หน้าร้อนนี้ลงสระว่ายน้ำดีหรือไม่ สระว่ายน้ำ..แพร่เชื้อโรคจริงหรือไม่

สระว่ายน้ำเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และการแข่งขันกีฬาทางน้ำหลายประเภท สระว่ายน้ำอาจกลายเป็นแหล่งแพร่โรคได้อย่างง่ายดาย หากไม่ได้รับการดูแลและควบคุมอย่างถูกต้อง ทั้งนี้เพราะมีผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำเป็นจำนวนมาก

มาตรการที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของผู้ใช้บริการให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อ จึงมุ่งที่การป้องกันและกำจัดจุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรค วิธีการควบคุมหนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง คือ การใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค คลอรีนอิสระ (Free chlorine) ควรมีค่า 0.6 – 1.0 พี พี เอ็ม และค่าความเป็นกรด – ด่าง อยู่ระหว่าง 7.2 – 8.4 เมื่อได้รับคลอรีนความเข้มข้นต่ำกว่า 3 ล้านในล้านส่วน จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา เยื่อบุตาอักเสบ แสบตา ระคายเคืองจมูก แสบจมูก ระคายเคืองคอ ระคายเคืองผิวหนัง ปวด บวม แดงและไหม้ ถ้าสัมผัสกับคลอรีนน้ำที่มีความเข้มข้น 30 ส่วนในล้านส่วน ทำให้มีอาการไอและหายใจเสียงวีด หายใจลำบาก มีเสมหะและเจ็บหน้าอก อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 72 ชั่วโมง แต่อาการไออาจคงอยู่ถึง 14 วัน

ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้สารเคมีประเภทนี้ เนื่องจาก มีความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคแล้ว แต่เมื่อได้รับปริมาณมากเกินไปก็จะเกิดโทษได้มากเช่นกัน

หวั่นการแพร่เชื้อโรค…จากการใช้สระว่ายน้ำ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระดมผู้ดูแลสระว่ายน้ำ เข้าร่วมอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลสระว่ายน้ำที่ถูกต้อง และการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมตามข้อบังคับกรุงเทพมหานคร หวังลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การประกอบกิจการสระว่ายน้ำตามข้อบังคับ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ซึ่งกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุมในเขตกรุงเทพมหานครตามข้อบังคับกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์การประกอบการค้า ซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการจัดตั้งสระว่ายน้ำ พ.ศ. 2530 และกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 5/2538 กำหนดให้การจัดตั้งสระว่ายน้ำเป็นกิจการการค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นก่อนเปิดดำเนินกิจการและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขทางสุขลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจาก ปัจจุบันการก่อสร้างสระว่ายน้ำเพื่อจัดให้เป็นสถานที่ให้บริการจึงได้เพิ่มมากขึ้นทั้งในโรงแรม สโมสร สมาคม หมู่บ้าน และสถานศึกษาทั่วไป ซึ่งถ้าสระว่ายน้ำเหล่านี้ขาดการดูแลและบำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการดูแลคุณภาพน้ำสระว่ายน้ำจะกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคเยื่อตาอักเสบ หูอักเสบ โรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคฟันกร่อน หากเจ้าของผู้ประกอบการหรือผู้ดูแล สระว่ายน้ำขาดความรู้ และความเข้าใจในการใช้สารเคมีต่าง ๆ ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เช่น สารส้ม คลอรีน น้ำยากำจัดสาหร่าย สระว่ายน้ำจะกลายเป็นแหล่งอันตรายต่อผู้ใช้บริการ

ผลจากการศึกษาสถานการณ์คุณภาพน้ำสระว่ายน้ำของศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย ปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2548 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของสระว่ายน้ำ ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สวนสนุก สโมสร ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม โรงแรม และหน่วยงานราชการ จำนวน 467 ตัวอย่าง ครอบคลุม 3 ฤดูกาล พบตัวอย่างน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่าร้อยละ 85 ตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งสระว่ายน้ำของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 โดยสระว่ายน้ำที่สุ่มตรวจส่วนใหญ่ผู้ดูแลจะขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแลสระว่ายน้ำให้มีคุณภาพน้ำที่ดีเหมาะสำหรับผู้ใช้บริการ และไม่สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ดีได้อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *