กฎหมายสาธารณสุข การเก็บขยะ ค่าบริการเก็บขยะ การขนขยะ ขยะมูลฝอยติดเชื้อหมายถึงอะไร

ถ้าพูดภาษาชาวบ้านว่า “ขยะ” ทุกท่านคงเข้าใจว่า หมายถึงอะไร

ส่วนคำว่า “มูลฝอย” มีปรากฏในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่และเป็นที่มาของ “มูลฝอยติดเชื้อ” โดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ได้นิยามคำว่า มูลฝอย หมายถึง เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ หรือซากสัตว์ รวมถึงสิ่งอื่นใด ที่เก็บกวาดจากถนน ตลาดที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น

สำหรับคำว่า “มูลฝอยติดเชื้อ” ปรากฏในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 โดยอาศัยความในมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยนิยาม คำว่า มูลฝอย ไว้ในข้อ 3 ว่า มูลฝอยติดเชื้อ หมายถึง อมูลฝอยที่มีเชื้อโรค ปะปน อยู่ในปริมาณหรือความเข้มข้น ซึ่งถ้ามีการสัมผัส หรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้นแล้ว สามารถทำให้เกิดโรคได้ และได้ขยายความเพิ่มเติมว่า เป็นมูลฝอยที่เกิดจากกระบวนการตรวจ วินิจฉัย ทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล การให้ภูมิคุ้มกันโรค การทดลองเกี่ยวกับโรค การตรวจชันสูตรศพหรือซากสัตว์ รวมทั้งการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเองดังกล่าว ให้ถือว่า เป็นมูลฝอยติดเชื้อ

ตัวอย่างมูลฝอยติดเชื้อ เช่น

  1. ซากหรือชิ้นส่วนของมนุษย์ หรือสัตว์ที่เป็นผลมาจากการผ่าตัด การตรวจชันสูตรหรือซากสัตว์ และการสัตว์ทดลอง
  2. วัสดุของมีคม เช่น เข็ม ใบมีด กระฉีดยา หลอดแก้ว ภาชนะที่ทำด้วยแก้ว สไลด์ และแผ่นกระจกปิดสไลด์
  3. วัสดุซึ่งสัมผัสหรือสงสัยว่า จะสัมผัสกับเลือด ส่วนประกอบของเลือด ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือด สารน้ำจากร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ หรือวัสดุที่ทำจาเชื้อโรคที่มีชีวิต วัสดุดังกล่าว เช่น สำลี ผ้าก๊อส ผ้าต่าง ๆ และท่อยาง
  4. มูลฝอยทุกชนิดที่มาจากห้องรักษาผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรง

ค่าบริการเก็บ และขนขยะ

ในการเก็บค่าบริการเก็บ ขนขยะ ถ้าเราจ่ายค่าเก็บ ขนขยะให้ราชการส่วนท้องถิ่นไปแล้ว และยังมีพนักงานของราชการส่วนท้องถิ่นมาเรียกเก็บอีก จะต้องจ่ายเงินให้อีกหรือไม่

ถ้าเจอเรื่องแบบนี้ ให้ไปดูที่กฎหมายสาธารณสุข เพราะตามกฎหมายจะให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่ประชาชนจะต้องเสีย แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราในกฎกระทรวง คือ เดือนละไม่เกิน 40 บาท ต่อขยะ 20 ลิตรในแต่ละวัน แต่ถ้าพบว่า มีการมาเรียกเก็บเงินอีก นั่นถือว่า เป็นการเรียกเก็บที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรามีสิทธิที่จะไม่ให้ได้นะคะ และถ้าถูกพนักงานกลั่นแกล้ง ไม่เก็บขยะให้ ก็ให้ไปแจ้งกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ตรวจสอบได้ แต่ถ้าบ้านไหนจะให้เป็นสินน้ำใจ อันนี้ก็แล้วแต่ความเต็มใจนะคะ

มารู้จักกฎหมายสาธารณสุขกันเถอะ

ถ้าบ้านข้าง ๆ เลี้ยงหมาจำนวนมากเกือบสิบตัว ไม่เห่าก็หอนทั้งวัน จะแจ้งตำรวจก็กลัวเขาว่า ว่าเป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง จะทำอย่างไรดี

ถ้ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้เลย เพราะมีกฎหมายคุ้มครองภาวะแวดล้อมที่ดี นั่นก็คือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “กฎหมายสาธารณสุข” สาระสำคัญของกฎหมายสาธารณสุขมีอยู่ 6 เรื่องด้วยกัน คือ

  1. การควบคุมและกำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอยต่าง ๆ
  2. ควบคุมอาคารให้ถูกสุขลักษณะ สะอาดและไม่แออัด
  3. ควบคุมดูแลกิจการตลาดสดและร้านอหารให้ถูกสุขลักษณะ
  4. ควบคุมดูแลกิจการที่มีขั้นตอนการผลิตและการให้บริการที่อาจจะทำให้เกิดมลพิษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  5. กำหนดเขตห้ามเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์
  6. กำหนดเขตห้ามขายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะเพื่อความเป็นระเบียบ

เมื่อรู้แล้วว่า มีกฎหมายสาธารณสุขคุ้มครองอย่างนี้ก็น่าจะเบาใจและให้ความร่วมมือในการทำตามกฎหมาย เพื่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของเรา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *