น้ำดื่มปลอดภัย

การมี “น้ำบริโภค หรือ น้ำดื่ม” ที่สะอาดและเพียงพอนับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต และเป็นสิทธิของคนไทยที่จะได้รับ แต่ยังมีประชากรจำนวนมากที่ยังขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ในขณะเดียวกัน ความต้องการน้ำดื่มทั้งในครัวเรือนและชุมชนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในหลาย ๆ ส่วนของประเทศความต้องการน้ำที่เป็นน้ำดื่มที่สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปนหรือสารพิษต่าง ๆ ได้แก่ เชื้อโรค โลหะหนัก และสารเคมี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของเชื้อโรค และชนิดของสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อสุขภาพอนามัยทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง

ผลจากการศึกษาสถานการณ์ของคุณภาพน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทของศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย โดยสุ่มเก็บตัวอย่างตามร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ แบบกระจายทั่วทุกภาค จำนวน 246 ตัวอย่าง พบว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกใส (PET) จำนวน 10 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 100% น้ำดื่มบรรจุขวดขุ่น (PE) จำนวน 183 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 85.25% ไม่ผ่านเกณฑ์ 14.75% น้ำดื่มบรรจุถัง 20 ลิตร จำนวน 53 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์ 96.22% เนื่องจาก ปนเปื้อนแบคทีเรีย 94.24% ซึ่งผู้ผลิตควรให้ความสำคัญในการผลิตน้ำบริโภคเพื่อจำหน่ายให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มเพื่อการบริโภค

น้ำประปาดื่มได้…ดับกระหายคลายร้อน

กรมอนามัยได้มีบทบาทในการดำเนินการเพื่อการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านในชนบท ไม่น้อยกว่า 42,000 แห่ง และได้ดำเนินโครงการน้ำประปาดื่มได้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 ถึงปี พ.ศ. 2545 มีจำนวนระบบประปาหมู่บ้านที่ผ่านการรับรองเป็นน้ำประปาดื่มได้ 513 แห่งใน 66 จังหวัด

การดำเนินงานโครงการน้ำประปาดื่มได้ของปีงบประมาณ 2546 มีประปาหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ 320 แห่ง ภายใต้การประสานงานของศูนย์อนามัยที่ 1 – 12 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาน้ำประปาของระบบประปาที่มีอยู่ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปากรมอนามัย พ.ศ. 2543 เพื่อประกาศเป็นน้ำประปาดื่มได้และสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนที่ดื่มน้ำประปาที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ในการดำเนินการศูนย์อนามัยที่ 1 – 12 ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำรวจข้อมูลประปาหมู่บ้านด้านโครงสร้างการบำรุงรักษา และการบริหารจัดการ เพื่อการคัดเลือกแหล่งประปาเพื่อการสุ่มเก็บน้ำตัวอย่าง ผลการดำเนินการตรวจวิเคราะห์และทดสอบจำนวนตัวอย่างน้ำประปา 509 ตัวอย่าง จากระบบประปา 36 จังหวัด พบน้ำประปาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียง 50.10% ปัญหาหลักที่พบเป็นการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย และฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย คิดเป็น 83.66% ของตัวอย่างน้ำที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และมีปัญหาจากคุณภาพน้ำทางกายภาพ ทางเคมีทั่วไป และทางโลหะหนัก คิดเป็น 19.46% 11.28% และ 19.07% ตามลำดับของจำนวนตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งสาเหตุของปัญหาและอุปสรรคที่ไม่สามารถผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพให้ประชาชนดื่มได้อย่างปลอดภัย เนื่องจาก ขาดงบประมาณสนับสนุนในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างระบบประปา ขาดการเฝ้าระวังน้ำประปาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ความรู้ความเข้าใจในการเติมคลอรียังไม่ถูกต้องและไม่ถูกวิธี รวมทั้งการยอมรับกลิ่นคลอรีนในน้ำประปาของประชาชนในระดับความเข้มข้นที่ถูกต้อง และผู้สุ่มเก็บและบรรจุตัวอย่างน้ำยังขาดองค์ความรู้ในการปฏิบัติการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *