ก่อนประกอบกิจการ ขายของริมบาทวิถี…

สถานประกอบกิจการเมื่อแต่งร้านเรียบร้อยแล้วได้ฤกษ์ดีมาแล้วและพร้อมที่จะเปิดดำเนินการ ไม่ว่าจะร้านเล็กร้านใหญ่ ตามกฎหมายสาธารณสุขต้องขออนุญาตประกอบกิจการก่อน

กฎหมายสาธารณสุขไม่ได้มีไว้แค่ให้ผู้ที่ทำผิดปรับปรุงแก้ไขเท่านั้น … กฎหมายสาธารณสุขยังมีมาตรการเชิงรุกที่จะช่วยป้องกันโดยไม่รอให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเน้นผลกระทบที่เกิดจากการประกอบกิจการต่าง ๆ มาตรการเชิงรุกที่ว่านี้ก็คือ การกำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน จึงจะประกอบกิจการได้ เพราะก่อนที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะทำการตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติและความพร้อมของผู้ประกอบการ สถานที่ตั้ง เครื่องมืออุปกรณ์ไปจนถึงกระบวนการผลิต ซึ่งกิจการที่เข้าข่ายต้องขออนุญาตตามกฎหมายสาธารณสุขนั้น มีทั้งตลาดสด ร้านอาหาร แผงลอยขายอาหารและกิจการอื่น ๆ อีกถึง 133 ประเภท ถ้ากำลังคิดจะทำกิจการอะไรก็ควรตรวจสอบกฎหมายสาธารณสุขและขออนุญาตให้ถูกต้องด้วย

เปิดร้านอาหารให้ถูกกฎหมายสาธารณสุข

จะเปิดร้านกุ้งกระทะ แค่มีน้ำจิ้ม 99 ชนิดไม่พอ ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนด้วย

ไม่ว่าจะกุ้งกระทะหรือขายอาหารอะไรก็ตาม ถ้ามีพื้นที่เกินกว่า 200 ตารางเมตร กฎหมายสาธารณสุขกำหนดให้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเสียก่อน เพื่อรับรองความสะอาดถูกหลักสุขลักษณะ เช่น มีการดูแลห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร ไปจนถึงห้องน้ำห้องท่าได้สะอาดเยี่ยม พ่อครัว แม่ครัวไม่เป็นพาหนะนำโรค และพวกเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรือเครื่องปรุงรสที่ใช้ทำอาหารก็สะอาดปลอดภัย แต่สำหรับร้านเล็กไม่เกิน 200 ตารางเมตร แค่แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก็ลงทุนขายอาหารได้เลย แต่ก็ต้องทำให้สะอาดถูกสุขลักษณะตามข้อกำหนดของท้องถิ่นเช่นกัน

ขายของริมบาทวิถีต้องขออนุญาตด้วย

ทางเดินหน้าร้านขายของ เขามีสิทธิให้แม่ค้ามาเช่าตั้งแผงขายของได้หรือไม่ เมื่อเวลามีคนยืนซื้อเยอะ ๆ เวลาจะเดินผ่านก็ต้องเลี่ยงลงไปเดินบนถนน

จริง ๆ แล้วทางเท้าริมบาทวิถี ริมถนนนั้น กฎหมายสาธารณสุขถือว่า เป็นที่หรือทางสาธารณะ ซึ่งก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะต้องเข้าไปดูแลปกป้อง และรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ไม่มีใครมีสิทธิจะมาใช้ที่ตรงนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยพลการ ฉะนั้น ถ้าจะขายของริมบาทวิถี ซึ่งเป็นที่หรือทางสาธารณะ ก็ต้องไปขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน ที่สำคัญเมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็ต้องดูแลให้เป็นระเบียบ และสะอาด ถูกสุขลักษณะตามข้อกำหนดของท้องถิ่นด้วย

เขตควบคุมการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ

ริมถนนบางแห่งตอนกลางวันไม่มีหาบเร่แผงลอยเลย แต่พอตกเย็นเห็นเข็นออกมาขายกันพรึ่บพรั่บ สงสัยว่า เทศบาลเขากำหนดเวลาขายไว้

เรื่องกายขายของในที่หรือทางสาธารณะนั้น กฎหมายสาธารณสุขกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกประกาศของท้องถิ่นกำหนดเขตควบคุมการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะได้ 4 ลักษณะด้วยกัน คือ

  1. เขตห้ามซื้อขายโดยเด็ดขาด
  2. เขตห้ามขายสินค้าบางชนิด
  3. เขตห้ามขายในเวลาที่กำหนด
  4. เขตขายได้โดยมีเงื่อนไข

ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ถูกสุขลักษณะและเกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็สามารถกำหนดจุดผ่อนผันได้ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *