ปัสสาวะเล็ดราด กลั้นไม่อยู่ ต่อมลูกหมากโต

ภาวการณ์มีปัสสาวะเล็ดราด กลั้นไม่อยู่ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีอายุมากขึ้น สาหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวมีมากมายหลายประการ ถึงแม้อาการปัสสาวะเล็ดราดนี้จะไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ป่วยเอง แต่การมีปัสสาวะเล็ดราดทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการเข้าสังคม มีปัญหาในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว มีกลิ่นเหม็นเป็นที่รังเกียจของสังคม ในอดีตมักจะได้รับการปล่อยปละละเลย เนื่องจาก ขาดความรู้ ความเข้าใจจนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นสิ่งที่รักษาไม่ได้ แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันหลังจากได้มีการคิดค้นการตรวจวินิจฉัย มียาและวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษาโรคมากมาย ทำให้ภาวะปัสสาวะเล็ดราดได้รับความสนใจมากขึ้น จนกระทั่ง ในปัจจุบันสามารถให้การรักษาจนทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้

กระเพาะปัสสาวะทำงานอย่างไร

กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่เป็นถุงเก็บปัสสาวะซึ่งกลั่นมาจากไต ทำให้ปัสสาวะไม่ไหลเรี่ยราด กระเพาะปัสสาวะจะเก็บปัสสาวะเอาไว้จนเต็ม จึงจะส่งสัญญาณความรู้สึกปวดปัสสาวะผ่านไปทางไขสันหลังสู่สมอง หากสมองแปลความรู้สึกนั้นได้ อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมในการถ่ายปัสสาวะก็จะส่งสัญญาณลงมาให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัว กระเพาะปัสสาวะมีลักษณะเป็นถุงกล้ามเนื้อ จึงมีความสามารถในการยืดตัวออกคล้ายลูกโป่ง เมื่อมีปัสสาวะมากขึ้นก็จะขยายขนาดเรื่อย ๆ โดยปกติกระเพาะปัสสาวะผู้ใหญ่จะมีความจุประมาณ 300 – 500 ซีซี แต่หากต้องการกลั้นปัสสาวะออกไว้มาก ๆ ก็สามารถทำได้บางครั้งอาจจะยืดตัวเก็บปัสสาวะได้เกิน 1 ลิตร แต่เมื่อปัสสาวะมากถึงระดับหนึ่งหูรูดจะต้องปล่อยให้มีปัสสาวะไหลออกมา หากกระเพาะปัสสาวะยืดตัวมาก ๆ เป็นระยะเวลานานจะรบกวนต่อการทำงานของไต ทำให้ไตเสื่อมหน้าที่ได้ เนื่องจาก ปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะกลับขึ้นมาสู่ไต

เมื่อถึงเวลาถ่ายปัสสาวะ ระบบประสาทจะสั่งการให้หูรูดคลายตัว กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวขับเอาน้ำปัสสาวะออกมาจนหมด แต่หากจะหยุดการปัสสาวะกลางคันก็ยังทำได้โดยสมองจะสั่งการให้หูรูดบีบตัวอีกครั้งปัสสาวะก็จะหยุด

จะเห็นได้ว่า การทำงานของกระเพาะปัสสาวะมีความเกี่ยวเนื่องกันเป็นระบบสอดคล้องกันไป หากมีขั้นตอนใดที่ไม่ประสานกันจะทำให้ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้ ซึ่งการควบคุมการถ่ายปัสสาวะ และการเก็บปัสสาวะนี้อยู่ภายใต้การทำงานของสมอง ประสาทไขสันหลัง และเส้นประสาทต่าง ๆ ดังนั้น หากการทำงานของระบบประสาทส่วนใดส่วนหนึ่งผิดปกติไป จะทำให้การถ่ายปัสสาวะผิดปกติได้ เช่น โรคทางสมอง ไขสันหลัง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน หากท่องทางเดินปัสสาวะมีการอุดตัน เช่น ต่อมลูกหมากโต ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้เช่นกัน

อาการปัสสาวะเล็ดราด

ปัสสาวะเล็ดราด กลั้นไม่อยู่ มีหลายลักษณะด้วยกัน แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ได้ตามต้นเหตุ และนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

1. ปัสสาวะเร่งรีบ

ปัสสาวะราดไปห้องน้ำไม่ทัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการปวดปัสสาวะอย่างรุนแรงนำมาก่อน เมื่อมีอาการปวดต้องรีบไปถ่ายปัสสาวะ หากไปไม่ทันจะทุกข์ทรมานมาก บางรายถึงกับมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้เกิดจากการมีกระเพาะปัสสาวะบีบตัวก่อนถึงเวลาถ่ายปัสสาวะ ซึ่งตามปกตินั้นถึงจะปวดปัสสาวะมากเพียงใดก็ตาม ก็จะไม่มีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะเลย เมื่อมีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะที่รุนแรงพอ หูรูดไม่สามารถทนต่อแรงบีบนั้นได้ก็จะต้องปล่อยให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมา สาเหตุที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะเลดราดออกมาในลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคทางสมอง ไขสันหลัง หรือเส้นประสาท ส่วนปลาย

2. ไอ จาม ปัสสาวะเล็ด

ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะเล็ดราดเมื่อมีการกระทบกระเทือน เช่น การไอ  การจาม กระโดด หัวเราะ สาเหตุของกลุ่มนี้ เนื่องจาก หูรูดไม่แข็งแรงเพียงพอ เมื่อมีการกระทบกระเทือน จะทำให้หูรูด ไม่สามารถทนต่อแรงดันจากกระเพาะปัสสาวะได้จึงต้องปล่อยให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมาส่วนมากมักจะพบในผู้หญิง เนื่องจาก กลไกหูรูดของผู้หญิงอาศัยกลไกของกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงท่อปัสสาวะ เมื่ออายุมากขึ้น ผ่านการตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร แล้วก็มีผลทำให้เอ็นยืดท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะหย่อน นอกจากนั้น การขาดฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หูรูดไม่แข็งแรง ส่วนในผู้ชายมักจะไม่มีอาการดังที่กล่าวมา เนื่องจากโครงสร้างทางร่างกายต่างกัน กลไกหูรูดของผู้ชายจะมีความมั่นคงแข็งแรงมากกว่า และยังมีต่อมลูกหมากด้วย แต่อย่างไรก็ดี การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในลักษณะนี้เกิดได้ในผู้ชายที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากแล้ว ยิ่งจะพบมากขึ้นหากเป็นการผ่าตัดเพราะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

3. ภาวะปัสสาวะล้น

ผู้ป่วยปัสสาวะออกมาไม่หมดมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมีปริมาณมากก็จะไหลรินออกมา เพราะกระเพาะปัสสาวะไม่อาจจะเก็บปัสสาวะไว้ได้อีก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่ค่อยปวดปัสสาวะและมีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ พบในผู้ชายที่มีปัญหาต่อมลูกหมากโตหรือกระเพาะปัสสาวะไม่บีบตัวจากโรคทางระบบประสาท

4. ปัสสาวะไหลราดออกมาโดยไม่รู้ตัว

เนื่องจาก เป็นอัมพาตจากกระดูกสันหลัง กรณีนี้เนื่องจาก กระแสประสาทจากสมองและก้านสมองไม่สามารถลงมาควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้ แต่ไขสันหลังส่วนล่างยังสามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้อยู่ ทำให้กระเพาะปัสสาวะที่เต็มเกิดการบีบตัวเองโดยอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกปวดปัสสาวะ เพราะกระแสประสาทรับความรู้สึกไม่สามารถส่งไปถึงสมองได้เช่นกัน ทำให้ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ เรี่ยราดออกมาโดยไม่รู้ตัว

5. ปัสสาวะรดที่นอน

ปกติมักจะพบในเด็กเนื่องจากพัฒนาการในการควบคุมการปัสสาวะยังไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะขณะหลับได้ เมื่ออายุมากขึ้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ในผู้สูงอายุอาจจะมีปัสสาวะรดที่นอนได้อีก ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากโรคทางสมอง เช่น สมองฝ่อ หรือเส้นเลือดสมองแตก ทำให้ไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกในการปัสสาวะได้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นภาวะปัสสาวะล้น เนื่องจาก ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกมาได้หมดตั้งแต่ช่วงกลางวัน ทำให้ช่วงกลางคืนมีปัสสาวะล้นออกมา แต่อย่างไรก็ดี การมีปัสสาวะรดที่นอนอาจจะเกิดจากการบีบตัวที่ผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน

6. ปัสสาวะราดเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

สาเหตุของการมีปัสสาวะเล็ดราดอาจจะเกิดจากเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จากกระเพาะปัสสาวะหรือระบบประสาทโดยตรง เมื่อสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดปัสสาวะราดได้รับการแก้ไขก็จะมีอาการดีขึ้นเอง สาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ ความผิดปกติทางสมองที่ทำให้ไม่รับรู้เป็นบางครั้ง มีความสับสน หรือมีความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งพบได้เมื่อมีอายุมากขึ้นเมื่อได้รับการรักษาจนสมอง และจิตใจดีขึ้นก็สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ เช่นเดิม นอกจากนั้น ที่พบได้บ่อย คือ การอักเสบติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยเล็ดราดได้ เมื่อได้รับการรักษาจนอาการอักเสบดีขึ้น อาการปัสสาวะเล็ดราดก็จะหายด้วย ปัญหาหลังจากได้รับยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะมากอาจจะไปห้องน้ำไม่ทัน ยาลดอาการคัดจมูก มักจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก หรือมีปัสสาวะตกค้างทำให้ปัสสาวะล้นออกมาได้ นอกจากนั้น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิดอาจจะรบกวนต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะหรือหูรูดได้ หากมีการปรับยาให้เหมาะสมจะทำให้การปัสสาวะดีขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่า โรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น เบาหวาน จะทำให้มีปริมาณปัสสาวะมาก กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ หรือแม้แต่ท้องผูกเองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดราดได้ และสภาพของร่างกายที่ดูเหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันกับระบบทางเดินปัสสาวะเลยก็ทำให้ปัสสาวะราดได้เช่นกัน ได้แก่ การปวดหลัง ปวดเข่า ตามองไม่ชัดทำให้ไม่สามารถเดินไปห้องน้ำได้คล่องแคล่วเหมือนเดิม จึงอาจจะมีปัสสาวะราดก่อนได้จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้หากได้รับการแก้ไข ก็ทำให้สามารถควบคุมการปัสสาวะได้

โรคที่มักจะทำให้ปัสสาวะราด

  1. โรคทางสมอง เช่น เส้นเลือดสมองแตก เลือดคั่งในสมอง เนื้องอก สมองเสื่อม เป็นต้น โรคเหล่านี้มีผลทำให้กระแสประสาทจากสมองไม่สามารถลงมาควบคุมการทำงานของระบบปัสสาวะได้ ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวเกินกว่าปกติ นอกจากนั้น อาจจะมีความรู้สึกปวดปัสสาวะช้า แปลความรู้สึกปวดปัสสาวะช้าหรืออาจจะแปลความไม่ได้ ทำให้ปัสสาวะไหลออกมาก่อน
  2. โรคของกระดูกสันหลัง เช่น อุบัติเหตุกระดูกสันหลังหัก กระดูกสันหลังเสื่อม เคลื่อน หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น ทำให้ใยประสาทที่นำกระแสประสาทขึ้นไปสู่สมองและกลับลงมาจากสมองขาดช่วง ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวเกินกว่าปกติ และยังอาจจะมีการทำงานของหูรูดผิดปกติด้วย
  3. โรคทางระบบประสาทอื่น ๆ เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เป็นต้น
  4. โรคของปลายประสาท เช่น อุบัติเหตุกระดูกเชิงกรานหัก การผ่าตัดบริเวณเชิงกรานที่พบบ่อย คือ การผ่าตัดเพื่อการรักษามะเร็งทวารหนัก มดลูก เป็นต้น เนื่องจาก ขณะผ่าตัดศัลยแพทย์ต้องตัดเอาเนื้อมะเร็งออกให้หมด บางครั้งเนื้อมะเร็งติดอยู่กับเส้นประสาท ซึ่งทำให้เส้นประสาทนั้นได้รับอันตรายโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
  5. การฉายรังสีบริเวณเชิงกราน เพื่อการรักษาโรคอื่น ๆ ทำให้กระเพาะปัสสาวะเล็ดขาดความสามารถในการยืดตัวออกจึงมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะราด
  6. โรคเบาหวาน มีปริมาณปัสสาวะมากขึ้น ปลายประสาททำงานช้า กระเพาะปัสสาวะเสื่อม ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ดี ปัสสาวะไม่หมด มีปัสสาวะล้น
  7. สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาลดน้ำมูก คัดจมูกบางชนิด ภาวะความผิดปกติทางจิตใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะซึมเศร้า

จะเห็นได้ว่า ภาวะปัสสาวะเล็ดราดเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่สามารถให้การรักษาได้เพียงแต่มาพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย การรักษาบางครั้งทำให้หายขาดแต่บางครั้งถึงแม้จะไม่หายแต่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นสามารถประกอบกิจได้ตามปกติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *