกิดภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังหรือสุขภาพเสื่อมโทรมจนไม่สามารถพึงพาตนเองได้ แต่การสร้างเสริมหรือการส่งเสริม สุขภาพในช่วงวัยทองจะมีความแตกต่างจากวัยอื่น ๆ เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวัยนี้ต่างจากวัยอื่น

ที่ผ่านมาประชากรวัยทอง โดยเฉพาะผู้ชายวัยทองยังละเลยต่อการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเอง มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น การชอบรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูง การรับประทานอาหารที่เกินพอดี นอกจากมีพฤติกรรมบริโภคที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังขาดพฤติกรรมสร้างสุขภาพที่สำคัญ คือ ขาดการออกกำลังกาย และบางคนมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ อีกด้วย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ตรากตรำทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน ในขณะที่ร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลงตามธรรมชาติ การส่งเสริมหรือสร้างเสริมสุขภาพประชากรผู้ชายวัยทอง จึงเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ชายวัยทองของครอบครัวและสังคม

1. ตนเอง

เนื่องจาก ชายวัยทองเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยาว โดยเฉพาะการลดลงของฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ทั้งอาการทางร่างกาย ระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต อาการทางจิตใจ และปัญหาทางเพศ ชายวัยทองบางคนอาจไม่มีอาการเหล่านี้ แต่ในบางคนมีอาการเหล่านี้มากส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพการดำเนินชีวิต

การที่ชายวัยทองมีความรู้และตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ตลอดจนอาการต่าง ๆ และวิธีการดูแลส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยนี้หรือวัยสูงอายุ เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ – ตัน – แตก มะเร็ง เบาหวาน เป็นต้น จะเป็นการช่วยลดอุบัติการณ์การเจ็บป่วย และความพิการ ชะลอความเสื่อมถอยของร่างกายส่วนต่าง ๆ และช่วยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

2. ครอบครัว

การลดการเจ็บป่วย และความพิการของชายวัยทอง เป็นการช่วยลดภาระของครอบครัวที่ต้องให้การดูแลรักษาพยาบาล และช่วยลดรายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครอบครัวลงด้วย แต่สิ่งที่มีความสำคัญนอกเหนือกว่านั้นก็คือ สุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีของชายวัยนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะช่วยให้ชายวัยทองทำหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นภรรยา บุตร หลาน หรือบิดามารดาได้ดี ช่วยให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่นและมีความสุข

3. สังคม

จากการที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศพุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อการรักษาพยาบาลนั้น จัดเป็นภาระหนักของประเทศ ดังนั้น ถ้าหากชายวัยทองมีการดูแลสุขภาพตนเอง เจ็บป่วยน้อยลง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศได้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจากการที่ประชากรวัยนี้ส่วนใหญ่จะมีฐานะการงานที่มั่นคง และมักมีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบสูง บางคนเป็นผู้บริหาร หรือมีบทบาทสำคัญในองค์กร ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ สุขภาพที่ดีของร่างกายและจิตใจ จะช่วยให้การตัดสินใจในด้านการบริหาร หรือการทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่ชายวัยทองติดต่อประสานงานก็จะดีตามไปด้วย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชายวัยทอง

ชายวัยทองควรมีการดูแล และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง โดยการเพิ่มพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงหรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ โดยการดูแลสุขภาพช่วงวัยทอง ประกอบด้วย

  1. การมีความรู้เรื่องวัยทอง เพื่อให้เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และจิตใจที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้
  2. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัย
  3. การออกกำลังกาย
  4. การพักผ่อนนอนหลับ
  5. การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นๆ
  6. การรู้จักผ่อนคลายความเครียด
  7. การลด ละ อบายมุขต่าง ๆ
  8. การหลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด
  9. การรับบริการตรวจสุขภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *