คุณเข้าส้วมแล้ว ล้างมือกันหรือเปล่า

มีหลายคนเมื่อเสร็จธุระในห้องส้วมแล้ว ไม่ยอมล้างมือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น…? มานั่งนึกดู น่าจะเป็นเพราะไม่ทราบว่า ทำไมต้องล้าง เพราะคิดว่า มือไม่ได้เปื้อนอะไร เข้าไปถ่ายเบาหรือปัสสาวะแค่นั้น ไม่ได้ไปถ่ายหนักเลย จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องล้างมือล้างไม้ แล้วคิดนี้จริงหรือเปล่าล่ะ…? คุณคิดอย่างไรกัน…?

แน่นอนที่ว่า สามารถพบจุลินทรีย์ ( สิ่งมีชีวิตที่เล็กมา ๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) ได้ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งจุลินทรีย์ที่อยู่บนมือมี 2 พวก คือ พวกที่พบได้ในสภาวะปกติ ซึ่งมีอยู่นับสิบชนิดที่โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดโรค เว้นแต่มีการเหนี่ยวนำจุลินทรีย์พวกนี้เข้าสู่กระแสเลือดหรืออวัยวะภายใน จุลินทรีย์พวกที่สองพบได้ชั่วคราว ได้รับจากการสัมผัส จะติดอยู่ที่ผิวหนังอย่างหลวม ๆ ล้างออกได้ง่าย พวกนี้อาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้

โรคที่มีมือเป็นหนทางหนึ่งในการแพร่เชื้อ มีดังนี้

  1. โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และหัดเยอรมัน เป็นต้น
  2. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ตับอักเสบชนิดเอ บิด อหิวาตกโรค โรคพยาธิชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
  3. โรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง เช่น ตาแดง เชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง หิด เหา และเริม เป็นต้น
  4. โรคติดต่อได้หลายทาง เช่น โรคอีสุกอีใส เป็นต้น

คนที่เป็นโรคเหล่านี้เมื่อเข้าไปใช้ส้วม ถ้ามีเชื้อโรคติดอยู่ที่มือ แล้วใช้มือจับขัน จับที่กดชักโครก จับลูกบิดประตู หรือจับหรือสัมผัสสิ่งอื่น ๆ ภายในส้วม เชื้อโรคก็อาจติดอยู่ตามสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อคุณเข้าห้องส้วมนี้ แล้วไปจับต้องสิ่งเหล่านี้มือของคุณก็อาจมีเชื้อโรคติดมา แล้วถ้าไม่ล้างมือซะก่อนที่จะออกจากห้องส้วม คุณก็จะได้เชื้อโรคเป็นของแถมกลับมาด้วย แล้วจากนั้น ถ้าเอามือไปสัมผัสกับตาหรือปาก หรือบาดแผล หรืออาหาร เชื้อโรคก็จะเข้าไปในร่างกายของคุณได้ แล้วถ้าเชื้อโรคมีจำนวนมากพอ ก็จะทำให้คุณเกิดเป็นโรคได้

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องส้วม แต่ยังจุดสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อล้างมือแล้วต้องปิดก๊อก หัวก๊อกก็เป็นจุดหนึ่งที่มีเชื้อโรคอยู่มาก ทำให้เชื้อโรคที่หัวก๊อกอาจติดมากับมือที่ล้างแล้วได้อีกเช่นกัน เมื่อจะออกจากห้องส้วมจับลูกบิดประตู ที่ลูกบิดก็มีเชื้อโรคได้เช่นกัน แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ ทางออกน่าจะโดยการใช้กระดาษทิชชูสัมผัสกับก๊อกและลูบิดแทนผิวมือของคุณ เพื่อมือจะได้ไม่ติดเชื้อโรค เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีเชื้อโรคติดพกแถมไปกับมือคุณหลังเข้าส้วมแล้ว และคุณก็จะไม่เป็นโรคที่มีสาหตุจากการเข้าส้วมแล้วไม่ล้างมืออย่างแน่นอน ซึ่งห้องส้วมในบ้านคงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นห้องส้วมสาธารณะ เช่น ส้วมสถานีขนส่งคงต้องระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีคนใช้ห้องส้วมสาธารณะเป็นร้อยเป็นพันหรือเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *