“สตรีวัยทอง” วัยหมดประจำเดือน การขาดหรือการลดลงของเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน

วัยหมดประจำเดือน มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เช่น วัยหมดระดู วันเปลี่ยน หรือเรียก “วัยทอง” วัยนี้หมายถึง การสิ้นสุดของการมีประจำเดือน เนื่องจาก รังไข่ไม่ทำงาน และจะนับว่า หมดประจำเดือนอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อไม่มีประจำเดือนติดต่อกันอย่างน้อย 1 ปีซึ่งมักเริ่มเกิดในช่วงอายุประมาณ 45 – 50 ปี

สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน คือ จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ การตกไข่น้อยลงไปเรื่อย ๆ รังไข่สูญเสียไข่ไปเกือบหมดเมื่อไม่มีถุงไข่ การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนก็จะลดลงไปด้วย รังไข่เริ่มทำงานไม่ปกติจนหยุดทำหน้าที่ไปในที่สุด

โดยทั่วไประยะเวลานับตั้งแต่สตรีเริ่มเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือนจนถึงสตรีวัยหมดประจำเดือนอย่างสมบูรณ์จะใช้เวลาประมาณ 2 – 8 ปี สตรีวัยหมดประจำเดือน เป็นการมองย้อนหลังกลับไปภายหลังไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีและถือว่า

การมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เป็นเวลาที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ดังนั้น สตรีที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายอายุเท่าใด ก็ถือว่า สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเมื่ออายุนั้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน นาง ข. มีอายุ 54 ปี มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 53 ปี ดังนั้น วัยหมดประจำเดือนของนาง ข. คือ เมื่ออายุ 53 ปี

หลังจากสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วสตรีจะเข้าสู่วัยหลังหมดประจำเดือน ซึ่งจะเริ่มนับจากระยะเวลาภายหลังหมดประจำเดือนโดยสมบูรณ์ เป็นการคิดคำนวณย้อนหลัง โดยจะนับจากปีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ตัวอย่างเช่น หญิงอายุ 53 ปี ที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 51 ปี ก็ถือว่า หมดประจำเดือนมาแล้ว 2 ปี

เมื่อสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและวัยหลังหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงร่างกายที่เกิดขึ้น คือ จะมีการลดลงอย่างมากของระดับฮอร์โมนจากรังไข่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายต่าง ๆ มากมายทั้งอาการที่จะเกิดขึ้นระยะแรกช่วงสั้น ๆ และกลุ่มอาการที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว และเกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนี้

กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นระยะแรกที่พบบ่อย

  1. มีการเสื่อมของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น
    1. เต้านมฝ่อ
    2. มดลูกหดตัวมีขนาดเล็กลง
    3. ช่องคลอดแห้ง ฝ่อ แคบและสั้นลง สูญเสียความยืดหยุ่นทำให้มีอาการร้อน คัน เจ็บแสบโดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์และเกิดการอักเสบติดเชื้อง่าย
  2. ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามากไป มาน้อยไป หรือประจำเดือนมากะปริดกะปรอย หรือมาบ้าง ไม่มาบ้าง รอบเดือนมาห่างกันไม่แน่นอน
  3. มีอาการร้อนวูบวาบใบหน้า หน้าอก ตามตัว และมีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะในเวลากลางคืน เนื่องจาก หลอดเลือดฝอยตามผิวหนังนั้นเกิดการขยายตัว ผิวหนังจะแดง เนื่องจาก เลือดมีการเดินทางไปตามผิวหนังเพิ่มขึ้น ความร้อนจากร่างกายระบายออกมาทางผิวหนัง
  4. ภาวะจิตใจและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง อาจจะพบอาการหลงลืมง่าย ขาดสมาธิ ซึมเศร้า หงุดหงิด นอนไม่หลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ

อาการข้างต้นนี้จะเป็นอยู่ไม่นาน คือ ในระยะนี้เริ่มเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน และหลังหมดประจำเดือนไม่นาน แต่การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลังหมดประจำเดือน จะทำให้เกิดกลุ่มอาการระยะยาว

กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในระยะยาว

ผลต่อระบบปัสสาวะ

การขาดเอสโตรเจนมีผลทำให้

  1. เยื่อเมือกและเซลล์บุผิวบริเวณทางเดินปัสสาวะบางลง ทำให้มีการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และเกิดการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
  2. ลักษณะทางกายวิภาคของท่อปัสสาวะเปลี่ยนไป เช่น รูเปิดของท่อปัสสาวะเปลี่ยนมุมไปจากเดิมโดยลดต่ำลง และหันเข้าไปสู่ช่องคลอดมากขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่าย มักพบว่า หญิงวัยนี้กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะจะอักเสบ มีอาการขัดเบา คือ ถ่ายปัสสาวะลำบาด ถ่ายปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน อั้นปัสสาวะไม่ได้ ปวดแสบปวดร้อนตามท่อปัสสาวะ นอกจากนั้น การหดรัดของกล้ามเนื้อหูรูดเกิดการเปลี่ยนแปลง หูรูดกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ซึ่งทำให้อั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดง่ายขณะไอ หรือจาม

ผลต่อผิวหนัง

หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผิวหนังจะเริ่มบาง แห้ง สภาพผมเสีย ผมร่วง และเล็บเปราะ ซึ่งมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ

  1. การเสื่อมไปตามวัยจากปริมาณคอลลาเจนที่ลดลงตามอายุที่มากขึ้น
  2. การขาดเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีผลต่อผิวหนังทั้งส่วนของหนังกำพร้าและหนังแท้ เนื่องจาก การลดลงของเอสโตรเจน ทำให้คอลลาเจนของผิวหนังลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น

ดังนั้น จะพบว่า หญิงวัยหมดประจำเดือนผิวหนังจะแห้ง บาง และอ่อนแอมากกว่าวัยเจริญพันธุ์

ผลต่อมวลกระดูก

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนปริมาณเอสโตรเจนลดลง คือ แคลเซียมจะสลายออกจากเนื้อกระดูกอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และการดูดซึมแคลเซียมเข้าไปสะสมที่เนื้อกระดูกจะน้อยลง ผลโดยรวม คือ สตรีวัยหมดประจำเดือนจะเกิดภาวะกระดูกพรุน หรือกระดูกบางมากกว่าวัยเจริญพันธุ์

สิ่งสำคัญที่ทำให้เนื้อกระดูกแข็ง แน่น เป็นโครงร่างของร่างกายที่แข็งแรง คือ ปริมาณแคลเซียมเกาะอยู่ในกระดูกเป็นจำนวนมาก ยิ่งมากเท่าไร กระดูกก็ยิ่งแข็งแรงเท่านั้น เอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนสำคัญในการทำให้กระดูกแข็งแรง เพราะทำให้แคลเซียมที่อยู่ในกระแสเลือดเข้าไปเกาะและสะสมในเนื้อกระดูกได้ และทำให้แคลเซียมที่สลายออกมาจากกระดูกในแต่ละวัยมีปริมาณลดลง แต่เมื่อเอสโตรเจนมีปริมาณลดลง ก็จะทำให้มีการสลายแคลเซียมออกมาจากเนื้อกระดูกมากขึ้น และแคลเซียมที่อยู่ในเลือดจะไม่ค่อยไปเกาะกับเนื้อกระดูก เช่นกัน กระดูกแข็งแรง เพราะทำให้แคลเซียมที่อยู่ในกระแสเลือดเข้าไปเกาะและสะสมในเนื้อกระดูกได้ และทำให้แคลเซียมที่สลายออกมาจากกระดูกในแต่ละวันมีปริมาณลดลง แต่เมื่อเอสโตรเจนมีปริมาณลดลง ก็จะทำให้มีการสลายแคลเซียมออกมาจากเนื้อกระดูกมากขึ้น และแคลเซียมที่อยู่ในเลือดจะไม่ค่อยไปเกาะกับเนื้อกระดูก เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปนาน ๆ จะทำให้มวลกระดูกบางลง จนถึงขั้นกระดูกพรุน เราจะพบว่า หญิงวัยหมดประจำเดือนกระดูกจะแตกง่ายและกระดูกบางจนไม่สามารถรับน้ำหนักของร่างกายได้เหมือนระยะวัยเจริญพันธุ์ บางครั้งอาจพบกระดูกสันหลังยุบตัวจนหลังโก่งมีอาการปวดตามข้อ ข้อเสื่อม กระดูกจะเปราะบางและหักง่าย กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย โดยเฉพาะกระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง พบว่า สตรีวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว 5 – 10 ปี จะมีอาการกระดูกพรุน บาง และกระดูกหักง่ายมากกว่าหญิงวัยเจริญพันธุ์

ในระยะที่หมดประจำเดือนใหม่ ๆ ร่างกายจะเสียเนื้อกระดูกไปปีละประมาณร้อยละ 3 – 5 หลังจากนั้น อัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกจะลดลง เหลือประมาณ ร้อยละ 0.5 ต่อปี แต่หากได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนแต่เนิ่น ๆ อย่างต่อเนื่องจะสามารถช่วยรักษาเนื้อกระดูกไว้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อกระดูกที่มีสะสมไว้ตั้งแต่วัยเด็กและวัยเจริญพันธุ์ ตลอดจนกรรมพันธุ์ การออกกำลังกายโภชนาการและลักษณะของแต่ละบุคคล

ผลต่อหลอดเลือดและหัวใจ

หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีอุบัติการณ์ของโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจสูง พบว่า อัตราเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจในหญิงวัยนี้จะสูงประมาณ 2.7 เท่าของหญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือนที่อายุเท่ากัน นอกจากนั้น หญิงที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้างออกจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวสูงกว่าหญิงที่หมดประจำเดือนตามธรรมชาติ

การขาดหรือการลดลงของเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือนจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ ดังนี้

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง จะทำให้ระดับเอชดีแอล โคเลสเตอรอลหรือมีไขมันชนิดดีลดต่ำลงในขณะที่ระดับแอลดีแอล โคเลสเตอรอลหรือมีไขมันชนิดไม่ดีเพิ่มสูงขึ้น ไขมันชนิดนี้จะเกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจจนอาจจะทำให้เกิดการอุดตันตามเส้นเลือดฝอยต่าง ๆ โดยเฉพาะที่หัวใจ อาจจะถึงขั้นทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

ระดับเอสโตรเจนที่ลดลงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การขยายตัวของหลอดเลือดเปลี่ยนแปลงรวมกับปัจจัยที่หลอดเลือดเปลี่ยนแปลงรวมกับปัจจัยที่หลอดเลือดแข็ง เนื่องจากการจับตัวของไขมันตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หญิงวัยนี้เสียงหรือมีแนวโน้มเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ง่าย

การใช้ฮอร์โมนทดแทนเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายเมื่อหมดประจำเดือนเป็นผลมาจากรังไข่ทำงานลดลงจนไม่ทำงานในที่สุด ส่งผลให้ปริมาณเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลงกระทันหัน หญิงบางรายมีอาการมากจนจำเป็นต้องฮอร์โมนซึ่งประกอบไปด้วยเอสโตรเจนปริมาณสูงมาทดแทน เพื่อลดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่จะตามมา

การเริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทนก่อนหรือหลังหมดประจำเดือนนั้นขึ้นกับอาการผิดปกติของแต่ละบุคคล หญิงที่มีประจำเดือนผิดปกติหรือมีอาการปวดศีรษะ ร้อนวูบวาบร่วมด้วย ควรเริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทนแต่เนิ่น ๆ แต่หญิงที่ประจำเดือนขาดหายไป โดยไม่มีอาการของภาวะหมดประจำเดือนอาจไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน

อย่างไรก็ตาม แม้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกอย่างชัดเจนแต่แพทย์จะตรวจวัดระดับฮอร์โมนและความหนาแน่นของมวลกระดูกตลอดจนระดับไขมันในเลือด เพื่อพิจารณาว่า สมควรใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือไม่ ในทางตรงกันข้าม แม้ว่า หญิงนั้นจะมีอาการของภาวะวัยหมดประจำเดือนก็ตาม แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีข้อห้ามการใช้เอสโตรเจน เช่น หญิงวัยหมดทองที่ห้ามใช้เอสโตรเจน ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งที่เยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลาม ตับอักเสบเฉียบพลัน โรคเลือดแข็งตัวง่ายเฉียบพลัน เป็นต้น แพทย์ก็อาจพิจารณาไม่ให้ฮอร์โมนทดแทนเช่นกัน เนื่องจาก ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือนมีปริมาณเอสโตรเจนสูง และมีข้อพิจารณาในการเลือกใช้หลายประการ ก่อนใช้จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *